วันนี้ (16 ก.พ.2567) นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า แม้ว่าเศรษฐกิจไทยโดยรวมจะขยายตัวชะลอ การลงทุนต่าง ๆ ของภาคเอกชนและภาครัฐลดลง แต่กลับสวนทางการลงทุนของต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยเป็นอย่างมาก
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
โดยเดือน ม.ค.2567 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในไทย ภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 จำนวน 54 ราย เป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 14 ราย
และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ผ่านช่องทางการลงทุนตามกฎหมาย ว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการใช้สิทธิตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ) 40 ราย เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 7,171 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 172 คน
ชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก ของเดือน ม.ค. ยังคงเป็น ญี่ปุ่น 15 ราย คิดเป็นร้อยละ 28 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 3,793 ล้านบาท เช่น ธุรกิจบริการที่เป็นคู่สัญญากับภาคเอกชนเป็นการจัดหาและติดตั้งอุปกรณ์สำหรับโรงงานผลิตอะเซทีลีนแบล็ก (Acetylene Black Plant) ธุรกิจบริการกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) เป็นต้น
สิงคโปร์ เงินลงทุน 1,083 ล้านบาท เช่น ธุรกิจบริการ Data Center ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น และ จีน เงินลงทุน 768 ล้านบาท เช่น ธุรกิจบริการให้เช่านั่งร้านขนาดใหญ่ (Scaffolding) สำหรับค้ำยันรับน้ำหนักที่ใช้ในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ ธุรกิจค้าปลีกสินค้า (ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม, ยารักษาโรค, กีฬา)
อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีกลุ่มทุนจาก สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง ซึ่งถือได้ว่าการเข้ามาทำธุรกิจของคนต่างด้าวในไทยในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ยังคงมีความคึกคัก
ไทยยังเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของนักลงทุน เมื่อเปรียบเทียบเดือนมกราคมของปี 2566 พบว่า การอนุญาตให้คนต่างชาติ เข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 % มูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้น 2,042 ล้านบาท
นางอรมน กล่าวด้วยว่า สำหรับการลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติ ในเดือน ม.ค.2567 มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 17 ราย คิดเป็นร้อยละ 31 ของจำนวนนักลงทุนต่างชาติในไทย เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันร้อยละ 113
มูลค่าการลงทุนในพื้นที่ EEC ยังคงได้รับความสนใจ มูลค่าลงทุน 2,296 ล้านบาทของเงินลงทุนทั้งหมด เป็นนักลงทุนจาก ญี่ปุ่น ,จีน ,เกาหลี 2 ราย และประเทศอื่น ๆ เงินลงทุน 1,078 ล้านบาทธุรกิจที่ลงทุน การวิจัยและพัฒนาชิ้นส่วนยานพาหนะไฟฟ้า เป็นต้น
อ่านข่าว : อาเซียน-จีน ดัน"น้ำตาลแปรรูปไทย"สินค้ายอดฮิตแดนมังกร
ดัน FTA เปิดตลาดการค้า "ภูมิธรรม"ถกอุตฯยานยนต์ แก้ส่งออก
วอนชาวนางดทำนาปรังรอบ 2 เกษตรฯแนะปลูกพืชทนแล้งทดแทน