ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ชวนคนไทยกิน “มะยงชิด มะปรางหวาน” อากาศร้อนทำผลผลิตน้อย

เศรษฐกิจ
16 ก.พ. 67
11:46
4,071
Logo Thai PBS
 ชวนคนไทยกิน “มะยงชิด มะปรางหวาน” อากาศร้อนทำผลผลิตน้อย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมส่งเสริมการเกษตร ชวนกิน “มะยงชิด มะปรางหวาน” ผลไม้อัตลักษณ์ขึ้นชื่อนครนายก ชี้ปีนี้อากาศร้อนจัด ทำผลผลิตออกน้อย ดันราคามะยงปีนี้สูงขึ้น 350บาทต่อกก. ส่วนมะปราง 200 บาทต่อกก.

วันนี้ (16 ก.พ.2567) นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ในช่วงเดือน ม.ค.ถึงเดือน มี.ค.ปีนี้ เป็นช่วงที่มะยงชิดและมะปรางหวานของ จ.นครนายก ให้ผลผลิตออกสู่ตลาด คาดการณ์ว่าผลผลิตมะยงชิดในปีนี้ จำนวน 640 ตัน

ส่วนมะปรางหวานคาดการณ์ปริมาณผลผลิต 98 ตัน ลงลดจากปีที่ผ่านมาถึงร้อยละ 75 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากฝนตก ในช่วงที่มะยงชิดและมะปรางหวานติดดอก และสาเหตุจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ค่อนข้างร้อน ทำให้ราคาจำหน่ายในปีนี้ขยับสูงขึ้นจากปีแล้ว

โดยมะยงชิดราคาเฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 200-350 บาท (ปี 2566 ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 100-250 บาท) และมะปรางหวานราคาเฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 150-200 บาท (ปี 2566 ราคาเฉลี่ย 80-150 บาท)

ชวนผู้บริโภคช่วยกันอุดหนุนผลผลิตจากเกษตรกรที่วางจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดขณะนี้ หรือสามารถสั่งผ่านเว็บไซต์ www.ตลาดเกษตรกรออนไลน์.com ที่มีเกษตรกรเป็นสมาชิกนำสินค้ามาจำหน่ายให้กับผู้บริโภคแบบไม่ผ่านพ่อค้าคนกลางเพื่อให้ได้ราคาที่เป็นธรรม

นายพีรพันธ์ กล่าวว่า กรมฯ มีแนวทางในการส่งเสริมให้เกษตรกรใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นในการพัฒนาการผลิตและเพิ่มมูลค่าผลผลิต จนถึงแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย จนได้รับการการันตรีให้เป็นสินค้า GI ซึ่งทำให้ชาวสวนมีรายได้เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร Smart Farmer หรือ Young Smart Farmer นำผลผลิตมะยงชิด มะปรางหวาน มาแปรรูป และใช้เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์แปรรูปสินค้าเกษตรอื่น ๆ เช่น น้ำมะยงชิด มะยงชิดลอยแก้ว แยมมะยงชิด มะยงชิดอบแห้ง ซอสมะยงชิด กล้วยอบมะยงชิด หมี่กรอบมะยงชิด เป็นต้น เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายสร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้กับเกษตรกร

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า จ.นครนายก มีลักษณะทางภูมิศาสตร์และสภาพภูมิอากาศเหมาะกับการทำเกษตร จึงส่งผลทำให้ผลผลิตมะยงชิดและมะปรางหวานของ จ.นครนายก มีคุณภาพดี และมีเอกลักษณ์โดดเด่นแตกต่างจากที่อื่น และได้รับ GI มะยงชิด และมะปรางหวาน

ปัจจุบันมีเกษตรกรผู้ขอใช้ตราสัญลักษณ์ GI ของ จ.นครนายก รวม 478 ราย แยกเป็นมะยงชิด 349 ราย และมะปรางหวาน 129 ราย ด้านพื้นที่ปลูกมะยงชิดและมะปรางหวาน ประมาณ 9,762 ไร่ ในเขต 3 อำเภอ ได้แก่ อ. เมืองนครนายก อ. บ้านนา และ อ.ปากพลี มีเกษตรกร 2,593 ราย และกลุ่มแปลงใหญ่มะยงชิด จำนวน 7 แปลง พื้นที่ 1,359 ไร่ สมาชิก 294 ราย โดยจะให้ผลผลิตช่วงเดือนมกราคมถึงมี.ค.ของทุกปี

ข้อสังเกตของมะยงชิดกับมะปรางหวานของ จ.นครนายก อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร บอกว่า มะยงชิดจะมีลักษณะผลใหญ่ รูปทรงไข่ ผลสุกสีเหลืองส้ม เนื้อหนา เนื้อแน่น เมล็ดลีบ รสชาติหวานอมเปรี้ยว หอม กรอบ ค่าความหวาน 18-22 องศาบริกซ์ พันธุ์ที่นิยมปลูกในพื้นที่เป็นพันธุ์ทูลเกล้า พันธุ์บางขุนนนท์ พันธุ์ท่าด่าน พันธุ์ชิดสาริกา พันธุ์ทูลถวาย และพันธุ์ชิดสง่า

ส่วนมะปรางหวานจะมีลักษณะผลใหญ่ รูปทรงยาวรี ปลายเรียวแหลม รสชาติหวาน หอม กรอบ ไม่ระคายคอ ความหวานอยู่ในช่วง 16-19 องศาบริกซ์ พันธุ์ที่นิยมปลูกในพื้นที่เป็นพันธุ์ทองใหญ่ พันธุ์ทองนพรัตน์ พันธุ์ท่าอิฐ และพันธุ์แม่อนงค์

อ่านข่าวอื่นๆ:

วอนชาวนางดทำนาปรังรอบ 2 เกษตรฯแนะปลูกพืชทนแล้งทดแทน

"ชะตากรรม"ข้าวไทย ในเงื้อมมือรัฐ ขาดทุน หนุน-พัฒนาสายพันธุ์

“อะโวคาโดตาก” สินค้า GI เนื้อเหนียว รสชาติมัน มีกลิ่นหอม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง