วันนี้ (27 ก.พ.2567) ผูู้ชุมนุมซึ่งประกอบด้วยศิษย์ปัจจุบัน ศิษย์เก่า สมาคมศิษย์เก่าอุเทนถวาย สมาคมผู้ปกครองและครูอุเทนถวาย เดินขบวนไปกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม พบ น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อยื่นหนังสือข้อเรียกร้องคัดค้านการย้ายพื้นที่เขตอุเทนถวาย โดยก่อนยื่นหนังสือ ผู้ชุมนุมได้จัดกิจกรรมปราศรัย ผ่านเครื่องขยายเสียง และโบกธงสัญญลักษณ์
จากนั้น รมว.อุดมศึกษาฯ ลงมาพูดคุยและรับหนังสือกับตัวแทนผู้ชุมนุมด้วยตัวเอง ย้ำว่าจะมอบให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องใช้เป็นข้อมูลคลี่คลายข้อพิพาทให้เร็วที่สุด ส่วนการแก้ปัญหาต้องเคารพและยึดหลักกฎหมาย ขณะที่นักศึกษาชั้นปี 1 ปีการศึกษา 2567 ยืนยันว่าจะยังเปิดรับตามปกติ
อ่านข่าว : นศ.รวมตัวค้านย้ายอุเทนถวาย เตรียมเคลื่อนขบวนไป "จุฬา-อว." วันนี้
ด้านนายคูณแสน โควศวนนท์ นายกสโมสรนักศึกษา กล่าวว่า ข้อเรียกร้อง จำนวน 6 ข้อ เช่น คัดค้านการย้ายอุเทนถวายออกจากที่ตั้งเดิม เสนอให้ยกระดับวิทยฐานะสถาบันฯ ให้อุเทนถวายมีเอกสิทธิ์ในการบริหารจัดการตนเอง ให้อุเทนถวายเป็นสาธารณประโยชน์และสมบัติของประเทศชาติ
ขอให้ระงับการโยกย้ายบุคลากรและนักศึกษาออกจากพื้นที่เดิม ขอให้ทำหนังสือแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนข้อเสนอที่ได้เสนอไป เพื่อให้ทำให้สำเร็จลุล่วง
โดยแต่งตั้งคณะกรรมการ 3 ฝ่าย สัดส่วนเท่ากัน และขอให้อุเทนถวายมีเอกสิทธิในการบริหารจัดการด้านการเรียนการสอนและพัฒนาสถานที่เพื่อรองรับการศึกษาได้เป็นเอกเทศ ยืนยันจะยัวคิดตามการแก้ไขปัญหาต่อไป
ร้อง "วันนอร์-ชวน" ทบทวน พ.ร.บ.จุฬาฯ
นายคูณแสน โควศวนนท์ นายกสโมสรนักศึกษาอุเทนถวาย ได้แถลงภายหลังจากหารือและยื่นหนังสือถึง นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เพื่อขอให้วินิจฉัยทบทวน พ.ร.บ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.2551 โดยได้มีการอ้างอิงประวัติการก่อสร้างวิทยาลัยอุเทนถวาย ก่อนที่จะมาเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออกวิทยาเขตอุเทนถวายในปัจจุบัน
โดยมีการก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2475 มาตลอดโดยไม่ได้ย้าย หรือเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ขณะเดียวกันได้มีการอ้างถึงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออกวิทยาเขตอุเทนถวายได้เช่าที่ดิน ที่ตั้งในปัจจุบัน ตั้งแต่ปี 2478
ดังนั้นจึงเป็นการกล่าวอ้างที่ขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏ จากนั้น 2551 ได้มีการตรา พ.ร.บ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีสาระสำคัญในมาตรา 16 ที่กำหนดว่าที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ดังต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นที่ราชพัสดุและให้เป็นกรรมสิทธิ์ของมหาวิทยาลัย คือ 1.ที่ดินที่มหาวิทยาลัยได้มาตามพระราชบัญญัติโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน อันเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.2482
2.บรรดาอสังหาริมทรัพย์ที่มหาวิทยาลัยได้มาจากการยกให้ หรือซื้อด้วยเงินรายได้ของมหาวิทยาลัย หรือแลกเปลี่ยนกับทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยหรือได้มาโดยวิธีอื่น
จึงเห็นว่า การโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินของมหาวิทยาลัย อันเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จะกระทำมิได้ ซึ่งในสาระ มาตรา 16 เห็นได้ว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความจงใจที่ต้องการจะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว
แต่ได้บิดเบือนเหตุผลที่ได้ยกขึ้นกล่าวอ้างในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว และเป็นคำกล่าวอ้างที่ขัดแย้งกับข้อเท็จจริงอย่างสิ้นเชิง
ทั้งนี้ จึงขอให้พิจารณาวินิจฉัยทบทวนพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพ.ศ 2551 ให้มีความถูกต้องเป็นธรรม และหวังว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะนำพระราชบัญญัติดังกล่าวเข้าไปตั้งเป็นกระทู้ถามในสภาว่าจะมีการแก้ไขหรือไม่
ขณะที่บรรยากาศก่อนยื่นหนังสือในเวลา 16.00 น. กลุ่มนักศึกษาอุเทนถวาย สมาคมศิษย์เก่าอุเทนถวาย และคณะอาจารย์อุเทนถวาย จำนวนมาก ได้เดินทางจากกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัย และนวัตกรรม (อว.) มายังอาคารรัฐสภา เพื่อยื่นหนังสือต่อนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร และนายชวน หลีกภัย สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอคัดค้านการย้าย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก (อุเทนถวาย)
โดยทางกลุ่มนักศึกษาจำนวนมาก เดินทางด้วยรถบัส ขับรถช็อปเปอร์ รถสองแถว รวมถึงเดินเท้า มายังรัฐสภา ซึ่งทางสภาได้จัดสถานที่บริเวณลานประชาชน ฝั่ง ถนนทหาร ให้ได้ใช้จัดกิจกรรม มี เจ้าหน้าที่ สน.บางโพ จำนวน 170 นาย รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจสภาจำนวน 200 นาย สแกนอาวุธและตรวจความเรียบร้อย รวมถึงตรึงกำลังภายนอก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
"ศุภมาส" เตรียมรับหนังสืออุเทนถวายค้านย้ายสถาบัน ห่วงมือที่ 3 ปัด WFH หนี