คำกล่าวที่ว่า"แบงก์ชาติอยู่บนหอคอยงาช้าง ไม่ฟังเสียงประชาชน" ไม่ต่างจากหอกที่พุ่งเป้าตรงไปที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เมื่อเกิดกระแสแบงก์ชาติ “ไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ย” เพื่อช่วยเหลือประชาชน ตามคำขอของนายกรัฐมนตรี “เศรษฐา ทวีสิน”
รายการคุยนอกกรอบ โดย “สุทธิชัย หยุ่น” จับเข่าคุยเปิดใจกับ“เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ว่า “เหตุใดจึงไม่ยอมปรับลดอัตราดอกเบี้ย” กับภารกิจหนักในฐานะที่ต้องแบกรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ
“หากมองภาพรวมของเศรษฐกิจปัจจุบัน การปรับลดดอกเบี้ย ไม่ได้ส่งผลลดภาระหนี้ของประชาชนได้ เพราะมีสัดส่วนไม่น้อย ดอกจากการลดดอกเบี้ยไม่ได้เป็นผล และอาจทำให้เกิดการกู้เพิ่ม จนหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น” ผู้ว่าฯ เศรษฐพุฒิ ตอบ เมื่อถูกถามว่า ทำไม? แบงก์ชาติถึงไม่ปรับลดดอกเบี้ยให้กับประชาชน และธุรกิจ SME เชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้”
เขาระบุว่า ดอกเบี้ยเป็นเรื่องละเอียดอ่อน การตัดสินใจทำอะไร ต้องมีการอิงกับข้อมูล ภาพรวม และต้องดูผลเกี่ยวเนื่องระยะยาว ไม่ใช่แค่ผลระยะสั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินเฟ้อ อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ สำคัญที่สุดคือ เสถียรภาพของระบบการเงิน
“ผู้ว่าแบงก์ชาติ” อธิบายให้เห็นภาพง่าย ๆ คือ GDP (อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ) ของไทยส่วนใหญ่เกิดจากการผลิต และการเติบโตของแรงงานที่มีประสิทธิภาพ แต่ปัจจุบันอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย เฉลี่ยอยู่ที่ 3% เท่านั้น เนื่องด้วยปัจจัยเชิงโครงสร้าง จากประชากรวัยทำงานลดลง รวมทั้งประสิทธิภาพของแรงงานไม่มีการเติบโต หากจะทำให้จีดีพีกลับมาสูงเหมือนเดิมก็ต้องใช้เวลานานในการเตรียมแผนโครงสร้างคนตั้งแต่วัยเด็ก หรือการเพิ่มจำนวนประชากรของประเทศ ส่วนสำคัญที่จะทำให้ให้ GDP กลับมาได้อีกครั้งคือการลงทุนทางด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม
เปิดเหตุผลแบงก์ชาติ “ไม่ลดอัตราดอกเบี้ย”
ขณะที่หลายคนตั้งคำถามเหตุใด “การชะลอตัวทางเศรษฐกิจ” และ “เงินเฟ้อติดลบ” จึงยังไม่เป็นปัจจัยที่จะทำให้เกิดการลดอัตราดอกเบี้ย ผู้ว่าฯ เศรษฐพุฒิ บอกว่า ในฐานะของแบงก์ชาติ จะดูแค่ตัวเลขบางส่วนไม่ได้ เช่น อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง เกิดจากหลายสาเหตุหลัก เช่น
1. การผลิตของไทยที่ยังไม่ค่อยฟื้นอย่างที่ควร และมีบางอย่างที่เป็นปัญหาในเชิงโครงสร้าง
2. นักท่องเที่ยวที่แม้จะกลับมา รายจ่ายของนักท่องเที่ยวไม่ได้ฟื้นกลับมา อย่างที่คาดการณ์ไว้
3. รายจ่ายภาครัฐที่อาจจะมีการเบิกจ่ายช้าลง โดยเฉพาะปีนี้งบประมาณล่าช้ามาก
ซึ่ง 3 ประเด็นนี้ ไม่ใช่ปัจจัยที่ถูกกระทบจากเรื่องการลดดอกเบี้ย เพราะการลดดอกเบี้ยเพื่อไปกระตุ้นเศรษฐกิจจะต้องผ่านการบริโภคกับการลงทุน แต่เมื่อมองการบริโภคถามว่ามีปัญหาไหม คำตอบคือ “ไม่” การบริโภคที่ผ่านมาโตอยู่ในอัตราที่สูงเป็นประวัติการณ์
ดังนั้นการลดดอกเบี้ยหวังจะกระตุ้นเศรษฐกิจโดยตรง ก็จะไม่ได้ช่วยอะไรมาก แต่จะเป็นไปกระตุ้นให้คนไปกู้เพิ่ม ส่วนเงินเฟ้อเมื่อมาดูในเชิงโครงสร้าง ยังอยู่ในระดับที่ยังบวกอยู่ 0.5 – 0.6% จึงคาดการณ์ว่าแนวโน้มเงินเฟ้อน่าจะกลับเข้าไปอยู่ประมาณ 1%
เมื่อย้อนกลับมาดูเรื่อง “เสถียรภาพการเงิน” ปัจจุบันมีหนี้ครัวเรือน สูงมากถึง 91% ต่อจีดีพี ส่วนหนึ่งที่ทำให้หนี้โตขึ้นอย่างรวดเร็ว ก็คือการที่ดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่ต่ำมานานพอสมควร ดังนั้นการจะทำให้ดอกเบี้ยต่ำขึ้น เพื่อให้คนกู้เพิ่มอีกเป็นอะไรที่ไม่เหมาะกับสภาวะปัจจุบัน
เมื่อถามว่า…. แต่รัฐบาลมองว่าหากดอกเบี้ยลดลง SME ที่เป็นหนี้อยู่ ภาระดอกเบี้ยก็จะลดน้อยลง จะกระตุ้นให้มีการใช้จ่ายมากขึ้น การลงทุนในครัวเรือนก็จะเพิ่มขึ้นหรือไม่
“นายเศรษฐพุฒิ” กล่าวว่า เป็นเรื่องที่มองต่างมุม ในแง่ภาพรวม นักการเมืองจะมองว่า หากลดดอกเบี้ยทุกคนจะมีความสุข แต่หากมองในมุมของแบงก์ชาติ จะมองภาพรวมระยะยาว คำนึงถึงผลข้างเคียง เรื่องภาระหนี้หลัก ๆ มาจากเรื่องของรายได้ อีกส่วนเกี่ยวโยงกับดอกเบี้ยสินเชื่อต่าง ๆ ดังนั้นการลดดอกเบี้ย ไม่ได้ส่งผลลดภาระหนี้ของประชาชน
“อธิบายง่าย ๆ สำหรับคนที่กู้สินเชื่อบ้าน วงเงิน 1 ล้านบาท หากมีการลดดอกเบี้ย 25 สตางค์ ค่างวดจะไม่ลด แต่จะไปลดค่าดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายเท่านั้น แต่จากวงเงินกู้ 1 ล้านบาท คิดคำนวนจะลดปีนึงตกประมาณ พันต้น ๆ บาทต่อปี ทำให้ยอดเงินต้นที่ต้องส่งทั้งหมดไม่เปลี่ยน ถ้าเทียบกับต้นทุนอื่น ๆ ของครัวเรือนก็อาจจะไม่ได้สูงขนาดนั้น แต่เข้าใจว่าในช่วงนี้คนลำบาก ทุกบาททุกสตางค์ ก็มีนัยยะ แต่ทั้งหมดก็ต้องชั่งผลข้างเคียงอื่น ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นตามมาต่อระบบที่ต้องเร่งแก้ของการชะลอหนี้ที่สูงมานาน”
ดังนั้นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดมากที่สุดคือ “มาตรการปรับโครงสร้างหนี้” ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ทำมาก่อนหน้านี้แล้ว โดยการบังคับผ่านธนาคารทุกแห่ง โดยมีตัวเลขจากการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ของ SFls และ non-banks ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 - ธันวาคม 2566 จำนวน 6.37 ล้านบัญชี โดยมียอดภาระหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือ 3.52 ล้านล้านบาท
“เศรษฐกิจมุมต่าง” ระหว่างนายกรัฐมนตรี - ผู้ว่าแบงก์ชาติ
มีคำถามว่า “นายกรัฐมนตรี” จะมองในแง่ของการเมือง แต่ยังมีหมวกอีกใบในฐานะ “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง” ที่มองในเรื่องการเงินและคลัง ในฐานะผู้ว่าแบงก์ชาติ จะคุยอย่างไรให้เข้าใจในทั้งสองบริบท
“ผู้ว่าแบงก์ชาติ” บอกว่า โดยธรรมชาติรัฐบาล ไม่ว่าจะประเทศใดก็ตาม จะเน้นเกี่ยวกับเรื่องการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ ขณะที่แบงก์ชาติ จะมองในเรื่องของเสถียรภาพ เศรษฐกิจ การเงิน สถาบันการเงินต่าง ๆ ซึ่งอาจจะมีความขัดแย้งอยู่ในตัว ทำให้ต้องมองทั้งสองมุมให้ครบ เรียกได้ว่า “ต่างคน ต่างมีบทบาท เน้นระยะห่าง ที่เหมาะสม”
“แบงก์ชาติไปอยู่บนหอคอยงาช้างหรือไม่” เป็นข้อครหาที่จะถูกพูดถึงเสมอ ผู้ว่า ธปท. กล่าวว่า อาจเป็นเพราะเป้าหมายที่มองต่างกัน ฝั่งหนึ่งอาจจะมองเรื่องของการเติบโต อีกฝั่งอาจจะเน้นเรื่องของเสถียรภาพ โดยพื้นฐานของแบงก์ชาติก็มักจะต้องมองภาพรวม และมองเรื่องของระยะยาวเป็นหลัก ซึ่งรัฐบาลโดยธรรมชาติจะต้องมองสั้น และฟังเสียงปัญหาเป็นหลัก แต่ก็ต้องบอกว่าการที่มองทั้งระยะยาวและภาพรวม”
บางครั้งอาจจะทำให้แบงก์ชาติดูเหมือนว่า “อยู่บนหอคอยงาช้างไม่ฟังคน” แต่จริง ๆ ไม่ใช่ เพราะการจะทำอะไรต้องคิดถึงผลข้างเคียง จะคิดแค่หวังผลในระยะสั้นอย่างเดียวไม่ได้ กลุ่มนี้ได้ แต่ภาพรวมเสีย
“เราไม่เคยพูดว่า เศรษฐกิจไทยลาเวนเดอร์ เราเห็นตัวเลขเราคิดว่ามันฟื้นอยู่ มันยังโต ยังไม่เป็นภาวะเศรษฐกิจติดลบ หรือมีปัญหาในวงกว้าง แต่ถามว่าฟื้นช้าไหม ฟื้นช้า แต่ก็ยังฟื้นอยู่ และปัญหามีอยู่เยอะ”
เศรษฐกิจไม่ฟื้นตัว โจทย์ใหญ่ต้องเร่งแก้ระยะยาว
เมื่อถามว่าจากนี้ไปถึงสิ้นปีนี้มองอย่างไร เศรษฐกิจไทยจะฟื้นไม่ฟื้น มีอะไรที่ต้องกังวลบ้าง
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า เศรษฐกิจน่าจะโตสัก 2.5 – 3% ปัจจัยที่สนับสนุนการฟื้นตัวก็จะยังเป็นเรื่องของการบริโภคภายในประเทศที่ยังโตอยู่ บวกกับเรื่องท่องเที่ยว แม้ว่ารายจ่ายจะยังไม่มาแต่ก็คิดว่าน่าจะช่วยได้ และตัวที่หวังว่าจะได้อานิสงส์เพิ่มเติมก็คือเรื่องการส่งออก
แต่การส่งออก อาจจะเริ่มเจอปัญหาเชิงโครงสร้างที่ทำให้อานิสงส์ที่จะได้จากตรงนี้ ยังไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ หากมองเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ประเทศไทยถือว่าหนัก
“ประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศได้มีการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจไปแล้ว ทำให้ไม่ได้รับผลกระทบเท่ากับประเทศไทย เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม โดยเฉพาะ “เวียดนาม” มีการลงทุน อิเล็กทรอนิกส์ ผลิตส่งออกในต่างประเทศ ทำให้เขาเกิดห่วงโซ่อุปทานอย่างเข็มแข็ง และในอนาคตอุปสงค์ของโลกกจะยิ่งเติบโตขึ้น”
ผู้ว่าเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า สิ่งที่ชัดเจน และอยากเห็นคือ อะไรที่เป็นเรื่องระยะยาว การสร้าง การเพิ่มประชากรของประเทศ การเพิ่มการแข่งขันเพื่อให้มีศักยภาพระดับโลก จะทำให้เกิดการดึงดูดการลง ทุนจากต่างชาติ หรือภาคเอกชนในประเทศเอง รวมถึงการแก้กฎเกณฑ์ที่ไม่เอื้อของการลงทุนต่างๆ ที่เป็นสาเหตุทำให้การแข่งขันมันไม่สามารถจะไปถึงได้
ขณะที่ผลกระทบด้านเศรษฐกิจด้านเชิงโครงสร้างที่เริ่มเห็นได้ชัดในขณะนี้ คือ “จีน” มีการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างเชิงรุกที่นอกจากจะเริ่มผลิตสิ่งต่างๆ ที่เคยนำเข้าจากไทยแทนแล้ว ยังสามารถผลิตเพื่อส่งไปขายให้ประเทศอื่นด้วย ทำให้ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากจีนไม่ใช่แค่การส่งออกไปจีน แต่ยังมีผลกระทบที่ทำให้ไทยส่งสินค้าไปประเทศที่สามลำบากขึ้น
“ดิจิทัล-กรีน” กับช่วงเวลาที่เหลือ 1 ปี 8 เดือน
“ผู้ว่าแบงก์ชาติ” ยอมรับว่าตลอดระยะการทำงานในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา แม้จะเจอปัญหาใหญ่และปัญหาด่วนที่ต้องแก้ โดยเฉพาะในเรื่องเชิงโครงสร้างก็ยังไม่ได้ทำเท่าที่ควร ดังนั้นเวลาที่เหลืออีก 1 ปี 8 เดือน ก็จะวางโครงสร้างพื้นฐานระยะยาวไว้ให้สามารถดำเนินการต่อไปได้ มี 2 เรื่องใหญ่ๆ คือเรื่อง ‘ดิจิทัล’ และ ‘กรีน’ (การเงินเพื่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม)
เรื่องดิจิทัล มองว่า ไม่น่าเป็นห่วง เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยไม่ได้ช้ากว่าประเทศอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระบบเพย์เมนต์ (Payment) ทั้งในและต่างประเทศ, โครงการนำร่อง (Pilot Project), โครงการเพื่อการโอนเงินระหว่างประเทศ ( M-Bridge) หรือ ระบบ Nexus นวัตกรรมที่มุ่งแก้ไขอุปสรรคของการทำธุรกรรมโอนเงินระหว่างประเทศ
“ถามว่าจะทำเสร็จไหมภายใน 1 ปี 8 เดือน ต้องตอบว่า “ไม่” แต่จะวางโครงสร้างให้สามารถเดินต่อไปได้ ในเป้าหมายที่อยากเห็นมากๆ คือ “Open Banking Data” เป็น การผลักดันกลไกที่เอื้อให้ผู้ใช้บริการสามารถใช้สิทธิส่งข้อมูลเพื่อนำไปใช้ประโยชน์และได้รับบริการที่ดีขึ้น”
และผู้ให้บริการสามารถเข้าถึงข้อมูลและโครงสร้างพื้นฐานสำคัญได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะส่งเสริมการแข่งขันและพัฒนาบริการที่ดีขึ้น และผลักดันให้มีกลไกให้ผู้ใช้บริการใช้สิทธิส่งข้อมูลในภาคสถาบันการเงินก่อน รวมถึงกลไกที่ผู้ใช้บริการสามารถใช้สิทธิส่งข้อมูลข้ามกันระหว่างภาคส่วนอื่นกับภาคสถาบันการเงินควบคู่กันไปด้วย”
ขณะที่ “BG Green” คนไม่ค่อยให้ความสนใจ ทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญ เพราะคนรู้สึกว่าไกลตัว ทั้งที่จริงมันคือสิ่งไกลตัว ดังนั้นสิ่งที่อยากเห็นคือ ภาคการเงินสามารถประเมินผลกระทบ (ความเสี่ยงและโอกาส) ด้านสิ่งแวดล้อมให้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการตัดสินใจ และการดำเนินการอย่างเป็นระบบ รวมถึงมีผลิตภัณฑ์ บริการทางการเงินที่จำเป็นและเพียงพอให้สามารถกระตุ้นหรือส่งเสริมให้ภาคธุรกิจสามารถปรับตัวได้โดยเฉพาะในช่วงเปลี่ยนผ่าน เพื่อสนับสนุนให้ภาคการเงินไทยพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมและสามารถตอบโจทย์ความต้องการปรับตัวของภาคธุรกิจได้ดี ด้วยการวางรากฐานที่สำคัญ 5 ด้าน ได้แก่
1. การปรับกระบวนการดำเนินธุรกิจของสถาบันการเงินเพื่อให้มีบริการและผลิตภัณฑ์ทางการเงินด้านสิ่งแวดล้อมที่ตอบโจทย์ความต้องการของภาคธุรกิจ (Products and Services)
2. มาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Taxonomy)
3. ฐานข้อมูลที่เป็นระบบ เข้าถึงได้ และมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลของสถาบันการเงิน (Data and Disclosure)
4. โครงสร้างแรงจูงใจ (Incentive) เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมในภาคการเงินที่เหมาะสม
5. องค์ความรู้และทักษะของบุคลากรในภาคการเงิน (Capacity Building)
แม้เจอศึกหนักในช่วง 3 ปี ที่ผ่านมา แต่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย บอกว่า รู้สึกภูมิใจที่ได้ทำงานอย่างเต็มที่ และเข้าใจสัจจะธรรม “หากทำนโยบายที่ถูกต้อง อาจจะไม่ถูกใจคน แต่เมื่อมองผลกระทบในระยะยาว ก็ถือได้ว่าทำสิ่งที่ถูกต้องเพื่อประเทศ”
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
เลขาฯ สภาพัฒน์ โยน กนง.ถกแบงก์ชาติ “ลด-ไม่ลด” ดอกเบี้ย
สภาพัฒน์ เผย ศก.ไทยปี 66 GDP โต 1.9% แนะแบงก์ชาติทบทวนนโยบายการเงิน