เมื่อวันที่ 3 มี.ค.2567 "โจวปลื้ม" อินฟลูเอนเซอร์สายแฟชัน โพสต์คลิปลงอินสตาแกรมส่วนตัว เล่าเรื่องเกี่ยวกับการโดนโกงบัตรคอนเสิร์ตของ "เทย์เลอร์ สวิฟต์" ที่จัดขึ้นในประเทศสิงคโปร์ระหว่างวันที่ 2-4 มี.ค.2567 และอีกช่วงวันที่ 7-9 มี.ค.2567
ในคลิปที่เธอร้องไห้กับเพื่อนสนิท พร้อมข้อความระบุว่า "โดนโกงบัตรครั้งแรกในชีวิต ช็อก พูดออกไม่ ไม่คิดว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ปลื้มกับพี่ซาคือ ตั้งใจมาด้วยกันมากๆ รอวันนี้มาเกือบปี เพราะเพลงนี้ อยากมาร้องด้วยกัน เดี๋ยวปลื้มจะมาเล่าเหตุการณ์ให้ฟังว่าเพราะอะไร คนโดนโกงเยอะมาก seat (ที่นั่ง) เดียวกับปลื้ม ชื่อเดียวกันด้วย"
คลิปที่ 2 โจวปลื้มและผู้เสียหายคนอื่นอธิบายว่า ทำไมเธอและคนอื่นๆ อีกนับสิบคนเข้าไปดูคอนเสิร์ตไม่ได้ เธอเล่าว่าพยายามสแกนบัตรเข้าไป แต่ที่นั่งตามบัตรของเธอ ถูกสแกนไปก่อนแล้ว หมายความว่า ก่อนหน้าที่เธอจะมาถึง มีคนอื่นๆสแกนบัตรในที่นั่งเดียวกันกับเธอหลายคน ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องเชิญคนที่เข้าไปแล้วออกมา ซึ่งมีมากกว่า 8 คน เธอย้ำว่าซื้อบัตรมา เพราะกดเองไม่ทัน
มีผู้เสียหายที่โจวปลื้มไปเจอหน้างาน เล่าว่า ซื้อบัตรจากร้านเดียวกัน แต่ไปถึงก่อน ทำให้สามารถสแกนเข้าไปได้ แสดงว่าบัตรคือบัตรจริง แต่บัตรที่นั่งมันซ้ำกันเยอะมาก ทางสิงคโปร์เขาจึงเชิญทุกคนออกมาหมดเลย โจวปลื้มพูดทิ้งท้ายอีกว่า
มีที่ 32, 33, 34, 35 ซึ่งคนขายเอา 32, 33 มาขาย จากนั้นก็เอาที่นั่ง 34, 35 มาขาย แล้ววนขายไปขายมา หมายความว่าบัตรที่นั่งเดียวกัน ถูกนำไปขายซ้ำหลายครั้ง ทำให้สแกนไม่ได้
อ่าน : "Swiftology" จากเพลงสู่ธุรกิจจนถึง "หลักสูตรการสอน" ในมหาวิทยาลัยชั้นนำ
ผู้ใช้ X อีกคนเป็นผู้เสียหาย โพสต์ภาพบัตร 4 ใบ ระบุว่า "เขากับเพื่อนซื้อบัตรคอนเสิร์ต Taylor ที่สิงค์โปร์จากร้านแห่งหนึ่ง จำนวน 4 ใบ เป็นเงิน 32,000 บาท พอถึงวันคอนเสิร์ต กำลังจะสแกนบัตรเข้าฮอลล์ สตาฟแจ้งว่าเป็นบัตรปลอมที่ทำมาจากโฟโต้ชอป ตกใจมาก และสตาฟก็พาไปหาตำรวจที่สนาม ก่อนจะถามว่าซื้อมาจากไหน" โดยรายละเอียดในบัตรเหมือนกันทั้งหมด ต่างกันแค่ชื่อ ซึ่งขณะนี้ผู้เสียหาย โดนโกงบัตรคอนเสิร์ตขณะนี้ร่วม 120 คนแล้ว
ขณะที่ผู้ใช้ X ซึ่งอ้างว่า เป็นร้านขายบัตรคอนเสิร์ต โพสต์ข้อความชี้แจงว่า "ร้านไม่ได้นิ่งนอนใจ กำลังรวบรวมหลักฐานเพื่อแจ้งความ และชี้แจงประเด็นที่เกิดขึ้นอย่างละเอียด และดำเนินการรับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่หนีไม่หาย"
และระบุเพิ่มเติมถึงชื่อเจ้าของบัญชีธนาคาร ที่ผู้เสียหายโอนเงินว่า เจ้าของบัญชีไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และร้านขอยืนยันว่า ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพียงแค่เป็นเจ้าของบัญชีที่ใช้รับเงินของทางร้านเท่านั้น ไม่ใช่บัญชีม้า
จากนั้นผู้ใช้บัญชี X ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของบัญชีรับโอนเงิน ออกมาชี้แจงยืนยันว่าเป็นความจริงทุกประการ โดยในความจริงแล้ว เรารับรู้เรื่องนี้พร้อมกับทุกคนและเจ้าของร้านไม่ได้แจ้งอะไรเราเลย เรารู้พร้อมๆ กับทุกคนก็ตอนที่มีคนมาบอกเราอีกที
คนที่อ้างเป็นเจ้าของบัญชี ลงรูปภาพพร้อมข้อความในรูปที่ระบุว่าตนเองเป็นเจ้าของบัญชีจริง และตนก็เป็นเพื่อนกับเจ้าของร้านด้วย แต่ไม่ได้มีสิทธิในการเข้าถึงบัญชีแอปฯ X ของทางร้าน
ด้านทนายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ให้สัมภาษณ์ในรายการร้องทุกข์ลงป้ายนี้ ไทยพีบีเอส แนะนำให้เจ้าของร้านเร่งจ่ายเงินคืน ก่อนที่ผู้เสียหายจะเข้าแจ้งความกับตำรวจ
อ่าน : สิงคโปร์ทุ่มร้อยล้านซื้อตัว "เทย์เลอร์ สวิฟต์" เล่นคอนเสิร์ตที่เดียวในอาเซียน