ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

วิกฤตศรัทธาประชาชน ตำรวจเมินตำแหน่ง “พนักงานสอบสวน”

อาชญากรรม
7 มี.ค. 67
16:53
7,427
Logo Thai PBS
 วิกฤตศรัทธาประชาชน ตำรวจเมินตำแหน่ง “พนักงานสอบสวน”
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

คดี “ลุงเปี๊ยก” หรือ นายปัญญา คงแสนคำ ที่ตกเป็นแพะ ในคดีฆาตกรรม ป้าบัวผัน ผู้เป็นภรรยา เป็นอีกคดีที่สะท้อนการทำงานของพนักงานสอบสวนอันกระทบต่อศรัทธาของประชาชน เพราะท้ายที่สุด พยานหลักฐานในการเสียชีวิตของป้าบัวผัน ชี้ชัด ว่า ผู้ลงมือคือกลุ่มเด็กและเยาวชนในพื้นที่

“คดีป้าบัวผัน ทำให้ประชาชนหมดความศรัทธาในการทำงานของตำรวจ และยังสะท้อนว่า 10 ปีที่ผ่านมา การปฏิรูปตำรวจยังไม่ประสบความสำเร็จ” ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผอ.ศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงความคิดเห็นบนเวทีเสวนาการปฏิรูปตำรวจและกระบวนการยุติธรรม เมื่อเร็วๆนี้

กำลังพลขาดแคลน ไม่มีตำรวจทดแทนตำแหน่งว่าง

พล.ต.อ.วุฒิชัย ศรีรัตนวุฒิ ประธานชมรมพนักงานสอบสวนตำรวจ ยอมรับถึงข้อบกพร่อง ว่า ไม่ใช่แค่คดีป้าบัวผัน ที่ทำให้ประชาชนหมดความเชื่อถือในการปฏิบัติงานของตำรวจ ข้อมูลในปี 2566 สำนักงานจเรตำรวจ ได้รับเรื่องร้องเรียนการปฏิบัติงานของตำรวจ ประมาณ 5,000 เรื่อง ซึ่งจำนวนนี้เกือบร้อยละ 90 เป็นเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับพนักงานสอบสวน

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ไม่ได้รับความสะดวกและไม่มั่นใจว่า จะได้รับบริการที่ดีจากพนักงานสอบสวน ซึ่งเรื่องร้องเรียนเหล่านี้ ตอกย้ำ ว่า การทำงานของพนักงานสอบสวนกำลังอยู่ในขั้นวิกฤต เพราะปัจจุบันพบว่า พนักงานสอบสวน 1 คน ต้องรับผิดชอบสำนวนคดีมากกว่า 100 คดีต่อปี ซึ่งจากเดิมอยู่ที่ 70 คดีต่อปี ด้วยภาระงานที่เพิ่มขึ้น ทำให้ประสิทธิภาพลดลง เพราะขาดคนทำงาน

“โรงพักทั่วประเทศกว่า 1,400 แห่ง กำลังขาดแคลนพนักงานสอบสวน เพราะถูกผู้บังคับบัญชาเรียกตัวให้ไปช่วยราชการ ทำให้เวลาประชาชนเข้าไปแจ้งความจึงไม่เจอตำรวจ เพราะเป็นโรงพักร้าง” พล.ต.อ.วุฒิชัย กล่าว

พล.ต.อ.วุฒิชัย ศรีรัตนวุฒิ ประธานชมรมพนักงานสอบสวน

พล.ต.อ.วุฒิชัย ศรีรัตนวุฒิ ประธานชมรมพนักงานสอบสวน

พล.ต.อ.วุฒิชัย ศรีรัตนวุฒิ ประธานชมรมพนักงานสอบสวน

ข้อมูลกำลังพล พนักงานสอบสวนทั่วประเทศ ปัจจุบันสถานภาพกำลังพลที่ทำหน้าที่สอบ สวน ตามตำแหน่งมี จำนวน 18,599 ตำแหน่ง แต่จากการสำรวจของชมรมพนักงานสอบสวนตำรวจ พบ คนครองตำแหน่งหรือที่นั่งทำงานจริงอยู่เพียง 12,010 ตำแหน่ง ขณะที่ตำแหน่งว่าง มีจำนวน 6,589 ตำแหน่ง

ในจำนวนของตำแหน่งที่ว่างนั้น พล.ต.อ.วุฒิชัย ชี้ว่า มีอยู่มากกว่า 6,500 ตำแหน่ง มีทั้งพนักงานสอบสวน ที่ถูกผู้บังคับบัญชาเรียกตัวให้ไปช่วยราชการ และไม่มีคนมาทำงานทดแทน, ตำแหน่ง นอกจากนี้ พนักงานสอบสวน ก็ไม่เป็นที่นิยมในหมู่ข้าราชการตำรวจ เนื่องจากไม่ได้รับการสนับสนุนที่เหมาะสมกับหน้างาน

เช่น ขาดงบฯสนับสนุน จัดซื้อ วัสดุอปุกรณ์ในการทำงาน, ค่าตอบแทนการทำสำนวนคดีไม่สอด คล้องกับสภาพเศรษฐกิจซึ่งไม่ได้มีการปรับมานานกว่า 30 ปีแล้ว ครั้งสุดท้ายที่ปรับขึ้นคือ ปี 2534, ที่สำคัญคือ พนักงานสอบสวนขาดโอกาส ที่จะเจริญก้าวหน้าในสายอาชีพ เพราะการเลื่อนตำแหน่งไม่ได้มาจากการประเมินตามความรู้ความสามารถ

พนักงานสอบสวน ตำแหน่งไกลสายตาตำรวจรุ่นใหม่

ปัญหาเหล่านี้ ไม่เพียงแต่ลดทอนกำลังใจของพนักงานสอบสวนที่อยู่สายงาน แต่ยังส่งผลต่อการสร้างพนักงานสอบสวนรุ่นใหม่อีกด้วย

พ.ต.อ.มานะ เผาะช่วย คณะกรรมการชมรมพนักงานสอบสวนตำรวจ เปิดเผย ข้อมูลจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ว่า นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นใหม่ ส่วนใหญ่แล้วจะเลือกลงสังกัดที่ตำรวจท่องเที่ยว, ตำรวจสอบสวนกลาง เป็น 2 อันดับแรก เพราะมองเห็นความเจริญก้าวหน้าในสายงาน เห็นค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและภาระงานต่างจากพนักงานสอบสวนอย่างสิ้นเชิง

พ.ต.อ.มานะ เผาะช่วย คณะกรรมการชมรมพนักงานสอบสวนตำรวจ

พ.ต.อ.มานะ เผาะช่วย คณะกรรมการชมรมพนักงานสอบสวนตำรวจ

พ.ต.อ.มานะ เผาะช่วย คณะกรรมการชมรมพนักงานสอบสวนตำรวจ

เมื่อตำแหน่งพนักงานสอบสวนห่างไกลสายตาคนรุ่นใหม่ ทางแก้ไขอย่างน้อยก็ควรจะมีมาตรการรักษาคนเก่าเอาไว้ให้ได้มากที่สุด

ชมรมพนักงานสอบสวนตำรวจ จึงมีข้อเสนอเงินค่าตอบแทนพิเศษในตำแหน่งพนักงานสอบสวน ดังนี้

ชมรมพนักงานสอบสวนตำรวจ ก่อตั้งขึ้นจากความร่วมมือของอดีตนายตำรวจที่เคยผ่านงานสอบสวนจึงรู้ซึ้งถึงปัญหาเป็นอย่างดีและด้วยความมุ่งมั่นอยากจะแก้ไขปัญหาทั้งด้านคุณภาพชีวิตของพนักงานสอบสวนไปจนถึงกู้ศรัทธาจากประชาชนกลับคืนมาให้ได้

พนักงานสอบสวน คือ ต้นธารของกระบวนการยุติธรรม ดังนั้นจึงเป็นสายงานที่แบกรับความคาดหวังจากประชาชนอยู่เสมอ แต่ก็เชื่อว่า หากมีค่าตอบแทนที่เหมาะสม มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีโอกาสเจริญก้าวหน้าในสายงาน ก็ย่อมมีพลังแรงใจในการรับใช้ประชาชนและสุดท้าย ตำแหน่งพนักงานสอบสวนก็จะไม่ใช่สายงานนอกสายตาอีกต่อไป

รายงานพิเศษ : กัญญารัตน์ เรือนใจ ผู้สื่อข่าวอาชญากรรม

อ่านข่าวอื่นๆ

“ป.ป้อม-ป.ป๊อด” หนีสภาฯ “ความรับผิดชอบ” จึงถูกถาม

“ทวงคืนชายหาด” ทั่วประเทศ ต้องเปิดเผย “ข้อมูลระวางที่ดิน”

ปรับปรุง “สนามหญ้าทำเนียบฯ” ซินแสแนะนำอะไร "นายกฯ เศรษฐา"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง