ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เกณฑ์ทหาร 2567 เช็กวัน รายละเอียด ขั้นตอนการตรวจเลือกทหาร

สังคม
21 มี.ค. 67
15:42
176,231
Logo Thai PBS
เกณฑ์ทหาร 2567 เช็กวัน รายละเอียด ขั้นตอนการตรวจเลือกทหาร
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เกณฑ์ทหาร 2567 เช็กกำหนดการ ขั้นตอนการตรวจเลือก ต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง รวมถึงคุณสมบัติ และเงื่อนไข บุคคลที่ได้รับการยกเว้น ใครเข้าข่ายได้รับการยกเว้นบ้าง

ใกล้เข้ามาแล้ว กองทัพบก เตรียมทำการตรวจเลือกทหารกองเกิน เข้ารับราชการทหารกองประจำการ ประจำปี 2567 ระหว่าง วันที่ 1 - 12 เมษายน 2567 เว้นวันที่ 6 เมษายน (วันจักรี) ตรวจสอบรายละเอียด กำหนดการ และขั้นตอนการตรวจเลือก ต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง รวมถึงคุณสมบัติ และเงื่อนไข บุคคลที่ได้รับการยกเว้น โดยรายละเอียดดังนี้

อ่าน : ผบ.ทบ.ถกผู้นำหน่วย แนะปรับตัว-โครงสร้างกองทัพ รับมือโลกเปลี่ยน

ผู้ที่อยู่ในเกณฑ์การตรวจเลือก ระหว่างวันที่ 1 -12 เม.ย.67

  • ชายไทย เกิดปี พ.ศ.2546 มีอายุ 21 ปีบริบูรณ์ 
  • ชายไทย เกิดปี พ.ศ. 2538 - 2545 มีอายุ 22 - 29 ปีบริบูรณ์ ที่ยังไม่เคยเข้ารับการตรวจเลือกฯ หรือผลการตรวจเลือกฯ ยังไม่แล้วเสร็จทุกกรณี
  • นิสิต นักศึกษา นักเรียน ที่อยู่ระหว่างการศึกษา จะได้รับการผ่อนผันตามกฎกระทรวง

บุคคลข้างต้น ต้องไปรับหมายเรียกฯ (แบบ สด.35) จากเจ้าหน้าที่สัสดี ณ สำนักงานเขต หรือที่ว่าอำเภอซึ่งเป็นภูมิลำเนาทหารของตนและไปเข้ารับการตรวจเลือก ตามวันเวลา และสถานที่ ที่กำหนดไว้ในหมายเรียกฯ

  • หากไม่ไปรับหมายเรียก ภายในกำหนดต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 300 บาท
  • หากรับหมายเรียกแล้วไม่ไปเข้ารับการตรวจเลือก ถือว่าผู้นั้นหลีกเสี่ยงหรือขัดขืน มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี
เช็กกำหนดการเกณฑ์ทหาร 2567

เช็กกำหนดการเกณฑ์ทหาร 2567

เช็กกำหนดการเกณฑ์ทหาร 2567

สถานที่ทำการตรวจเลือกทหารกองเกินของแต่ละภาค

ภาคกลาง (กองทัพภาคที่ 1) ได้แก่

กรุงเทพมหานคร, กาญจนบุรี, จันทบุรี, ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, ชัยนาท, ตราด, นครนายก, นครปฐม, นนทบุรี, ปทุมธานี, ประจวบคีรีขันธ์, ปราจีนบุรี, พระนครศรีอยุธยา, เพชรบุรี, ระยอง, ราชบุรี, ลพบุรี, สมุทรปราการ, สมุทรสงคราม, สมุทรสาคร, สระแก้ว, สระบุรี, สิงห์บุรี, สุพรรณบุรี และอ่างทอง

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (กองทัพภาคที่ 2) ได้แก่

กาฬสินธุ์, ขอนแก่น, ชัยภูมิ, นครพนม, นครราชสีมา, บุรีรัมย์, มหาสารคาม, มุกดาหาร, ยโสธร, ร้อยเอ็ด, เลย, ศรีสะเกษ, สกลนคร, สุรินทร์, หน่องคาย, หนองบัวลำภู, อำนาจเจริญ, อุดรธานี, อุบลราชธานี และบึงกาฬ

ภาคเหนือ (กองทัพภาคที่ 3) ได้แก่

กำแพงเพชร, เชียงราย, เชียงใหม่, ตาก, นครสวรรค์, น่าน, พะเยา, พิจิตร, พิษณุโลก, เพชรบูรณ์, แพร่, แม่ฮ่องสอน, ลำปาง, ลำพูน, สุโขทัย, อุตรดิตถ์ และอุทัยธานี

ภาคใต้ (กองทัพภาคที่ 4) ได้แก่

กระบี่, ชุมพร, ตรัง, นครศรีธรรมราช, นราธิวาส, ปัตตานี, พังงา, พักลุง, ภูเก็ต, ยะลา, ระนอง, สงขลา, สตูล และสุราษฎร์ธานี

วันที่ 1 - 12 เมษายน 2567 ตรวจเลือกทหารกองเกิน

วันที่ 1 - 12 เมษายน 2567 ตรวจเลือกทหารกองเกิน

วันที่ 1 - 12 เมษายน 2567 ตรวจเลือกทหารกองเกิน

วันตรวจเลือก - สิ่งที่ต้องเตรียมไป

ในวันตรวจเลือก เตรียมหลักฐานอะไรไปแสดงต่อคณะกรรมการบ้าง

  • ใบสำคัญทหารกองเกิน (แบบ สด.9)
  • หมายเรียกเข้ารับราชการทหาร (แบบ สด.35)
  • บัตรประจำตัวประชาชน
  • ใบสำคัญความเห็นแพทย์และประวัติการรักษา (ถ้ามี)
  • ประกาศนียบัตร หรือหลักฐานแสดงคุณวุฒิทางการศึกษา หรือใบรับรองวิทยฐานะของผู้สำเร็จการฝึกวิชาทหารตามกฎหมาย

เช็กคุณสมบัติ

บุคคลซึ่งจะเข้ารับราชการทหารกองประจำการนั้น ต้องมีคุณสมบัติดังนี้ 

  • มีขนาดรอบตัว ตั้งแต่ 76 เซนติเมตรขึ้นไป (ในเวลาหายใจออก)
  • มีขนาดความสูง ตั้งแต่ 160 เซนติเมตรขึ้นไป
  • ถ้าขนาดสูงหรือขนาดรอบตัวอย่างใดอย่างหนึ่งต่ำกว่ากำหนดนี้ ให้ถือว่าเป็นคนที่ไม่ได้ขนาดจะส่งเข้ากองประจำการไม่ได้ (ทั้งนี้ ความสูงตั้งแต่ 146 ซม.ขึ้นไป แต่จะคัดเลือกคนที่มีขนาดสูงตั้งแต่ 160 ซม.ขึ้นไปก่อน)

ทหารกองเกิน ซึ่งอยู่ในกำหนดเรียกเข้ารับการตรวจเลือกฯ ในเดือน เม.ย.2567 ผู้ใดที่เห็นว่าตนเองมีโรคหรือสภาพร่างกาย หรือสภาพจิตใจที่ไม่สามารถรับราชการทหารได้

ให้ไปขอรับการตรวจโรคก่อนการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการ ทหารกองประจำการ ประจำปี 2567 ได้ที่โรงพยาบาลในสังกัดกองทัพบก กองทัพเรือและกองทัพอากาศ 26 แห่งทั่วประเทศ (โรงพยาบาลใดก็ได้) ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 25 ก.พ.2567

หากพ้นห้วงเวลาที่กำหนด จะดำเนินการตรวจโรคก่อนการตรวจเลือกฯ ให้ไม่ได้ แต่ทหารกองเกินสามารถนำผลการตรวจโรคของแพทย์จากโรงพยาบาลทหารหรือโรงพยาบาลของรัฐไปแสดงต่อคณะกรรมการตรวจเลือกฯ ในวันตรวจเลือกฯ เพื่อประกอบการวินิจฉัยได้

เกณฑ์ทหาร วันแรก ปี 2567

เกณฑ์ทหาร วันแรก ปี 2567

ขั้นตอนการตรวจเลือก

ในวันตรวจเลือกทหารกองเกิน (วันเกณฑ์ทหาร) เวลา 07.00 น. ทหารกองเกินที่ได้รับหมายเรียก (แบบ สด.35) แล้ว ทุกคนเข้าแถวตามแขวง/ตำบล เพื่อเตรียมเคารพรงชาติ ประธานกรรมการตรวจเลือกทหาร ชี้แจงความจำเป็นถึงการตรวจเลือกทหาร เมื่อประธานกรรมการชี้แจงเสร็จ กรรมการสัสดีจะชี้แจงถึงขั้นตอนการปฏิบัติในการตรวจเลือกทหาร รวมทั้งสิทธิต่าง ๆ ของผู้ถูกเข้ารับราชการทหารกองประจำการ คือ ผู้ที่สมัครหรือผู้ที่จับสลากแดงได้ ซึ่งมีขั้นตอนการปฏิบัติ ดังนี้

โต๊ะที่ 1 เรียกชื่อ ตรวจสอบหลักฐานบุคคล

  • กรรมการจะเรียกชื่อทหารกองเกินเข้ารับการตรวจเลือก

โต๊ะที่ 2 ตรวจร่างกาย

  • แพทย์จะตรวจร่างกายว่าสมบูรณ์ดีหรือไม่ กรรมการสัสดีกำหนดคนเป็น 4

- จำพวกที่ 1 คนร่างกายสมบูรณ์ดี

- จำพวกที่ 2 คนที่ร่างกายไม่สมบูรณ์ดีเหมือนคนจำพวกที่ 1 แต่ไม่ถึงกับทุพพลภาพ

- จำพวกที่ 3 คนที่ได้รับอุบัติเหตุหรือมีโรครักษาให้หายไม่ได้ภายใน 30 วัน

- จำพวกที่ 4 คนที่ร่างกายพิการทุพพลภาพ หรือมีโรคที่กคุณสฎหมายกำหนดให้ไม่ต้องเข้ารับราชการทหาร

*** สำหรับบุคคล จำพวกที่ 2 3 4 รอการเรียกจากโต๊ะประธานกรรมการเพื่อตรวจสอบบุคคลและรับใบรับรองผลการตรวจเลือกฯ แบบ สด.43 จากนั้นเสร็จสิ้นขั้นตอน

โต๊ะที่ 3 วัดขนาด

  • กรรมการจะวัดขนาดสูงและขนาดรอบตัวของร่างกาย
บรรยากาศการคัดเลือกเกณฑ์ทหาร  ปี 2567

บรรยากาศการคัดเลือกเกณฑ์ทหาร ปี 2567

ตรวจสอบขั้นสุดท้าย

  • หากร่างกายสมบูรณ์ดีและขนาดสูง 160 เซนติเมตร ขนาดรอบตัว 76 เซนติเมตร ในเวลาหายใจออกเรียกว่า คนได้ขนาด และจะให้รอจับสลาก
  • เมื่อมีคนได้ขนาดพอกับยอดจำนวนที่ต้องการคนเข้ากองประจำการ ทหารกองเกินที่มี ขนาดสูงต่ำกว่า 1 เมตร 60 เซนติเมตร ขนาดรอบตัวต่ำกว่า 76 เซนติเมตร ในเวลาหายใจออก และคนจำพวกที่ 2,3,4 ซึ่งร่างกายไม่สมบูรณ์ดีหรือร่างกายพิการทุพพลภาพหรือมีโรคที่ขัดต่อการเป็นทหารกองประจำการ ประธานกรรมการจะปล่อยตัวพร้อมกับมอบไบรับรองผลการตรวจเลือก (แบบ สด.43) ให้ทหารกองเกินรับไป

บุคคลที่ได้รับการยกเว้น ไม่ต้องเข้ารับเกณฑ์คัดเลือก

บุคคลที่ได้รับการยกเว้น ไม่ต้องเข้ารับเกณฑ์คัดเลือกด้วย แบ่งออกเป็น 2 ประเภท

1.ยกเว้นไม่ต้องเข้ารับราชการกองประจำการ (ยกเว้นให้ตลอดไป) แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้ 

1.1 พระภิกษุที่มีสมณศักดิ์ หรือที่เป็นเปรียญ และนักบวชในพระพุทธศาสนาแห่งนิกายจีน หรือญวน ที่มีสมณศักดิ์ โดยพระภิกษุที่มีสมณศักดิ์ หมายถึง ยศของพระ เช่น เป็นพระครู พระชั้นเทพหรือชั้นธรรม เป็นต้น

ส่วนตำแหน่งของพระ เช่น เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ อย่างนี้เป็นตำแหน่ง ไม่ใช่สมณศักดิ์ จึงไม่ได้รับการยกเว้น พระภิกษุที่มีสมณศักดิ์ อาจไม่มีตำแหน่งก็ได้

พระภิกษุที่เป็นเปรียญ หมายถึง การศึกษาของพระ เช่น เป็นเปรียญตั้งแต่ 3 ประโยค ถึง 9 ประโยค 

นักบวชในพระพุทธศาสนาแห่งนิกายจีน หรือญวน ที่มีสมณศักดิ์นั้น หมายถึง ผู้ที่บวชในพระพุทธศาสนาเหมือนกัน ต่างกันที่ถือตามนิกายของจีนกับของญวน นักบวชในพระพุทธศาสนาแห่งนิกายจีนหรือญวน ต้องมีสมณศักดิ์ด้วย จึงจะได้รับการยกเว้น

1.2 คนพิการทุพพลภาพซึ่งไม่สามารถเป็นทหารได้

2.ยกเว้นไม่เรียกมาเข้ารับการตรวจเลือกในยามปกติ

พระภิกษุสามเณรซึ่งเป็นนักธรรม

2.1 พระภิกษุ สามเณร ซึ่งเป็นนักธรรม หมายถึง ผู้ที่จบนักธรรมตรี นักธรรมโท และนักธรรมเอก เมื่อยื่นเรื่องขอยกเว้นและได้รับการยกเว้นแล้ว ไม่ต้องไปแสดงตนเข้ารับการตรวจเลือกฯ ถ้ายื่นไม่ทันก่อนการตรวจเลือก จะนำหลักฐานไปยื่นขอรับการยกเว้นต่อคณะกรรมการตรวจเลือกในวันทำการตรวจเลือกก็ได้ หลักฐานที่ต้องนำไปยื่นต่อนายอำเภอเพื่อขอยกเว้น ได้แก่ 

- ประกาศนียบัตรจบนักธรรม

- ใบสำคัญ(แบบ สด.9)

- หมายเรียก(แบบ สด.35)

- หนังสือรับรองของเจ้าอาวาส

- หนังสือสุทธิ

2.2 ผู้อยู่ในระหว่างการฝึกวิชาทหาร (ยังไม่จบ รด.ปี 3)

การขอยกเว้นให้สถานศึกษาจัดทำบัญชีผู้ซึ่งอยู่ในกำหนดต้องเรียกมาตรวจเลือกฯ ส่งสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม และ นรด. ภายในเดือน ต.ค.ของทุกปี หลักฐานเป็นหน้าที่ของกระทรวงกลาโหมจะแจ้งไปยังจังหวัดภูมิลำเนาทหารของผู้นั้น ให้จัดการยกเว้นให้ แล้วผู้นั้นไม่ต้องไปเข้ารับการตรวจเลือก

2.3 ครูในสถานศึกษา

ครูซึ่งประจำทำการสอนหนังสือหรือวิชาการต่าง ๆ ที่อยู่ในความควบคุมของกระทรวง ทบวง กรม หรือราชการส่วนท้องถิ่น รวมถึงครูอัตราจ้างด้วย แต่ครูไม่ได้รับการยกเว้นทุกคน ครูที่จะมีสิทธิได้รับการยกเว้นจะต้องเข้าลักษณะตามที่กำหนด ดังนี้

เป็นครูประจำทำการสอนนักเรียน นิสิต หรือนักศึกษา ไม่น้อยกว่า 15 คนเป็นปกติและในจำนวนนักเรียน นิสิต หรือนักศึกษาไม่น้อยกว่า 15 คนนี้ ยกเว้นครูได้คนเดียว หรือเป็นครูสอนประจำเฉพาะวิชาซึ่งทำการสอนนักเรียน นิสิต หรือนักศึกษาไม่น้อยกว่า 15 คนเป็นปกติ และในจำนวนนักเรียน นิสิต หรือนักศึกษาไม่น้อยกว่า 15 คนนี้ ก็ยกเว้นครูได้คนเดียวเช่นกัน

มีเวลาสอนสัปดาห์ละไม่น้อยกว่า 18 ชั่วโมง สำหรับครูซึ่งประจำทำการสอนในสถานศึกษาตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาลงมา หรือไม่น้อยกว่า 15 ชั่วโมง สำหรับครูซึ่งประจำทำการสอนในสถานศึกษาระดับสูงกว่ามัธยมศึกษา

วิธีการยกเว้นครู

ให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ส่งรายชื่อครูซึ่งจะได้รับการยกเว้นไปยังผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งครูผู้นั้นทำการสอนอยู่ในท้องที่ก่อนเดือนเมษายนของปีที่ถูกเรียกไม่น้อยกว่าหกสิบวัน เว้นแต่กรณีการย้ายไปประจำทำการสอนในสถานศึกษาอื่นนอกจากที่กำหนดไว้ในใบสำคัญยกเว้นครู ให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องส่งรายชื่อครูที่ย้ายมาประจำทำการสอนซึ่งจะได้รับ

การยกเว้นน้อยกว่า 60 วันได้ แต่ต้องก่อนการตรวจเลือกในจังหวัดที่เป็นภูมิลำเนาทหารของครูผู้นั้น

ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นผู้ออกใบสำคัญ ยกเว้นครูให้แก่ครูซึ่งทำการสอนอยู่ในท้องที่ แล้วแจ้งให้ผู้อำนวยการเขตหรือนายอำเภอท้องที่ที่เป็นภูมิลำเนาทหารของครูผู้นั้นทราบ

ถ้าครูผู้นั้นมีภูมิลำเนาทหารอยู่ในท้องที่จังหวัดอื่น ต้องแจ้งให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัดแห่งท้องที่ที่เป็นภูมิลำเนาทหารของครูผู้นั้นทราบ แล้วให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัดที่ได้รับแจ้งแจ้งให้ผู้อำนวยการเขตหรือนายอำเภอท้องที่ที่เป็นภูมิลำเนาทหารของครูผู้นั้นทราบอีกต่อหนึ่ง
ทั้งนี้ให้แจ้งต่อกันภายในกำหนด 30 วัน

ผู้ได้สัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ

- เป็นบุคคลที่ได้แปลงสัญชาติเป็นคนไทยตามกฎหมาย เจ้าหน้าที่จะทราบว่าเป็นบุคคลประเภทนี้ตั้งแต่ไปแสดงตนขอลงบัญชีทหารกองเกินแล้ว จะจัดการยกเว้นให้ทันทีโดยตัวไม่ต้องขอยกเว้นอีก

- บุคคลซึ่งได้รับโทษจำคุก โดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกครั้งเดียวตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไปหรือเคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกหลายครั้งรวมกันตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไปหรือเคยถูกศาลพิพากษาให้กักกัน

ข้อมูลอ้างอิง : 

อ่านข่าวอื่น ๆ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง