วันนี้ (2 เม.ย.2567) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงคมนาคม ว่า ปัญหาการจราจรติดขัดใน กทม.ชั้นใน รวมถึงจราจรหนาแน่นหน้าด่าน ทำให้ผู้ใช้ทางด่วนไม่ได้รับความสะดวกสบาย รวมถึงผู้ใช้ทางแบกรับค่าทางด่วนในอัตราที่สูง เนื่องจากปัจจุบันมีสัญญาสัมปทานบริหารทางพิเศษจำนวนมาก รวมทั้งยังมีด่านจัดเก็บค่าผ่านทางหลายจุดในเส้นทางต่อเนื่อง
ตนจึงได้สั่งการให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) หารือร่วมกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ไปหารือเพื่อช่วยลดปัญหาค่าครองชีพให้กับประชาชนผู้ใช้ทาง ด้วยการหาวิธีที่จะลดค่าทางด่วน หรือหากลดค่าทางด่วนแล้วกระทบต่อผู้รับสัมทาน ก็ให้พิจารณาขยายสัญญาสัมปทานจากเดิมออกไป เชื่อว่าภายใน 2 เดือนนี้จะได้ข้อสรุปเป็นรูปธรรม
ให้ไปดูว่าจะแก้ไขสัญญาได้หรือทำอย่างไร พยายามให้หาทางแก้ หากลดผู้รับสัมปทานรายได้จะลด อาจจะชดเชยด้วยการต่อสัญญาสัมปทาน เพราะเห็นใจผู้ใช้บริหารรับภาระทั้งค่าน้ำมัน และค่าทางด่วน ภายใน 2 เดือนน่าจะมีข่าวดี
ทั้งนี้ ปัจจุบันทางพิเศษพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่อยู่ภายใต้การดูแลของ กทพ. โดยมี 7 เส้นทาง แบ่งเป็น การบริหารโดย กทพ.รวม 4 เส้นทาง และการบริหารโดยสัญญาสัมปทาน บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) และบริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด (NECL) จำนวน 3 เส้นทาง ประกอบด้วย ทางพิเศษศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) ทางพิเศษประจิมรัถยา (ทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร) และทางพิเศษอุดรรัถยา (ทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด)
นอกจากนั้นในส่วนของการแก้ไขปัญหา ถนนพระราม 2 ที่มีการก่อสร้างล่าช้าในหลายๆ โครงการ สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากผู้รับเหมาขาดสภาพคล่อง และกรมทางหลวง (ทล.) จำกัดเวลาการก่อสร้างให้สร้างได้เฉพาะเวลากลางคืน ทำให้ผู้รับเหมามีต้นทุนสูง ดังนั้นเพื่อช่วยให้ผู้รับเหมาก่อสร้างถนนพระราม 2 แล้วเสร็จในปี 2568 จึงได้สั่งการให้ ทล.และ กทพ.ตั้งกำหนดตัวบุคคลให้มารับผิดชอบติดตามงานใน 14 สัญญาของถนนพระราม 2
ขณะเดียวกันได้ให้ ทล.เร่งจ่ายเงินค่าชดเชยการก่อสร้าง หรือค่าเคให้กับผู้รับเหมาที่มีการก่อสร้างในถนนพระราม 2 ซึ่งได้มีการอนุมัติวงเงินมากกว่า 1,592 ล้านบาท รวมถึงให้ทาง ทล. ช่วยเจรจากับธนาคารที่ปล่อยกู้ให้กับผู้รับเหมา
นายสุริยะ กล่าวอีกว่า หลังจากมีอุบัติจากการก่อสร้างและขณะที่ให้บริการของรถไฟฟ้าหลายครั้ง ดังนั้นเพื่อเป็นการกำกับนโยบายและบังคับการลงโทษให้มีประสิทธิภาพ ตนจึงได้สั่งการให้ ขร. ให้ส่งร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ.... กลับมายังกระทรวงคมนาคม เพื่อส่งไปยัง ครม.และรัฐสภาต่อไป
มั่นใจว่าหากเสนอตามขั้นตอนแล้ว จะมีผลบังคับใช้ได้ในต้นปี 2568 ซึ่งผลจากที่มี พ.ร.บ.รางฯ จะช่วยทำให้กระทรวงคมนาคมสามารถเข้าไปกำกับดูแลรถไฟฟ้าทั้งหมด รวมถึงสามารถมีบทลงโทษผู้ประกอบการรถไฟฟ้าได้ทันทีหากมีการกระทำผิด
สำหรับโครงการรถไฟฟ้ามหานครสายสีเหลือง ล่าสุดจะมีการประเมิน KPI ผู้ประกอบการเมื่อครบ 1 ปี โดยในเดือน ก.ค.นี้จะมีการประเมินตามสัญญา ซึ่งตามข้อการประเมินที่มีปัญหาเรื่องอุบัติเหตุในสัญญาระบุว่า กระทรวงคมนาคมมีการอุดหนุนผู้ประกอบการในปีหนึ่ง 2,500 ล้านบาท สามารถปรับได้ร้อยละ 5 หรือ 125 ล้านบาท โดยหากแก้ไขได้รัฐจะจ่ายคืนให้ตามสัญญา
อ่านข่าวอื่นๆ
ครม.อนุมัติวิ่งฟรีมอเตอร์เวย์หมายเลข 7 และ 9 เริ่ม 11-17 เม.ย.
"นายกรัฐมนตรี" ย้ำ 10 เม.ย.นี้ ชัดเจนเรื่องเงินดิจิทัลวอลเล็ต
ถือบัตรคนจน 2 ล้านใบ อย่าลืมเช็กเงื่อนไข ลงทะเบียนใช้"น้ำ-ไฟ"ฟรี