วันนี้ (5 เม.ย.2567) นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม เป็นประธานในพิธีเปิดใช้ท่าเรือท่าเตียน "ราชรถยิ้ม : ท่าเรือท่าเตียน สะดวก ปลอดภัย เชื่อมโยงศูนย์กลางการคมนาคม" สำหรับท่าเรือท่าเตียน ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวสู่วัดอรุณราชวราราม ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรม ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยา และยกระดับคุณภาพชีวิตให้คนไทย ตามนโยบาย "ราชรถยิ้ม" ของกระทรวงคมนาคม
นายกริชเพชร ชัยช่วย อธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวว่า จท. ได้บูรณาการร่วมกับสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกบริเวณท่าเรือท่าเตียนและพื้นที่ด้านหน้าอาคารสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ งบประมาณ 39.047 ล้านบาท โดยได้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเดิมออกทั้งหมดและก่อสร้างท่าเรือใหม่ทั้งเรือข้ามฟากและเรือโดยสาร ประกอบด้วย อาคารที่พักผู้โดยสาร จำนวน 2 หลัง โป๊ะเทียบเรือขนาด 6 x 12 เมตร จำนวน 4 โป๊ะ พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ ได้แก่ ป้ายบอกเส้นทางเดินเรือ ระบบเสียง กล้องวงจรปิด และทางลาดผู้พิการ
ส่วนการออกแบบสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิก ศิลปะแบบโรมันผสมคลาสสิก ตกแต่งปูนปั้นเหนือช่องหน้าต่างพร้อมตกแต่งบานหน้าต่างด้วยลูกฝัก และทาสีตัวอาคารตามหลักสถาปัตยกรรมที่อยู่ในเขตกรุงเก่า สามารถรองรับเรือต่าง ๆ อาทิ เรือข้ามฟากท่าเตียน ฝั่งท่าวัดอรุณราชวราราม ฝั่งธนบุรี เรือโดยสารสาธารณะ เรือด่วนเจ้าพระยา เรือไฟฟ้า เรือทัวร์ และเรือทั่วไป
แผนพัฒนา "ท่าเรือ" สู่ "สถานีเรือ" 29 ท่า
สำหรับแผนพัฒนาท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาให้เป็นสถานีเรือทั้งหมด 29 ท่า มีผลการดำเนินงานดังนี้
1. ท่าเรือที่ปรับปรุงแล้วเสร็จ จำนวน 10 ท่า ได้แก่ ท่าเรือ จท. ท่าเรือสะพานพุทธ ท่าเรือนนทบุรี ท่าเรือพายัพ ท่าเรือบางโพ ท่าเรือท่าช้าง ท่าเรือราชินี ท่าเรือท่าเตียน ท่าเรือสาทร และท่าเรือคลองสาน
2. ท่าเรือที่อยู่ระหว่างปรับปรุง จำนวน 5 ท่า ได้แก่ ท่าเรือพระปิ่นเกล้า ผลการดำเนินงาน 60% คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือนเมษายน 2567 ท่าเรือพระราม 5 ผลการดำเนินงาน 45% คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือนพฤษภาคม 2567
ท่าเรือปากเกร็ด ผลการดำเนินงาน 20% คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือนสิงหาคม 2567 ท่าเรือพระราม 7 ผลการดำเนินงาน 42% คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือนพฤศจิกายน 2567 และท่าเรือเกียกกาย ผลการดำเนินงาน 24% คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือนธันวาคม 2567
ทั้งนี้ เนื่องจากตำแหน่งก่อสร้างท่าเรือเกียกกายเป็นบริเวณเดียวกับตำแหน่งก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาของ กทม. เพื่อให้การก่อสร้างทั้ง 2 โครงการไม่กีดขวางกัน จึงมอบให้ กทม. ดำเนินการต่อ
3. ท่าเรือที่มีแผนพัฒนาปรับปรุงในปี 2568 จำนวน 4 ท่า ได้แก่ ท่าเรือโอเรียนเต็ล ท่าเรือเทเวศร์ ท่าเรือสะพานกรุงธน (ซังฮี้) และท่าเรือเขียวไข่กา
4. ท่าเรือที่มีแผนพัฒนาปรับปรุงในปี 2569 จำนวน 11 ท่า ได้แก่ ท่าเรือราชวงศ์ ท่าเรือวัดเทพากร ท่าเรือพิบูลสงคราม 2 ท่าเรือวัดเทพนารี ท่าเรือวัดตึก ท่าเรือรถไฟ ท่าเรือพิบูลสงคราม ท่าเรือสี่พระยา ท่าเรือวัดเขมา ท่าเรือพรานนก และท่าเรือวัดสร้อยทอง
ตั้งศูนย์อำนวยความปลอดภัยทางน้ำ สงกรานต์ 2567
รมช.คมนาคม กล่าวถึง มาตรการความปลอดภัยช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2567 โดยจัดตั้งศูนย์อำนวยความปลอดภัยทางน้ำทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค พร้อมจัดเจ้าหน้าที่รักษาการณ์ เรือตรวจการณ์ และรถยนต์ประจำศูนย์ฯ เพื่อปฏิบัติงานเข้มงวดกวดขัน ดูแลและตรวจตราการให้บริการเรือโดยสาร พร้อมตั้งจุดอำนวยความสะดวกและประชาสัมพันธ์ทางน้ำประจำท่าเทียบเรือที่มีประชาชนและนักท่องเที่ยวใช้บริการหนาแน่น
นอกจากนี้ กรมเจ้าท่า ได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางน้ำ ณ ศูนย์ปฏิบัติการควบคุมความปลอดภัยและการจราจรทางน้ำ จท. ตลอด 24 ชั่วโมง สำหรับส่วนภูมิภาคได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางน้ำส่วนภูมิภาค จำนวน 7 ศูนย์ ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางน้ำสาขา จำนวน 41 ศูนย์
และศูนย์ควบคุมการจราจรและความปลอดภัยทางทะเล ศรีราชา จำนวน 1 ศูนย์ โดยประสานการดำเนินงานร่วมกับกระทรวงคมนาคม กองทัพเรือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มูลนิธิร่วมกตัญญู โรงพยาบาล และหน่วยกู้ชีพ
พร้อมจัดเจ้าหน้าที่รักษาการณ์ 779 คน เรือรักษาการณ์ 57 ลำ รถยนต์ 108 คัน ประจำศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางน้ำเพื่อดูแลและตรวจตราการให้บริการเรือโดยสารบริเวณท่าเรือที่มีผู้ใช้บริการหนาแน่น และจัดตั้งจุดอำนวยความสะดวกและประชาสัมพันธ์ทางน้ำ ประจำท่าเรือที่มีผู้ใช้บริการหนาแน่น
ส่วนกลาง จำนวน 2 จุด ส่วนภูมิภาค จำนวน 77 จุด เพื่ออำนวยความสะดวก ให้คำแนะนำการเดินทาง ดูแลการขึ้น - ลงเรือ และตรวจตราสิ่งของต้องสงสัยหรือไม่น่าไว้วางใจบริเวณท่าเทียบเรือ
ทั้งนี้ ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ประจำท่าเทียบเรือประชาสัมพันธ์การสวมเสื้อชูชีพขณะเดินทางทางน้ำ และการปฏิบัติตนเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด ห้ามเรือบรรทุกผู้โดยสารเกินกว่าจำนวนที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตใช้เรือ ติดตั้งไฟส่องสว่างบริเวณท่าเทียบเรือและทางเดินขึ้น - ลงให้เพียงพอ
ส่วนในเรือต้องมีอุปกรณ์ประจำเรือ อาทิ ถังดับเพลิง พวงชูชีพสภาพพร้อมใช้งานเท่ากับจำนวนผู้โดยสาร ในส่วนท่าเทียบเรือต้องติดตั้งป้ายระบุจำนวนคนที่โป๊ะเทียบเรือ ผู้ควบคุมเรือห้ามดื่มสุราหรือของมึนเมา
อ่านข่าวอื่น ๆ
เปิดเส้นทางลอบขน "แคดเมียม" ตาก-สมุทรสาคร ใครอนุญาต?