ส้มตำปูปลาร้า ยังมีกลิ่นปลาร้าโชยแตะจมูก แต่โครงการน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรสร้างตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ยังไม่เคยได้กลิ่นของไอน้ำเลย
สุพาย แก้วขาว วัย 67 ปี เกษตรกร 1 ใน 30 คน ที่มีชื่อขอใช้ประโยชน์โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่ พื้นที่ 500 ไร่ บ้านนาหนองกอก ม.3 ต.นาซำ อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ บอกเล่าความหวังที่จะได้ใช้น้ำหล่อเลี้ยงต้นข้าว พริก มะเขือ ข้าวโพด ผ่านมา 4 ปี ไม่เคยมีน้ำซักหยดเดียวไหลมาถึง จนท่อที่เดินไปถึงพื้นที่ปลูกพืชผลทางการเกษตร 17 ไร่ กลายเป็นสิ่งแปลกปลอม และไร้ประโยชน์บนที่นาของเขา
สุพาย แก้วขาว
โครงการน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร แต่น้ำไปไม่ถึงเกษตรกร ตอนได้ยินข่าวว่าจะมีโครงการขุดเจาะน้ำบาดาล ชาวบ้านทุกคนก็ดีใจ ผมก็ดีใจ เพราะน้ำในสระที่บ้านแห้งเหลือนิดเดียว หากมีน้ำส่วนนี้มาจุนเจือ ให้ชาวบ้านแบ่งกัน ผลัดกันใช้คนละวันก็ได้ แต่สุดท้าย ชั่วโมงเดียวไม่มีน้ำไหลออกมาสักหยด
ปัจจุบันชาวบ้านที่นี่ต้องใช้น้ำประปาหมู่บ้าน ในการอุปโภคบริโภค และขุดสระรองรับน้ำฝน เพื่อใช้รดพืชผลการเกษตร รอเก็บเกี่ยวสร้างรายได้ หวังให้น้ำใช้มีเพียงพอให้ผ่านพ้นหน้าแล้งนี้ไปให้ได้
บุญธรรม ศรีเสือ
เช่นเดียวกับ "บุญธรรม ศรีเสือ" ชาวบ้านผู้บริจาคพื้นที่ตั้งบ่อบาดาล พร้อมแผงโซลาเซลล์ ทำการเกษตร 100 ไร่ ปลูกส้มโอ แตงโม พริก มะขาม ข้าวโพด และเคยทดลองนำพันธุ์ทุเรียนมาลง 20 ต้น สุดท้ายตายทั้งหมด สูญเงินลงทุน 10,000 บาท เพราะประสบปัญหาน้ำไม่เพียงพอ ใช้ได้เพียง 3 ไร่ เขาต้องขุดสระใช้เอง 2 บ่อ ทั้งที่ระยะบ่อบาดาลห่างจากพื้นที่เกษตร เพียง 40 เมตร แต่แผงโซลาเซลล์ติดเวลา 10.00-15.00 น. บางครั้งสูบน้ำขึ้นไม่เต็ม 2 บ่อ หรือไปไม่ถึงท่อที่เดินไว้ จึงต้องการให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หน่วยงานเจ้าของโครงการ เข้ามาซ่อมแซมให้ชาวบ้านได้ใช้น้ำอย่างทั่วถึง คุ้มกับงบประมาณลงทุน
ทุกวันนี้ ถังเหล็กสีเขียวขนาดใหญ่ 2 ถัง สูง 7 เมตร ยังตั้งตระหง่านบนเนินเขา รายล้อมด้วยพื้นที่ทางการเกษตร ทั้งไร่มันสำปะหลัง ข้าว ข้าวโพด พริก มะขามหวาน สภาพมีวัชพืช หญ้าปกคลุมอุปกรณ์และท่อน้ำ ใกล้กันมีแผงโซลาเซลล์ สายไฟถูกแมลงหมาร่าทำรังทิ้งไว้ เหมือนไร้การดูแล และไม่มีการใช้ประโยชน์บ่อบาดาลเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่แห่งนี้
สายไฟถูกแมลงหมาร่าทำรังทิ้งไว้
ชาวบ้านบ้านนาหนองกอก ให้ข้อมูลว่า หลังก่อสร้างบ่อบาดาล และมีโครงการเดินท่อน้ำไปยังพื้นที่การเกษตรของชาวบ้าน ระยะทางรวม 2.5 กิโลเมตร ตั้งแต่ปี 2563 คนในหมู่บ้านต่างรู้สึกดีใจ โดยร่วมกันลงขันครอบครัวละ 400-500 บาท ช่วยสนับสนุนวัตถุดิบทำอาหารเลี้ยงคนงานที่เข้ามาพัฒนาพื้นที่ ชาวบ้านมีน้ำใจให้เขา หวังได้ใช้น้ำ สุดท้ายฝันสลาย ไม่ได้อะไรเลย
เมื่อโครงการสร้างแล้วเสร็จแต่เปิดใช้งานไม่ได้ น้ำมาไม่ถึง จึงทำให้ชาวบ้านเริ่มแตกคอกัน เพราะทุกคนต่างเทใจ ระดมทุน และหวังจะได้น้ำจากโครงนี้หล่อเลี้ยงพื้นที่เกษตรกรรม ในขณะที่เจ้าของโครงการสร้างเสร็จแล้ว ไม่เคยกลับมาดูแล
สร้างแบบนี้ เหมือนเอางบประมาณมาทิ้งเฉย ๆ ไม่ได้ใช้ทำการเกษตร แม้แต่งานเดียวหรือสองงาน ไม่ต้องพูดถึง 500 ไร่
ล่าสุดช่วงต้นเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา มีการทำหนังสือไปยังสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 3 (สระบุรี) ให้เข้ามาแก้ปัญหา แต่ได้รับคำตอบว่า อาจเข้ามาตรวจสอบและซ่อมแซมได้ในช่วงเดือน ต.ค. 2567 ซึ่งเป็นไปตามวงรอบ อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ได้แจ้งปัญหาไปยังหน่วยงานนี้ทุก ๆ ปี ซึ่งโครงการหมดระยะประกันหลังก่อสร้างแล้วเสร็จ 2 ปี หรือตั้งแต่ปี 2565 ครั้นจะให้ชาวบ้านเรี่ยไรเงินซ่อมกันเองก็ไม่ไหว เพราะยังไม่เคยได้ใช้น้ำ ทุกวันนี้ทำนาต้องรอน้ำฝนอย่างเดียว บางคนลงทุนขุดสระ ถ้าไม่มีน้ำก็ไม่รู้จะบริหารจัดการอย่างไร
เดือดร้อน เดินท่อไว้หมดแล้ว เขามาทำให้เราดีใจว่าจะได้ใช้น้ำ สุดท้ายใช้ไม่ได้ หว่านไปแล้วหมดหวัง
เกษตรกรต่อท่อจากบ่อบาดาลมาลงพื้นที่เกษตร
"บาดาลเกษตรแปลงใหญ่นาซำ" ใช้ได้แค่ 3 ไร่
จากกรณีปัญหาที่เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 4 เม.ย.2567 นายสุภาพ ศิริ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ เขต 6 (ป.ป.ท.เขต 6) และทีมเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนสอบสวน ได้เข้าพบนายสาธิต สุทธิพันธ์ ปลัด อบต.นาซำ เพื่อขอตรวจสอบข้อมูลการส่งมอบโครงการบ่อบาดาล หลังก่อสร้างแล้วเสร็จว่า ทางสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 3 (สระบุรี) ได้มีการส่งมอบโครงการให้ อบต.นาซำ แล้วหรือไม่ เนื่องจากตามระเบียบแล้ว โครงการดังกล่าวจะถูกส่งมอบใน อบต.ดูแลและซ่อมบำรุง ในฐานะเจ้าของพื้นที่
นายสุภาพ กล่าวว่า การลงพื้นที่ตรวจสอบในวันนี้ พบว่า โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่ 500 ไร่ มีการขุดบ่อบาดาลทั้งหมด 4 บ่อ แต่ใช้ได้เพียง 1 บ่อ ส่วนอีก 1 บ่อน้ำรั่วไหล และอีก 2 บ่อใช้น้ำไม่ได้เลย โดยยังไม่แน่ชัดมีการขุดเจาะลงไปลึกเพียงใด และใต้พื้นดินมีปริมาณน้ำเท่าใด จึงต้องตรวจสอบต่อไป
ป.ป.ท.จะดูโครงการให้ละเอียดว่าที่แจ้งให้หน่วยต้นสังกัดแก้ไขให้บ่อบาดาลใช้การได้ตามวัตถุประสงค์โครงการ ซึ่งไว้หรูว่าช่วยเกษตรกร 500 ไร่ จริง ๆ แล้วใช้ได้ตั้งแต่ต้นหรือไม่ เพราะชาวบ้านบอกว่าตั้งแต่สร้างเสร็จไม่สามารถใช้การได้
เจ้าหน้าที่รายงานว่า โครงการขุดเจาะน้ำบาดาลในพื้นที่เพชรบูรณ์ มีทั้งหมด 16 โครงการ แต่ใช้ประโยชน์ได้จริง 13 โครงการ และอีก 3 โครงการใช้ไม่ได้เลย สำหรับโครงการนี้ ป.ป.ท.เขต 6 เคยเข้ามาตรวจสอบในปี 2564 หลังโครงการแล้วเสร็จ พบว่า ไม่สามารถใช้งานได้ และในปี 2567 ได้เข้ามาตรวจสอบซ้ำ ก็ยังพบว่าไม่สามารถใช้งานได้อีกเช่นกัน หรือหมายความว่า ตลอดระยะเวลา 4 ปี ชาวบ้านไม่เคยได้ใช้น้ำจากโครงการดังกล่าวแม้แต่หยดเดียว
อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามเจ้าของที่ดิน ในฐานะผู้บริจาคพื้นที่ให้ก่อสร้างบ่อบาดาลดังกล่าว บอกว่า ได้ใช้ประโยชน์จากน้ำเพื่อปลูกผักเพียง 3 ไร่ จากที่ดินของตนเอง 100 ไร่ หรือสรุปว่าใช้น้ำได้บ้างไม่ได้บ้าง ซึ่งแนวทางแก้ไขเมื่อปลัด อบต.นาซำ รับทราบปัญหาแล้ว จะต้องแจ้งต่อสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 3 (สระบุรี) ในฐานะเจ้าของโครงการ ว่าจะมีแนวทางปรับปรุงแก้ไขอย่างไร เพื่อให้เกษตรกรสามารถใช้น้ำได้ตามวัตถุประสงค์
แต่หากพบว่าโครงการส่อทุจริต จะส่งสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบเรื่องการใช้งบประมาณ และการก่อสร้างถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ เนื่องจากจุดที่สร้างอยู่ในพื้นที่สูง อาจขุดเจาะดินลงไปไม่ลึกเพียงพอ ทำให้ไม่มีน้ำขึ้น
ปลัด อบต.นาซำ และ ผอ.ป.ป.ท.เขต 6 ตรวจสอบพื้นที่โครงการ
นายสุภาพ กล่าวว่า โครงการลักษณะเป็นเกษตรแปลงใหญ่ หรือโครงการขุดบ่อน้ำบาลเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ทั่วประเทศใช้งบประมาณรวมเป็นหมื่นล้านบาท โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาลเป็นผู้ขุดเจาะ มีโซลาเซลล์ คุรุภัณฑ์ประกอบจำนวนมาก ซึ่งการบริหารจัดการตามมาตรา 8 พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและบริหารวัสดุปี 2560 องค์ประกอบ คือ ต้องโปร่งใส คุ้มค่า มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลและตรวจสอบได้ ในความคุ้มค่า ระบุว่า วัสดุต้องมีคุณภาพ ตอบสนองวัตถุประสงค์ และมีแผนบริหารพัสดุที่เหมาะสมอย่างชัดเจน โดยเฉพาะแผงโซลาเซลล์ที่ผลิตไฟต่อไปยังปั๊มบาดาล คือ เมื่อก่อสร้างเสร็จจะต้องมีการบำรุงรักษาหลังส่งมอบงานแล้ว
เบื้องต้นจากการตรวจสอบเอกสารของ ป.ป.ท.เขต 6 พบว่า โครงการเพื่อเตรียมการรับมือ บรรเทาปัญหาน้ำท่วม และเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บในฤดูฝน ประจำปีงบประมาณ 2563 งบประมาณจำนวน 10,232,100 บาท ถูกส่งมอบให้กับ อบต.นาซำ ผู้รับผิดชอบในพื้นที่บ้านนาหนองกอก ม.3 ต.นาซำ อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ โดยมีการระบุพัสดุครุภัณฑ์ เช่นบ่อน้ำดาล 4 บ่อ ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ หรือแผงโซลาเซลล์ ห่อถังเก็บ เครื่องปั้นไฟฟ้า ท่อกระจายน้ำ และจุดจ่ายน้ำ รวมทั้งป้ายโครงการ
นายนนทพัฒน์ สิงห์ประยูร หัวหน้าคณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการส่งเสริมธรรมาภิบาลต่อต้านการทุจริต ป.ป.ท.เขต 6 กล่าวว่า ป.ป.ท.ได้ขอเอกสารการดำเนินโครงการทั้งหมดว่ามีผู้ใดเกี่ยวข้องบ้าง มีการเซ็นรับมอบโครงการตั้งแต่เมื่อใด โดยรอให้ อบต.ส่งกลับมาภายใน 15 วัน เพื่อตรวจสอบว่ามีขั้นตอนใดไม่ถูกต้องหรือไม่ หากส่อไปในทางทุจริตจะส่งให้ ป.ป.ช.ดำเนินการสอบต่อไป
รวมทั้งสอบถามจากชาวบ้านว่าได้ใช้ประโยชน์จริงหรือไม่ ซึ่งงบฯ โครงการลักษณะนี้ มักอ้างว่าดำเนินการเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน แต่สุดท้ายไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรเลย เหมือนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ
ขณะที่นายสาธิต ชี้แจงว่า ตนเองเพิ่งย้ายมารับตำแหน่งปลัด อบต.นาซำ เมื่อวันที่ 1 ต.ค.2564 และรับผิดชอบโครงการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขุดเจาะน้ำบาดาล ตั้งแต่ปี 2565-2566 รวม 16 โครงการ ซึ่งเป็นช่วงรอยต่อที่ตนเองเพิ่งเข้ามารับตำแหน่ง และไม่เคยมีชาวบ้านเข้ามาร้องเรียนว่ามีปัญหาน้ำบาดาลไม่ไหล หรือใช้ในพื้นที่การเกษตรไม่ได้ อย่างไรก็ตาม
ผู้ใหญ่บ้านนำเครื่องปั้นไฟไปเก็บไว้ กังวลถูกขโมย
จากการตรวจสอบเบื้องต้น นายแปลง ภูปะศรี ผู้ใหญ่บ้าน ม.3 ต.นาซำ อ.หล่มเก่า แจ้งว่า ได้ให้ไปถอดเครื่องปั้นไฟทั้ง 4 เครื่อง มาเก็บไว้ที่บ้านผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เนื่องจากเกรงว่าจะถูกขโมยไป และไม่ทราบว่าจะต้องส่งมอบให้ อบต.เป็นผู้ดูแล ส่วนปัญหาน้ำบาดาลที่ไหลไปไม่ถึงพื้นที่การเกษตรแปลงที่ชื่อขอใช้น้ำนั้น ผู้ใหญ่บ้านฯ อ้างว่า เจ้าของที่ดินที่บริจาคพื้นที่ให้ตั้งบ่อบาดาล เก็บน้ำไว้ใช้เพียงคนเดียว
ปลัด อบต.นาซำ คาดว่า จะตรวจสอบเอกสารการส่งมอบโครงการโดยละเอียด รวมถึงการลงทะเบียนทรัพย์สิน ภายใน 3 วัน รวมทั้งดูว่า อบต.มีศักยภาพและงบประมาณเพียงพอดูแลโครงการนี้หรือไม่ หากไม่สามารถดำเนินการได้ก็จะส่งข้อมูลผ่านอำเภอหล่มเก่า และจังหวัดเพชรบูรณ์ รวมถึงประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
ต้องตรวจสอบว่า อบต.มีการลงบัญชีควบคุมทะเบียนสินทรัพย์ดังกล่าวหรือไม่ เบื้องต้นตั้งแต่ปี 2564-ปัจจุบัน ยังไม่มีการส่งสินทรัพย์มาไว้ในความดูแล อบต.
โครงการงบกลางขุดเจาะบ่อบาดาลปี 2563 จ.เพชรบูรณ์ พบว่า มีหลายโครงการ เช่น โครงการขุดลอกและโครงการก่อสร้างฝายน้ำล้นคอนกรีต, โครงการสำรวจและพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อเสริมแหล่งน้ำดิบ และโครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่ พื้นที่ 300 ไร่ โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่ 500 ไร่ โดย 2 โครงการหลังนี้ อยู่ในความรับผิดชอบของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ทั่วประเทศมีจำนวน 1,438 โครงการ วงเงินงบประมาณ 156,824,738 บาท ราคาที่เสนอ 155,821,334 บาท ร้อยละ 0.6
โครงการพัฒนาน้ำบาดาลฯ บ้านห้วยข่อย ใช้ได้เพียง 1 บ่อ
ทีมข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ ลงพื้นที่สุ่มตรวจสอบ 4 โครงการเกษตรแปลงใหญ่ 300 ไร่ และ 500 ไร่ ใน 3 อำเภอ จ.เพชรบูรณ์ ประกอบด้วย อ.หล่มเก่า อ.ชนแดน อ.หนองไผ่ พบว่า โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่ พื้นที่ 300 ไร่ ที่บ้านห้วยข่อย ม.16 ต.ศิลา ซึ่งเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด มะขามหวาน มันสำปะหลัง ระบุว่า ใช้น้ำจากบ่อบาดาลได้เพียง 1 ตัว ส่วนอีก 1 ตัวน้ำไม่ขึ้น ทำให้ชาวบ้านบางคนตัดสินใจไม่ต่อท่อใช้งาน เพราะกลัวไม่คุ้มค่า
ขณะที่โครงการเดียวกันในพื้นที่บ้านซับชมภู ม.8 ต.บ้านโภชน์ อ.หนองไผ่ พบปัญหาน้ำจากโครง การฯเอ่อล้นไหลท่วมพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง ไร่ข้าวโพด โดยชาวบ้านที่ใช้ประโยชน์จากน้ำบาดาลส่วนใหญ่เป็นคนที่อยู่ใกล้พื้นที่โครงการ แต่บางส่วนใช้น้ำจากสระภายในพื้นที่เกษตรของตนเอง
เจ้าหน้าที่ ป.ป.ท.เขต6 สอบถามการใช้ประโยชน์น้ำบาดาลจากเกษตรกร
ข้อมูลจาก ป.ป.ท. พบว่า ภาพรวมในพื้นที่ภาค 6 ประกอบด้วย จ.พิษณุโลก, เพชรบูรณ์, พิจิตร, สุโขทัย, อุตรดิตถ์, กำแพงเพชร, นครสวรรค์, อุทัยธานี, ตาก มีการขุดเจาะน้ำบาดาลใช้ในพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ อยู่ในความรับผิดชอบของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล แต่เมื่อลงไปตรวจสอบแล้ว พบว่าโครงการฯ บางส่วน ใช้การไม่ได้ มีปัญหาต้นไม้ขึ้นปกคลุมทำให้แผงโซลาเซลล์ใช้งานไม่ได้ เครื่องสูบน้ำไม่ทำงาน หรือถูกถอดออกไป เพราะไม่มีคนเฝ้า
ส่วนท่อที่หย่อนลงไปดูดน้ำมีความลึกไม่เพียงพอ สร้างเสร็จแล้วใช้การไม่ได้ ซึ่งกรมทรัพยากรน้ำบาดาล อ้างว่าส่งมอบให้ท้องถิ่นดูแลแล้ว ขณะที่ทางท้องถิ่นระบุว่า ไม่ได้รับการประสานมาก่อน กระทั่งโครงการสร้างเสร็จ จึงต้องเสนอให้คณะกรรมการจังหวัด เป็นผู้พิจารณาการโอนระหว่างหน่วยงาน เพื่อตั้งงบประมาณซ่อมบำรุง กลายเป็นปัญหาค้างคา และขาดการอบรมให้ความรู้บุคลากรในการดูแล
ผ่างบ 8 หน่วยงาน 3.3 แสนล้าน ทุ่มแก้แล้งปี 66
ข้อมูลจากกระทรวงมหาดไทย ระบุว่า ภายหลังที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 1/2565 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เป็นประธาน เห็นชอบให้ปรับปรุงสถานะใหม่ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 เฉพาะโครงการที่มีความพร้อมดำเนินการ ของ 28 หน่วยงาน 77 จังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีจำนวน 59,334 รายการ วงเงิน 334,970 ล้านบาท
ทั้งนี้ 28 หน่วยงาน แบ่งเป็นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 15,852 โครงการ วงเงิน 158,921 ล้านบาท เฉพาะ “กรมชลประทาน” มีโครงการรับผิดชอบ 12,525 โครงการ วงเงิน 152,368 ล้านบาท, กองทัพบก กระทรวงกลาโหม มีโครงการเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำ 133 โครงการ วงเงิน 1,264 ล้านบาท ส่วนใหญ่เกี่ยวกับโครงการขุดเจาะน้ำบาดาลและโครงการขุดบ่อน้ำรับภัยแล้ง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม ขอจัดสรร 29 โครงการ วงเงิน 645 ล้านบาท กระทรวงคมนาคม 61 โครงการ วงเงิน 6,274 ล้านบาท, กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 5 โครงการ วงเงิน 398 ล้านบาท, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) 20,971 โครงการ วงเงิน 22,170 ล้านบาท เฉพาะกรมทรัพยากรน้ำ 898 โครงการ วงเงิน 14,696 ล้านบาท
กระทรวงมหาดไทย 21,906 โครงการ วงเงิน 138,941 ล้านบาท ที่น่าสนใจมีโครงการในกรมโยธาธิการและผังเมือง 1,426 โครงการ วงเงิน 61,660 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการระดับจังหวัด 4,388 โครงการ วงเงิน 15,342.8405 ล้านบาท เมืองพัทยา 3 โครงการ วงเงิน 23.4552 ล้านบาท
กรุงเทพมหานคร 31 โครงการ วงเงิน 22,566.3256 ล้านบาท และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 15,069 โครงการ วงเงิน 29,514.8591 ล้านบาท กระทรวงสาธารณสุข 2 โครงการ วงเงิน 25 ล้านบาท สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี 77 โครงการ วงเงิน 2,135 ล้านบาท
โครงการฯ ในพื้นที่บ้านซับชมภู มีน้ำเอ่อล้นท่วมพื้นที่ทางการเกษตร