ท่ามกลางเสียงเรียกร้องให้อิสราเอลใช้ความอดทนอดกลั้นเพื่อเลี่ยงไม่ให้ความขัดแย้งขยายวงจนกลายเป็นสงครามภูมิภาค เฮอร์เซ ฮาเลวี ประธานคณะเสนาธิการกองทัพอิสราเอล ประกาศว่า อิหร่านจะต้องเผชิญผลจากการโจมตีล้างแค้นอิสราเอล โดยยังไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดของกระบวนการหรือกรอบเวลา ท่ามกลางความกังวลของประชาคมโลกถึงการตอบโต้ในครั้งนี้
ขณะที่คณะรัฐมนตรีสงครามอิสราเอลจัดการประชุมฉุกเฉินอีกรอบเพื่อหารือถึงการวางแนวทางการตอบโต้การโจมตีของอิหร่าน อิสราเอลจะต้องพิจารณา 2 ปัจจัยสำคัญในการตอบโต้อิหร่านครอบคลุมท่าทีของสหรัฐฯ และความเสี่ยงในการเปิดแนวรบใหม่
- การโจมตีจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ทั้งเป้าหมายทางการทหาร และ ระบบโครงสร้างพื้นฐาน วิธีนี้อาจนำไปสู่สงครามเต็มรูปแบบในตะวันออกกลาง แม้ว่ากลุ่มชนชั้นนำอิสราเอลสายอนุรักษ์นิยมจะสนับสนุน
- การโจมตีทางไซเบอร์อิหร่านและกองกำลังตัวแทน หรือ การโจมตีสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับอิหร่านในต่างประเทศ แนวทางนี้อาจสร้างความกระอักกระอ่วนใจในการชี้นิ้วไปยังอิสราเอล เนื่องจากการกระทำดังกล่าวย่อมเปิดแผลความเพลี่ยงพล้ำ
เฮอร์เซ ฮาเลวี ประธานคณะเสนาธิการกองทัพอิสราเอล
เปิดสงครามอิหร่าน-ผลเสียอิสราเอล
อิสราเอลอาจถือแต้มต่อเหนืออิหร่านหาก 2 ประเทศเข้าสู่สงคราม เพราะอิสราเอลเตรียมพร้อมรับมือสงครามหลายแนวรบมานาน แต่การกระโจนร่วมวงสงครามของกลุ่มเฮซบอลเลาะห์ในเลบานอนอาจกลายเป็นภัยคุกคามร้ายแรงที่สุดของอิสราเอลในรอบ 50 ปี
สงครามภูมิภาคต้องใช้เครื่องกระสุนและระบบป้องกันภัยทางอากาศ ขณะที่อิสราเอลเผชิญปัญหาขาดแคลนเครื่องกระสุนในกาซา ซึ่งหากอิหร่านและกองกำลังตัวแทนโจมตีแบบไม่แจ้งเตือนล่วงหน้า อาจทำให้ระบบป้องกันภัยทางอากาศของอิสราเอลรองรับไม่ไหว
ขณะที่อิหร่านแสดงจุดยืนไม่ต้องการมีส่วนร่วมกับความขัดแย้ง เนื่องจากเศรษฐกิจอิหร่านได้รับผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตร ส่วนการโจมตีอิสราเอลโดยตรงครั้งแรกเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (14 เม.ย.2567) เป็นเพียงการใช้สิทธิป้องกันตนเองตามมาตรา 51 ของกฎบัตรยูเอ็น
ไพ่ทุกใบในมือของอิสราเอล เต็มไปด้วยความสุ่มเสี่ยงทั้งสิ้น สะท้อนให้เห็นจากการส่งสัญญาณเตือนของรัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่าน
ภาพโปสเตอร์มิสไซล์อิหร่าน
"ไบเดน" วอนอิสราเอลชั่งใจ เลี่ยงขยายวงสงคราม
ความกังวลของสหรัฐฯ และชาติตะวันตกเกี่ยวกับการตอบโต้ สะท้อนให้เห็นจากบทสนทนาระหว่างผู้นำสหรัฐฯ กับผู้นำอิสราเอล ที่ผู้นำสหรัฐฯ ย้ำจุดยืนไม่เข้าร่วมในปฏิบัติการโจมตีตอบโต้อิหร่านแม้ว่าสหรัฐฯ จะสนับสนุนการปกป้องความมั่นคงของอิสราเอล นอกจากนี้ยังร้องขอให้อิสราเอลพิจารณาการตอบโต้อย่างระมัดระวังเพื่อป้องกันไม่ให้ความขัดแย้งลุกลามบานปลายขยายวงได้
ไบเดนคงไม่ต้องการให้สหรัฐฯ ถูกดึงเข้าสู่สงครามในตะวันออกกลางในช่วงก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีวันที่ 5 พ.ย. ที่จะถึงนี้
ด้าน เบนจามิน เนทันยาฮู นายกฯ อิสราเอล เผชิญแรงกดดันรอบด้านเนื่องจากทุกแนวทางตอบโต้ต่างสั่นคลอนเสถียรภาพทั้งสิ้น
โจ ไบเดน ขณะขึ้นปราศรัยหาเสียง
มอง "จอร์แดน" กลางความขัดแย้ง อิหร่าน-อิสราเอล
ชาติอาหรับที่ออกมาช่วยอิสราเอลอาจจะถูกดึงให้เข้ามามีส่วนร่วมในความขัดแย้งระหว่างอิหร่านกับอิสราเอล โดยไม่เต็มใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "จอร์แดน" ซึ่งอิหร่านแสดงความไม่พอใจอย่างมาก
เนื่องจากจอร์แดนช่วยยิงสกัดโดรนและขีปนาวุธที่อิหร่านเล็งเป้าไปที่อิสราเอล แม้จอร์แดนยืนยันว่าเป้าหมายที่ทำแบบนั้นไปก็เพื่อปกป้องตัวเอง แต่เรื่องนี้ก็ทำให้อิหร่านตั้งคำถามว่าสรุปแล้วจอร์แดนอยู่ข้างใครกันแน่ ?
สาเหตุที่ชาติอาหรับออกมาช่วยสกัดโดรนและขีปนาวุธของอิหร่าน ที่พุ่งเป้าโจมตีอิสราเอลเมื่อวันที่ 14 เม.ย. ที่ผ่านมา ต้นเรื่องมาจากการประสานงานของรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งเตรียมความพร้อมรับมือการโจมตีของอิหร่าน ตั้งแต่ต้นเดือนที่ผ่านมา เนื่องจากอิหร่านประกาศชัดเจนว่าจะตอบโต้อิสราเอลที่โจมตีสถานกงสุลของอิหร่านในซีเรีย
ดังนั้นสหรัฐฯ จึงสื่อสารกับพันธมิตรที่มีสรรพกำลังอยู่ในตะวันออกกลาง รวมถึงพันธมิตรอาหรับ ให้เตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับการโจมตีในครั้งนี้ ซึ่งก่อนที่อิหร่านจะลงมือ ได้แจ้งเตือนประเทศใกล้เคียงล่วงหน้า 72 ชั่วโมง ก่อนเริ่มปฏิบัติการ จึงไม่น่าแปลกใจที่อิสราเอลได้รับความเสียหายจากการโจมตีของอิหร่านน้อยมาก โดยไม่มีผู้เสียชีวิตแม้แต่รายเดียว
ประเทศที่ช่วยอิสราเอลสกัดการโจมตีจากอิหร่านในครั้งนี้ มีทั้งการช่วยเหลือแบบทางตรง คือ ยิงสกัดโดรนและขีปนาวุธ ซึ่งประกอบไปด้วยสหรัฐฯ และอังกฤษ รวมถึงจอร์แดน ในขณะที่ฝรั่งเศสและซาอุดีอาระเบีย ให้การช่วยเหลือแบบทางอ้อม ได้แก่ การติดตามวิถีการยิงของอิหร่านและสนับสนุนข้อมูลเหล่านี้ให้พันธมิตร รวมถึงยอมให้เครื่องบินรบของพันธมิตรแวะเติมน้ำมันได้
ชายแดนประเทศจอร์แดน
ความร่วมมือของชาติตะวันตกและซาอุดีอาระเบียที่ช่วยปกป้องอิสราเอลไม่ใช่เรื่องน่าแปลก เพราะจุดยืนของประเทศเหล่านี้ชัดเจนมาตั้งแต่แรก
แต่สำหรับจอร์แดนที่ยิงสกัดโดรนและขีปนาวุธของอิหร่าน สร้างความประหลาดใจให้กับหลายฝ่าย โดยเฉพาะอิหร่านที่ออกอาการไม่พอใจอย่างมากและตั้งคำถามว่าจอร์แดนอยู่ข้างไหนกันแน่ ?
ประเด็นนี้ทำให้รัฐบาลจอร์แดนต้องออกมาชี้แจงและยืนยันว่าการยิงสกัดโดรนและขีปนาวุธของอิหร่าน เป็นไปเพื่อปกป้องประเทศและพลเมือง เนื่องจากพิจารณาว่าโดรนที่รุกล้ำน่านฟ้าของจอร์แดนคือภัยคุกคาม ดังนั้นไม่ว่าภัยคุกคามนี้จะมาจากอิหร่านหรืออิสราเอล จอร์แดนก็จะจัดการด้วยวิธีเดียวกัน
อย่าดึงจอร์แดนเข้าไปอยู่ตรงกลางความขัดแย้งระหว่างอิหร่านและอิสราเอล
ก่อนหน้านี้กระทรวงการต่างประเทศจอร์แดนได้เรียกเอกอัครราชทูตอิหร่านเข้าพบเพื่อแสดงความไม่พอใจ กรณีที่สื่อของทางการอิหร่านตั้งคำถามถึงจุดยืนของจอร์แดนว่าอยู่ข้างไหนกันแน่
จอร์แดนตกเป็นจำเลย ?
เหตุผลเพราะว่าจอร์แดนเป็นประเทศที่ให้การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมกับชาวปาเลสไตน์อย่างมาก จอร์แดนเป็นประเทศที่รับชาวปาเลสไตน์พลัดถิ่นมากที่สุด โดย 1 ใน 5 ของคนที่อยู่ในจอร์แดน มีเชื้อสายปาเลสไตน์ ตัวเลขอย่างเป็นทางการระบุว่ามีชาวปาเลสไตน์พลัดถิ่นอยู่ในจอร์แดนมากกว่า 2,300,000 คน แต่คาดว่าในความเป็นจริงตัวเลขมีมากกว่านี้ ประเทศที่รับผู้อพยพชาวปาเลสไตน์รองลงมา คือ
- ซีเรีย 584,000 คน
- เลบานอน 491,000 คน
ซึ่งในส่วนของซีเรียและเลบานอน มีกองกำลังติดอาวุธที่อิหร่านให้การสนับสนุนอยู่ ดังนั้น 2 ประเทศนี้ จึงถูกใช้เป็นฐานในการโจมตีอิสราเอล ซึ่งแตกต่างจากจอร์แดนที่เป็นพันธมิตรที่เหนียวแน่นของสหรัฐฯ
การกระทำของจอร์แดนในครั้งนี้ สร้างความไม่พอใจทั้งกับประชาชนในประเทศและชาวอิหร่าน ซึ่งในช่วงก่อนหน้านี้มีการเผยแพร่ข่าวว่าเจ้าหญิงซัลมา พระราชธิดาในสมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลลาห์ที่ 2 ซึ่งเป็นนักบินของกองทัพจอร์แดน ทรงขับเครื่องบินรบและยิงโดรนของอิหร่านไป 6 ลำ
เจ้าหญิงซัลมา นักบินของกองทัพจอร์แดน พระราชธิดาในสมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลลาห์ที่ 2
ซึ่งในเวลาต่อมามีการยืนยันว่าเรื่องนี้เป็นข่าวปลอมและภาพที่ถูกนำมาใช้เป็นภาพที่พระองค์ทรงขับเครื่องบินเพื่อหย่อนความช่วยเหลือไปให้ประชาชนในกาซาในภารกิจด้านมนุษยธรรม ในสื่อสังคมออนไลน์มีการแสดงความเห็นว่าจอร์แดนใช้เรื่องการป้องกันตัวเองเป็นข้ออ้าง เพราะจอร์แดนสามารถเลือกที่จะอยู่นิ่งๆ ก็ได้ เพราะมีบางประเทศอย่างคูเวตและกาตาร์ที่ปฏิเสธคำร้องขอของสหรัฐฯ ที่ต้องการให้ช่วยเหลืออิสราเอลทางอ้อม
สิ่งที่น่ากังวล คือ อิหร่านอาจใช้เรื่องนี้บังคับให้จอร์แดนต้องเลือกข้าง หากไม่อยู่ข้างอิหร่านก็ต้องอยู่ข้างศัตรู ซึ่งอาจจะทำให้จอร์แดนเข้ามาอยู่ในวังวนความขัดแย้งระหว่างอิหร่านกับอิสราเอลอย่างเต็มตัว
อ่านข่าวเพิ่ม :
- เพราะอิสราเอลคือ "มะเร็ง" อิหร่านเปลี่ยนความคิด "พันธมิตรสู่ศัตรู"
- อิหร่าน-อิสราเอล ทำตลาดทองผันผวน โลกจับตา "เนทันยาฮู" เอาคืนหรือไม่
- "อิหร่าน" ขู่โจมตีระลอกใหม่หาก "อิสราเอล" คิดตอบโต้