- เช็กเงื่อนไข คุณสมบัติ ครอบครัวอุปถัมภ์ผู้สูงอายุ รับ 3,000 บาท/เดือน
- อิสราเอลโจมตีกลับ! อิหร่านยิงสกัด-สั่งปิดน่านฟ้า
วันนี้ (19 เม.ย.2567) กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงข่าวการค้นพบ “ผึ้งหลวงหิมาลัย” ซึ่งเป็นรายงานครั้งแรกที่พบตัวในประเทศไทย โดยคณะนักวิจัย ได้แก่ นายอิสราพงษ์ วรผาบ นักกีฏวิทยาชำนาญการ กรมอุทยานฯ นายนนธวัช ฉัตรธนบูรณ์ ดร.ชวธัช ธนูสิงห์ และ ผศ.ดร.ณัฐพจน์ วาฤทธิ์ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ที่ได้ร่วมศึกษาผึ้งหลวงหิมาลัย ซึ่งเป็นผึ้งที่เคยมีรายงานพบเฉพาะในแนวเทือกเขาหิมาลัยของเนปาลและอินเดียเท่านั้น
นายอิสราพงษ์ กล่าวว่า ทีมวิจัยได้ไปสำรวจและติดตามประชากรผีเสื้อไกเซอร์อิมพีเรียล ซึ่งอยู่ในบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองของไทย ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก จ.เชียงใหม่ โดยยังพบเรื่องน่าสนใจว่าผีเสื้อไกเซอร์อิมพีเรียลมีลักษณะ 2 เพศในตัวเดียวกัน ซึ่งมีโอกาสยากมากที่จะเกิดขึ้น
นายอิสราพงษ์ กล่าวอีกว่า แต่ในระหว่างการสำรวจยังพบผึ้งลักษณะคล้ายผึ้งหลวงบินจากหน้าผา และก่อนจะลงไปรัง ผึ้งตัวดังกล่าวเกาะบนใบไม้และทำความสะอาดตัวเอง ครั้งแรกคิดว่าเป็นผึ้งหลวงที่พบในไทย และพบว่าบินอยู่หลายตัว จึงถ่ายภาพมาและวิเคราะห์เบื้องต้น ทำให้เห็นผึ้งตัวนี้มีความต่างคือลำตัวมีสีดำ จึงเก็บตัวอย่างกลับมา 3 ตัวอย่าง
เบื้องต้นสันนิษฐานว่ามีความเป็นไปได้จะเป็นผึ้งหลวงหิมาลัย ที่อาศัยแถวเทือกเขาหิมาลัย จึงทำโครงการวิจัยสำรวจว่าผึ้งชนิดนี้อาศัยในไทยหรือแค่บินผ่านมาเฉยๆ
นายอิสราพงษ์ กล่าวอีกว่า จากนั้นได้ลงพื้นที่สอบถามชาวบ้านและพบว่ามีผึ้งหลวงหิมาลัยบินลงหน้าผาไป ทีมวิจัยสังเกตและติดตามและลงไปสำรวจจนพบรังผึ้งตรงชะง่อนผาหินแนวตั้งถึง 8 รัง ตอนนั้นเจอแค่จุดเดียว พบความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,000 เมตร บนดอยผ้าห่มปก จ.เชียงใหม่
ชี้สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนอาจส่งผลต่อประชากร
ด้าน ผศ.ดร.ณัฐพจน์ กล่าวว่า หลังจากนำตัวอย่างมาจำแนกจึงยืนยันว่าเป็นผึ้งหลวงหิมาลัยจริงๆ และถือเป็นรายงานแรกที่พบผึ้งชนิดนี้อาศัยในไทยที่ดอยผ้าห่มปก เนื่องจากผึ้งกลุ่มนี้อาศัยในพื้นที่หนาวเย็น
ลักษณะที่แตกต่างคือผึ้งมีร่างกายสีดำ มีขนสีเหลืองทองปกคลุมส่วนอก และส่วนต้นของปล้องท้องปล้องแรก และทำรังบนชะง่อนผาทำให้ชื่อที่คนเรียกทั่วไปจึงเรียกว่า ผึ้งหิน หรือผึ้งหน้าผาสูง
ผศ.ดร.ณัฐพจน์ กล่าวอีกว่า สิ่งที่ประหลาดใจคือ ผึ้งหลวงหิมาลัย อพยพมาอยู่บนชะง่อนผาสูงบนดอยผ้าห่มปก ที่ความสูง 2,285 เมตร จากระดับน้ำทะเล แต่บินอพยพมาไกลมากห่างจากจุดเดิมของเมียนมา จีน และลาวถึง 240 กม. โดยการสำรวจปี 2565 เจอการรวมกลุ่มตั้งแต่ มี.ค.และจะทิ้งรังในเดือน ก.ค.จากนั้นในปี 2566 ทางกรมอุทยานฯ กลับไปสำรวจและพบว่ามันกลับมาทำรังที่เดิม นั่นหมายถึงมันอพยพมาในช่วงหน้าฝน
"สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือถ้าอุณหภูมิสูงขึ้นกระทบต่อการดำรงชีวิตที่ดอยผ้า ห่มปกหรือไม่ รวมทั้งกระทบต่อการผลิตน้ำผึ้งหรือไม่ เพราะพบว่าน้ำผึ้งจากผึ้งหลวงหิมาลัยมีน้ำหวานจากดอกกุหลาบพันปี ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศถ้าอุณหภูมิสูง มันอาจจะไม่อพยพมาในจุดนี้อีก"
นักวิชาการ กล่าวว่า คุณสมบัติของน้ำผึ้งชนิดนี้ในเนปาล อินเดีย ศึกษาพบว่ามีสารเมา แม้แต่ชาวตะวันตกและนักท่องเที่ยวยังเดินทางไปเพื่อดูผึ้งหลวงหิมาลัย และอุดหนุนน้ำผึ้งเมา และสนับสนุนให้อนุรักษ์ผึ้งชนิดนี้ เพื่อไม่ให้สูญพันธุ์ ดังนั้นจึงยังต้องมีการศึกษาประชากรผึ้งหลวงหิมาลัยในพื้นที่อื่นๆ เช่น ดอยอินทนนท์ รวมทั้งจุดอื่นของดอยสูงทางภาคเหนือของไทย และศึกษาคุณสมบัติของน้ำผึ้ง และประชากรในไทยว่าภาวะโลกร้อนจะกระทบต่อผึ้งหรือไม่ โดยทำโมเดลว่าทุก 10 ปีหากร้อนขึ้น 1 องศาฯ จะกระทบต่อขอบเขตการกระจายพันธุ์ของผึ้งมากน้อยแค่ไหน
สำหรับการค้นพบในครั้งนี้ เป็นตัวชี้วัดที่มีความสำคัญต่อภาพรวมของความหลากหลายทางชีวภาพและทรัพยากรสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่สูงภายในประเทศไทย ที่กำลังถูกรุกรานจากการทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของผึ้งชนิดต่างๆ และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ (climate change) แต่ก็ยังสามารถพบผึ้งหลวงหิมาลัยในประเทศไทยได้
ทั้งนี้ ผึ้งหลวงหิมาลัยที่พบยังเป็นผึ้งให้น้ำหวานในสกุล Apis ชนิดที่ 5 ของประเทศไทยจากเดิมที่มีรายงานอยู่เพียง 4 ชนิด คือ ผึ้งหลวง (Apis dorsata) ผึ้งมิ้ม (Apis florea) ผึ้งม้าน (Apis andreniformis) และผึ้งโพรง (Apis cerana) ซึ่งไม่รวมผึ้งพันธุ์ (Apismellifera) ที่เป็นผึ้งสายพันธุ์ต่างถิ่น
อ่านข่าวอื่นๆ :
ถ้ามี กม.เคลื่อนย้ายมลพิษ คนไทยจะรับรู้ตั้งแต่แคดเมียมถูกขุด