วันนี้ (19 เม.ย.2567) ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส ศูนย์ข่าวภาคใต้ และชาวบ้าน จ.นครศรีธรรมราช ได้เข้าตรวจสอบบน ถ.สิรินครอุทิศ เส้นทางเชื่อมต่อระหว่าง ถ.พัฒนาการคูขวาง ต.ศาลามีชัย อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ไปจรด ถ.เทิดพระเกียรติ ต.ปากนคร มีความยาว 3 กิโลเมตรเศษ พบว่า ในช่วงกลางคืน ถนนเส้นนี้ไฟฟ้าส่องสว่างจากเสาไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ไม่สามารถใช้การได้อย่างสิ้นเชิง
และในช่วงกลางวันสองข้างทางอยู่ในสภาพล้มระเนะระนาด หลายจุดติดตั้งเหลือเพียงฐานส่วนตัวเสาโลหะและระบบถูกโจรกรรมไปทั้งหมด บางต้นเหลือเพียงน็อต และแหวนโลหะแป้นรอง
สำหรับเสาไฟฟ้าส่องสว่าง ชนิดใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ถูกติดตั้งมาตั้งแต่ปี 2561 โดยมีมูลค่าต้นละกว่า 60,000 บาท ในหลายเส้นทางของ จ.นครศรีธรรมราช อยู่ในสภาพไม่สามารถใช้การได้ เพราะชำรุดไปเกือบทั้งหมด เนื่องจากถูกโจรกรรมชิ้นส่วนไป
ชาวบ้านระบุว่า ผู้ก่อเหตุใช้ประแจถอดน็อตยึดออกไป แล้วผลักให้เสาไฟฟ้าล้มลง จากนั้นจึงปลดระบบแผงเซลล์ผลิตกระแสไฟฟ้า ตัวแบตเตอรี่ และหลอดไฟออกไป บางคนตัดเสาโลหะให้เป็นชิ้นส่วนไปด้วย หรืออาจมาตัดไปภายหลัง การล้มระเนระบาดของเสาเป็นภาพชินตาของผู้สัญจรผ่านไปมา และเป็นไปในลักษณะเดียวกันแทบทุกเส้นทาง โดยเฉพาะเส้นทางที่มีรถสัญจรน้อย
นายศุภวัฒน์ เยี่ยมยนต์ ชาวเมืองนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า พยายามติดตามเรื่องนี้ แต่กลับไม่มีความคืบหน้าใด ๆ ปัจจุบันทราบว่า คดีการจัดซื้อจัดจ้าง อยู่ในการไต่สวนของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.ภาค 8) ส่วนผู้ถูกไต่สวนเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ แต่ไม่มีความคืบหน้าใด ๆ จึงสงสัยว่า ทำไมการสอบสวนหาความจริงจึงช้า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการนับจำนวนเสาไฟฟ้าที่ได้รับความเสียหาย และอุปกรณ์หายไป พบว่า จากทั้งหมดมีการติดตั้งสองแนวตลอดเส้นทาง 98 ต้น หายไปแล้วมากกว่า 60 ต้น นอกจากนั้นประสานกับสำนักงาน ป.ป.ช.ภาค 8 เพื่อติดตามเรื่องนี้ ปรากฏว่า ช่วงเดือนม.ค.2567 จะมีการนัดหมายเพื่อให้ข้อมูล แต่หลังจากนั้นปรากฏว่า เจ้าหน้าที่คนเดียวกันไม่สามารถติดต่อได้
สำหรับเสาไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ทั้งหมด ในโครงการเดียวกันนี้ ปัจจุบันเป็นทรัพย์สินของที่ทำการปกครองจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่มีความพยายามถ่ายโอนให้กับ อปท.ในพื้นที่ติดตั้ง แต่ปรากฏว่า อปท.ปฏิเสธการรับโอน เนื่องจากต้องใช้งบประมาณในการดูแลรักษาสูง และปัจจุบันทั้งหมดเสื่อมสภาพเกือบทั้งหมด
สำหรับโครงการนี้ เป็นเสาไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาเซลล์) ใช้งบฯ อุดหนุนจากรัฐบาลปี 2560 มูลค่าต้นละ 65,000 บาท ติดตั้งเมื่อปี 2561 จำนวน 2,000 ต้น กระจายบนถนน 22 สาย วงเงิน 194 ล้านบาท ปัจจุบันเสื่อมสภาพใช้การไม่ได้ หลังใช้งานไปได้เพียง 2 ปีเศษเท่านั้น
มีการสอบสอบสวนจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในความผิดปกติของการจัดซื้อจัดจ้าง การกำหนดราคา และการใช้ช่องว่างของระเบียบราชการ ในการกำหนดสเปค ต่อมาได้ส่งสำนวนกลับมาให้ ป.ป.ช. ปัจจุบันสำนวนการสอบสวนยังอยู่ในระหว่างการดำเนินการของ ป.ป.ช.ภาค 8 สุราษฎร์ธานี
อ่านข่าว : อากาศร้อน “ผักแพง” พาณิชย์ เร่งเชื่อมโยงตลาดผัก
ไม่ใช่ฝนเทียม! นักวิทย์ฯ มอง "โลกร้อน-ระบายน้ำยาก" จมดูไบ
แพทย์เผยอาการ "ด.ต.ปิยนันท์" หลังผ่าตัดครั้งที่ 2 มีแนวโน้มดีขึ้น