วันนี้ (2 พ.ค.2567) เวลา 09.30 น. ร.อ.รชฏ พิสิษฐบรรณกร ผู้ช่วย รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นายกลวัชร ทรัพย์ส่งสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา นายเผด็จ ลายทอง ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า นายเพิ่มศักดิ์ คงแก้ว ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 (นครศรีธรรมราช) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาช้างป่า และ น.ส.แสงเดือน ชัยเลิศ ประธานมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมปล่อยช้างป่าพลายไข่นุ้ย (พลายเจ้างา) เข้าสู่ศูนย์บริบาลช้างป่า ที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าพังงา อ.เมือง จ.พังงา
อธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวว่า พลายไข่นุ้ย ช้างป่าตัวผู้ อายุ 8-10 ปี ความสูง 2 เมตร น้ำหนัก 2-2.5 ตัน มีพฤติกรรมเกเร และออกจากป่าอุทยานฯ ใต้ร่มเย็น จ.สุราษฎร์ธานี ทำลายพืชผลอาสินทางการเกษตร สร้างความเดือนร้อนให้ประชาชนในพื้นที่ อ.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช ตั้งแต่ช่วงเดือน ม.ค.2565 ซึ่งเจ้าหน้าที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 (นครศรีธรรมราช) ได้ผลักดันเข้าป่าสำเร็จ แต่ช้างป่าตัวดังกล่าวได้ออกนอกพื้นที่อีกครั้ง และเริ่มมีพฤติกรรมดุร้าย วิ่งไล่คน
ต่อมาชาวบ้านในพื้นที่นครศรีธรรมราช ได้ฟ้องร้องต่อศาลปกครอง ขอให้กรมอุทยานฯ จับและเคลื่อนย้ายช้างป่าเพื่อนำไปปล่อยในพื้นที่อุทยานฯ ใต้ร่มเย็น หรือพื้นที่อื่นที่เหมาะสม โดยเจ้าหน้าที่จับช้างป่าสำเร็จเมื่อวันที่ 11 ส.ค.2566 และเคลื่อนย้ายมาดูแลที่หน่วยจัดการต้นน้ำคลองกลาย ระหว่างรอการสร้างคอกอนุบาลช้างป่าแล้วเสร็จ ที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าพังงา จ.พังงา จนกระทั่งย้ายเข้ามาในวันนี้
เคลื่อนย้ายพลายไข่นุ้ยมาศูนย์บริบาลช้างป่า
ขณะที่นายเผด็จ ลายทอง ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า เปิดเผยว่า เมื่อช่วงเวลา 01.10 น. วันนี้ ได้เคลื่อนย้ายพลายไข้นุ้ย ออกจาก อ.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช มาถึงศูนย์บริบาลฯ เวลา 06.10 น. ระยะทาง 200 กิโลเมตร โดยการเคลื่อนย้ายเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และช้างป่าให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ไม่มีท่าทีเกรี้ยวกราด หรือดุร้าย รวมทั้งมีควาญและช้างพี่เลี้ยงเดินทางมาด้วย
เมื่อมาถึงศูนย์บริบาลช้างป่า ที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าพังงา พลายไข่นุ้ยเดินสำรวจพื้นที่ ซึ่งเป็นคอก ขนาด 4 ไร่ มีบ่อน้ำ และโรงช้างสำหรับดูแลรักษา ตรงกลางเป็นกึ่งป่าธรรมชาติ มีพืชอาหาร ป่าไผ่ และต้นไม้ใหญ่ ล้อมรอบด้วยเพนียดปูนกั้นช้าง ใช้งบประมาณก่อสร้าง 6 ล้านบาท ซึ่งกรมอุทยานฯ ได้จ้างควาญช้างคนดังกล่าว ที่เรียนจบสัตวบาล มาดูแลพลายไข่นุ้ยระหว่างปรับพฤติกรรมให้เป็นมิตรกับคนมากขึ้น ไม่วิ่งไล่คน เพราะก่อนหน้านี้เคยทำลายพืชผลทางการเกษตร และทำร้ายช้างบ้านบาดเจ็บ
ควาญช้าง และช้างพี่เลี้ยง พาพลายไข่นุ้ยมาส่งที่คอกบริบาลฯ
ต้องการให้เขาเป็นมิตรขึ้น ไม่ใช่เจอคนแล้ววิ่งเข้าใส่ เอาไว้ข้างนอกมันก็เสี่ยงตาย เสี่ยงถูกยิง สุดท้ายช้างจะดุขึ้น มันมีโอาสฆ่าคน และคนก็มีโอกาสฆ่ามัน
นายเผด็จ กล่าวว่า สุขภาพโดยรวมของพลายไข่นุ้ยไม่มีปัญหา แต่ต้องฟื้นฟูร่างกายและมวลกล้ามเนื้อ และต้องให้วิตามินเพิ่มเติม เพราะก่อนหน้านี้ถูกกักอยู่ในพื้นที่จำกัด โดยจะมีการประเมินผลและติดตามพฤติกรรมของพลายไข่นุ้ย ถึงแนวทางการปรับพฤติกรรมช้างป่าในคอกบริบาล
สำหรับโครงการก่อสร้างคอกอนุบาลช้างป่าดังกล่าว กรมอุทยานฯ ร่วมกับมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม ดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการด้านการจัดการและการดูแลสัตว์ป่า เพื่อร่วมมือทางวิชาการ ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรช้างป่า การดูแลช้างป่าบาดเจ็บ การจัดหาสถานที่ดูแลรักษาและพักฟื้นช้างป่าให้กลับคืนสู่สภาวะปกติ หรือปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ รวมถึงพิจารณาแก้ไขปัญหาช้างป่ารบกวนประชาชน
"พลายไข่นุ้ย" เป็นโครงการต้นแบบในการจัดการช้างเกเรในพื้นที่อื่น ๆ ซึ่งคณะทำงานขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาช้างป่า มีมติให้ขยายผลความร่วมมือในการก่อสร้างคอกบริบาลช้างป่าในพื้นที่ป่าตะวันออก โดยกรมอุทยานฯ กำหนดให้สร้างที่ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่ากระบกคู่ จ.ฉะเชิงเทรา เนื่องจากมีความพร้อมทั้งสัตวแพทย์ สัตวบาล และเจ้าหน้าที่ดูแล ซึ่งขั้นตอนจากนี้ต้องหางบประมาณทุกช่องทาง ทั้งการของบกลาง การรับบริจาคมาถึงกรมฯ โดยตรง หรือผ่านมูลนิธิ โครงการเทใจ และเอกชน เพื่อใช้ก่อสร้างคอกบริบาลดังกล่าว
ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการอนุรักษ์และจัดการช้าง ครั้งที่ 2/2566 ซึ่ง รมว.ทส.ในฐานะรองประธานกรรมการฯ ได้วางกรอบมาตรการแก้ไขปัญหาช้างป่า 6 ด้าน ได้แก่ การจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพื่อเป็นแหล่งอาศัยของช้างป่า, แนวป้องกันช้างป่า, ชุดเฝ้าระวังและผลักดันช้างป่า และเครือข่ายชุมชน, การช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากช้างป่า, การจัดการพื้นที่รองรับช้างป่าอย่างยั่งยืน และการควบคุมประชากรช้างป่า ด้วยวัคซีนคุมกำเนิด เพื่อนำไปสู่การอนุรักษ์และการจัดการประชากรช้างป่าให้มีปริมาณที่สมดุล ลดปัญหาระหว่างคนกับช้างป่า และส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์และจัดการช้างป่าอย่างมีส่วนร่วมและยั่งยืน
อ่านข่าว
ตรวจสุขภาพ "พลายไข่นุ้ย" ตัวตึงกรุงชิง จ่อเคลื่อนย้าย พ.ค.นี้
ปฏิบัติการย้าย "พลายไข่นุ้ย" ตัวตึงกรุงชิง-รอบ้านใหม่อีก 1 เดือน