ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"ทักษิณ" เปิดวงเจรจาสันติภาพ กลุ่มชาติพันธุ์-เมียนมา

การเมือง
9 พ.ค. 67
16:24
710
Logo Thai PBS
"ทักษิณ" เปิดวงเจรจาสันติภาพ กลุ่มชาติพันธุ์-เมียนมา
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ในช่วงเดือนเมษายน 2567 สถานการณ์ประเทศเมียนมายังร้อนระอุ ทั้งการสู้รบกับชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ และการบังคับใช้กฎหมายเกณฑ์ทหาร ทำให้ชายชาวพม่าทุกคน อายุตั้งแต่ 18-35 ปี และผู้หญิง อายุตั้งแต่ 18-27 ปี ต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหาร เพื่อรับใช้ชาติเป็นเวลา 2 ปี

โดยเป้าหมายของกองทัพเมียนมา คือ การรับสมัครทหาร 60,000 นายในหนึ่งปี ให้กับกองทัพที่คาดว่ากำลังรวมในปัจจุบันอยู่ระหว่าง 200,000 - 300,000 นาย ซึ่งแต่ละชุดรับสมัครจะมีทหารเกณฑ์ประมาณ 5,000 คน เหตุการณ์ดังกล่าวได้สร้างความหวาดวิตกให้กับครอบครัวของหนุ่มสาว ชาวเมียนมาไม่น้อย

รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการด้านความมั่นคง วิเคราะห์ว่า ไทยควรเตรียมแผนรับมือจากการสู้รบระหว่างกองทัพเมียนมาและกองกำลังต่างๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อพื้นที่แนวชายแดนด้านเหนือ โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง การสู้รบจะเข้มข้นทุกปี แต่ปีนี้จะหนักมากขึ้น ซึ่งเกิดจากหลายปัจจัย

ร.ศ.ดร.ปณิธาน บอกต่อว่า ขณะนี้มีชาวเมียนมาหนีการถูกจับเกณฑ์ทหาร เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศ ไทยจำนวนมาก และเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงมาก เข้ามาซื้อคอนโด บ้านพัก ในหลายพื้นที่ทั้ง กทม.และต่างจังหวัด และส่งลูกมาเรียนนานาชาติในเมืองไทย พวกนี้ส่วนใหญ่ทำธุรกิจในสิงคโปร์ เป็นกลุ่มพ่อค้า อีกกลุ่มเป็นคนงานในเมืองที่พอมีกำลังทรัพย์ หลบหนีเข้ามาทำงานในเมืองไทย

อ่านต่อ : รับมือเมียนมา หนีเกณฑ์ทหาร "ปณิธาน" แนะเร่งทำโซนปลอดสู้รบ

ทักษิณ เดินทางพบกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่ม

เว็บไซต์ Aseannow.com เผยแพร่ข่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นายทักษิณ ได้หารือกับตัวแทนจากกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธ และรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (เอ็นยูจี) ซึ่งเป็นรัฐบาลพลัดถิ่นของเมียนมา โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยยุติความขัดแย้งในเมียนมาที่ดำเนินมาตั้งแต่เดือนก.พ.2564

มีข้อมูลระบุว่า การเข้าไปเป็นตัวกลางของ "ทักษิณ" เกิดขึ้นอย่างไม่เป็นทางการ ก่อนที่ "ปานปรีย์ พหิทธานุกร" อดีตรมว.ต่างประเทศจะลาออก และในอดีตที่ผ่านมาอดีตนายกฯ ผู้นี้ มีความมักคุ้นกับนายทหารเมียนมาหลายคน ไม่ว่าจะเป็น พล.อ.อาวุโส มิน อ่องหล่าย พล.อ.หม่องเอ และ พล.อ.ตาน ฉ่วย

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า การที่นายทักษิณ เข้าไปพูดคุยกับชนกลุ่มน้อย รัฐบาลจะเกิดความอึดอัด หรือไม่ "นายเศรษฐา ทวีสิน" นายกรัฐมนตรี บอกว่า ตนเองไม่ทราบว่าอดีตนายกฯมีการไปเจรจาหรือไม่ แต่ในส่วนกระทรวงการต่างประเทศ และฝ่ายความมั่นคง มีการเข้าไปพูดคุยกับทุกกลุ่มอยู่แล้ว ซึ่งเป็นเรื่องในชั้นความลับและเป็นเรื่องที่ไม่อยากจะเปิดเผย

อ่านต่อ : "เศรษฐา" ปัด "ทักษิณ" เจรจาคู่ขนานสันติภาพเมียนมา

นายทักษิณ ชินวัตร

นายทักษิณ ชินวัตร

นายทักษิณ ชินวัตร

การพบกันที่ชายแดนไทย-เมียนมา นายทักษิณได้ขออนุญาตต่อกรมคุมประพฤติหรือไม่?

การเคลื่อนไหวของ นายทักษิณในครั้งนี้ เป็นการเคลื่อนไหวการเมืองระหว่างประเทศ แม้ว่าจะไม่มีระเบียบต้องห้ามของกรมคุมประพฤติที่ชัดเจน แต่เป็นการเคลื่อนไหวที่ไม่มีความเหมาะสม และกำลังเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากสังคม หรือภาษาพระเรียกว่า โลกวัชชะ หมายถึงโลกตำหนิติเตียน

ทางด้านนายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ขณะนี้กรมคุมประพฤติอยู่ระหว่างพิจารณาว่าการกระทำดังกล่าวสามารถกระทำได้ หรือผิดเงื่อนไขการพักโทษหรือไม่ ซึ่งอธิบดีกรมคุมประพฤติเป็นผู้ใช้ดุลยพินิจ หากพบว่าผู้ที่อยู่ระหว่างการพักการลงโทษกระทำไม่เหมาะสมหรือไม่ถูกต้อง กรมคุมประพฤติจะเป็นผู้แจ้งและทำความเข้าใจเพื่อให้ปฏิบัติอย่างถูกต้อง

อ่านต่อ : "ราชทัณฑ์" โยนกรมคุมประพฤติตรวจปม "ทักษิณ" คุยกลุ่มชาติพันธุ์เมียนมา

ทักษิณ เป็นตัวแทนพูดคุยในฐานะใด?

พล.ท.พงศกร รอดชมภู อดีตรองเลขาธิการสภาความมั่งคงแห่งชาติ (สมช.) ตั้งข้อสังเกตว่า ข่าวที่หลุดออกมาเป็นเรื่องจริง เพราะมีการยืนยันข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการจากหลายฝ่าย รวมถึงไทยที่ปฏิเสธด้วยท่าทีแบ่งรับแบ่งสู้ สอดคล้องกับสำนักข่าวไทยและต่างประเทศที่เกาะติดสถานการณ์นี้ และส่วนตัวได้รับคำยืนยันจากชนกลุ่มน้อยว่า มีความเคลื่อนไหวจริง

พล.ท.พงศกร รอดชมภู อดีตรองเลขาธิการสภาความมั่งคงแห่งชาติ (สมช.)

พล.ท.พงศกร รอดชมภู อดีตรองเลขาธิการสภาความมั่งคงแห่งชาติ (สมช.)

พล.ท.พงศกร รอดชมภู อดีตรองเลขาธิการสภาความมั่งคงแห่งชาติ (สมช.)

อดีตรองเลขาฯ สมช. เชื่อว่า นายทักษิณมีเจตนาดี และในหลักการนั้น การแสวงหาสันติภาพเป็นเรื่องถูกต้อง แต่ต้องพูดคุยวิธีการและดำเนินการในช่วงเวลาเหมาะสม ส่วนประเด็นของนายทักษิณ ไม่แน่ชัดว่าไปเจรจาในนามส่วนบุคคล หรือไปหาช่องทางล่วงหน้า หากลงตัวแล้วค่อยให้รัฐบาลรับรองอีกครั้ง สุดท้ายข่าวปูดออกมาก่อน จึงกลายเป็นอลเวง

นายทักษิณมีความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลทหารเมียนมา แต่เท่าที่ทราบ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ยังไม่ตอบรับ สะท้อนว่าเขาอาจไม่สบายใจ เพราะเขาถือว่ายังได้เปรียบ เขารบกันอยู่ เราทำอะไรมากไม่ได้ สิ่งที่รัฐบาลทำได้คือดูแลประชาชนทุกฝ่าย รอจนกว่าเขารบกันจบ เมื่อเขาหมดแรงหรือพร้อมคุย ค่อยไปล็อบบี้ช่วงนั้น ทำได้แค่นั้น อย่างอื่นทำยาก เราไม่ควรไปยุ่งขนาดนั้น อันนี้ผมเห็นว่าล้ำหน้าไปนิดนึง

อ่านต่อ : พงศกร ชี้ "ทักษิณ" คุย "ชาติพันธุ์" ไม่ใช่เวลาเจรจาสันติภาพ

นักวิชาการด้านความมั่นคง ชี้ เจรจาชนกลุ่มน้อย ไม่ใช่ยุทธศาสตร์ของไทย

รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการด้านความมั่นคง วิเคราะห์ความเคลื่อนไหวดังกล่าวว่า หากมองตามกรอบยุทธศาสตร์ความมั่นคง อาจส่งผลกระทบทำให้ไทยต้องเจอสถานการณ์ที่ซับซ้อน หรือเกิดความคลุมเครืออีกระดับหนึ่ง ซึ่งความคลุมเครือดังกล่าว บางครั้งก็ใช้ได้ดี และบางครั้งก็ใช้ไม่ได้ แต่ส่วนใหญ่มักใช้ไม่ได้ เพราะผ่านจุดที่ต้องใช้คนเจรจาอย่างเป็นทางการแล้ว

รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการด้านความมั่นคง

รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการด้านความมั่นคง

รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการด้านความมั่นคง

สำหรับการเจรจาที่ผ่านมา มีทั้งเป็นทางการ กึ่งทางการ และไม่เป็นทางการ โดยการเจรจาแบบไม่เป็นทางการ เริ่มมาตั้งแต่ 3 ปีแล้ว กับกลุ่มนักธุรกิจ อดีตผู้นำและเครือข่ายของอาเซียน แต่สำหรับนายทักษิณ เชื่อว่า น่าจะมีลวดลายมากกว่านั้น คือ เข้าไปหาทางช่วยเหลือ ประคับประคอง เพื่อให้ทหารเมียนมายืนได้ แต่ต้องยอมเสียพื้นที่ปกครองประเทศไปบางส่วน โดยเฉพาะจุดที่มีพวก "ฮาร์ดแลนด์" ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อประไทยมาก

อ่านต่อ : ปณิธาน ชี้ "เจรจาชนกลุ่มน้อย ไม่ใช่ยุทธศาสตร์ของไทย"

"ทักษิณ" ส่ง "ภูมิธรรม" คุมความมั่นคง

กระชับพื้นที่แบบเบ็ดเสร็จและไร้รอยต่อ เมื่อ "ภูมิธรรม เวชยชัย" รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ได้รับความไว้วางใจจากเจ้าของพรรคเพื่อไทยตัวจริง แบ่งงานใหม่ให้เป็น รองนายกฯ กำกับดูแลกระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นงานด้านความมั่นคงอีกตำแหน่ง ภารกิจเพิ่มเติมจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ดูแลรัฐมนตรีช่วยในสังกัดยกกระทรวง

เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังปรับ ครม. และแบ่งงานใหม่ให้ รองนายกฯ 6 คน ก่อนหน้านี้คนในพรรคเพื่อไทยพบสัญญาณที่เริ่มขยับ และเป็นรับรู้กันเมื่อ "ทักษิณ" เดินสายไหว้บรรพบุรุษ เมื่อช่วงเทศกาลสงกรานต์ พร้อมๆ กับข่าว "อดีตนายกฯ" ได้พบปะกับตัวแทนผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์ โดยพยายามทำหน้าที่ "คนกลาง" เจรจาสันติภาพครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 เม.ย. และครั้งที่ 2 เมื่อเร็วๆ นี้ที่ กทม.

ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์

ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์

ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์

สุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม บอกว่า หากนายทักษิณ ไปเจรจากับชนกลุ่มน้อยจริง ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย และถือเป็นเรื่องดีการแก้ไขปัญหาในอดีต หลายประเทศที่มีปัญหากันบางครั้งไม่ได้จบระดับไตรภาคี หรือ ทวิภาคี แต่จะจบด้วย เอกชนหรือคนนอกบางคน ไปเป็นตัวกลาง คนที่มีบารมีก็อาจจะไปช่วยพูดคุย ก็อาจจะจบได้ ซึ่งหากเป็นเรื่องจริง และนายทักษิณอาจจะคิดเช่นนั้น

โดยเฉพาะการเล่นบทนักเจรจาสันติภาพ ที่เข้าไปคลี่คลายสถานการณ์สู้รบใน "เมียนมา" เป็นเรื่องที่ต้องจับตามอง ไม่ว่าการเจรจาระหว่าง "ทักษิณ" และกลุ่มชาติพันธ์ุจะมีผลหรือไม่อย่างไร แม้ล่าสุดจะยังไม่ได้ข้อยุติเนื่องจากบางกลุ่มยังไม่เอาด้วย โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีกองกำลังขนาดใหญ่ ในพื้นที่ทางตอนเหนือ

อ่านต่อ : "ทักษิณ" กระชับอำนาจ ไร้รอยต่อ ส่ง "ภูมิธรรม" คุมความมั่นคง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง