วันนี้ (15 พ.ค.2567) เวลา 11.00 น.กรมราชทัณฑ์ แถลงด่วนเพื่อชี้แจงกรณี “บุ้ง ทะลุวัง” เสียชีวิต โดย นพ.สมภพ สังคุตแก้ว ผู้ตรวจราชการกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า ในนามของรัฐบาลโดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม และกรมราชทัณฑ์ ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัว ส่วนกรณีการเสียชีวิตอยู่ระหว่างการชันสูตรศพ และถ้าผลชันสูตรออกมาแล้วจะชี้แจงตามขั้นตอน
นพ.สมภพ กล่าวว่า สำหรับไทม์ไลน์การดูแล น.ส.เนติพร กรมราชทัณฑ์ รับตัวมาควบคุมตัววันที่ 26 ม.ค.2567 ซึ่งขณะนั้นได้เริ่มอดอาหารแล้ว แต่กรมราชทัณฑ์ ได้มีการเฝ้าระวังดูแลอย่างใกล้ชิด เมื่ออ่อนเพลีย ก็จะพาไปรักษาที่รพ.ราชทัณฑ์เป็นประจำ โดยช่วงแรกเมื่อ 29 ก.พ.และเข้ารับรักษาที่รพ.ราชทัณฑ์ 8 วัน จากอาการอ่อนเพลีย
จากนั้นพบว่ามีอาการอ่อนเพลีย จึงนำตัวรักษาที่ รพ.ธรรมศาสตร์ฯ 27 วัน ตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค.-4 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยช่วงวันที่ 4 เม.ย.นี้ แพทย์รพ.ธรรมศาสตร์ทำหนังสือส่งตัวกลับมาที่รักษาที่ทัณฑ์สถาน
พบว่าหลังจากกลับมาน.ส.เนติพร กินอาหารได้บ้างตามลำดับ และเข้าพักห้องผู้ป่วยรวม และมีน.ส.ทานตะวัน เพื่อนสนิทรวมอยู่ด้วย ยังพบว่ารูู้สึกตัวดี ไม่มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
กระทั่งเช้าวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา เวลา 06.00 น.และน.ส.เนติพร เกิดอาการวูบและหมดสติ ขณะกำลังพูดคุยกันกับน.ส.ทานตะวัน ตามปกติ ได้กระตุ้นหัวใจโดยทันที และส่งตัวไปรักษาที่ รพ.ธรรมศาสตร์ ทางเจ้าหน้าที่ให้การช่วยเหลือด้วยการกระตุ้นหัวใจ และทำซีพีอาร์ต่อเนื่องจนถึง รพ.ธรรมศาสตร์ และเสียชีวิตในเวลา 11.22 น.
ยืนยันว่า กรมราชทัณฑ์ให้ความเคารพหลักสิทธิมนุษยชน และสิทธิขั้นพื้นฐานะหว่างการคุมขัง มีเฝ้าระวังการดูแลอาการอย่างใกล้ชิดตามมาตรฐาน แต่เพื่อความโปร่งใสได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง
อ่านข่าว : กรมราชทัณฑ์ แถลงด่วน "บุ้ง ทะลุวัง" เสียชีวิตขณะถูกคุมขัง
ยังไม่สรุปสาเหตุเสียชีวิต-รอผลชันสูตร
ผู้สื่อข่าวพยายาม ถามกรมราชทัณฑ์เรื่องการหมดสติ และการช่วยชีวิตว่าได้มีการฉีดสารกระตุ้นอะไรหรือไม่ แต่ทางกรมราชทัณฑ์ ระบุว่า เป็นการถามลงรายละเอียดมากเกินไป แต่ระบุว่าการรักษาเป็นเรื่องที่แพทย์ของโรงพยาบาล ส่วนจะ CPR จุดนั้นจุดนี่เป็นการถามคำถามแบบลักษณะของการสอบสวน และยังยืนยันว่าสิ่งที่กรมราชทัณฑ์ปฏิบัติเป็นหลักที่ถูกต้องในการรักษา
ด้าน นพ.พงศ์ภัค อารียาภินันท์ ผอ.ทัณฑสถาน โรงพยาบาลราชทัณฑ์ กล่าวว่า ในแต่ละวันจะมีการบันทึกการรักษาไว้อย่างต่อเนื่อง และอาการลักษณะอ่อนเพลีย ทานอาหารได้ตามลำดับ และกินข้าวต้มได้ และไข่เขียว โดยค่อยเริ่มกินหลังจากกลับมาจากรพ.ธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 4 เม.ย.ที่ผ่านมา
คนที่อดอาหารมาจะต้องค่อย ๆ เริ่มกินอาหารอ่อนก่อน เพราะระบบทางเดินอาหารยังต้องปรับ และทางโรงพยาบาลมีการจัดอาหารทั้ง 3 มื้อแต่มีการทำบันทึกต่อเนื่องจะกินมากกินน้อย หรือที่ตรวจพบว่ามีภาวะโลหิตจาง ก็ให้ยาบำรุงเลือด
ทั้งนี้ทางแพทย์ได้ย้ำเตือนถึงความสำคัญของพวกเกลือแร่และอาจจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ ซึ่งน.ส.เนติพร บุ้ง ก็รับทราบแต่แสดงเจตจำนงไม่รับวิตามิน
แต่เขาปฏิเสธการรับสารน้ำ ยาบำรุงร่างกาย วิตามิน ยืนยันว่าให้การรักษาและดูแลตามมาตรฐาน ก่อนเกิดเหตุไม่มีภาวะวิกฤต ส่วนการนำตัวน.ส.เนติพรไปยัง รพ.ธรรมศาสตร์นั้น ไม่ได้ใช้ เครื่อง AED หรือเครื่องกระตุ้นหัวใจ เพราะไม่มีข้อบ่งชี้
อ่านข่าว : "บุ้ง ทะลุวัง" เสียชีวิตแล้ว หลังอดอาหาร ส่งชันสูตร รพ.ธรรมศาสตร์
เมื่อถามว่าการประเมินภาวะฉุกเฉินก่อนพาไปรักษาตัวที่ รพ.ธรรมศาสตร์อย่างไรผู้ตรวจราชการกรมราชทัณฑ์และผู้อำนวยการทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ยังคงมีความสับสนและให้ข้อมูลไม่ตรงกัน เช่น ช่วงแรกผู้ตรวจฯกล่าวว่า ไม่พบสัญญาณชีพของน.ส.เนติพร จึงฉีดยากระตุ้นหัวใจ
แต่ภายหลังแพทย์ให้ข้อมูลว่า มีสัญญาณชีพอ่อน ผู้ต้องขังที่ได้รับการฝึกให้เป็นผู้ช่วยพยาบาลจึงได้ CPR ที่เตียงนอน จนมีสัญญาณชีพกลับมา ก่อนเจ้าหน้าที่จะพยุงน.ส.เนติพร ลงไปห้องรักษาพยาบาล
ทั้งนี้ ยืนยันว่า มีการปฏิบัติสำหรับกลุ่มผู้อดอาหาร ตั้งแต่แจ้งความจำนงมา เช่น ตั้งแต่การตรวจร่างกายทันที สำหรับผู้ต้องขังเข้ามาใหม่ และมีทีมนักจิตวิทยาประเมินและให้เปลี่ยนแนวคิดในการอดอาหาร แต่ถ้าเขาไม่เปลี่ยนใจก็จะมีการรักษา และประเมินสถานะทุกๆ วันในกลุ่มผู้ต้องขังและแยก
ส่วนสาเหตุการเสียชีวิตตอนนี้ขอให้รอผลชันสูตรก่อน ถึงจะสรุปได้ชัดเจน
อ่านข่าว : เปิดระเบียบการแนะนำตัว สว. 2567 มีเงื่อนไข อะไรทำได้ - ห้ามทำ
"ลี เซียน ลุง" ลงจากเก้าอี้นายกฯสิงคโปร์ หลังครองตำแหน่งกว่า 20 ปี