วันนี้ (20 พ.ค.2567) Golden boy หรือ ประติมากรรมรูปพระศิวะ ที่จากประเทศไทยเมื่อ 2518 หรือ กว่า 60 ปี ในราคา 1,200,000 บาท เดินทางกลับมาถึงไทยแล้ว และเชื่อว่า ในวงการค้าวัตถุโบราณ จะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า ร้อยล้านบาท และ อีกชิ้น คือ ประติมากรรม "สตรีพนมมือ"
ทั้งสองชิ้น เป็นส่วนหนึ่งของวัตถุโบราณที่ถูกถอดออกจากทะเบียนบัญชีของพิพิธภัณฑ์ ที่อัยการเขตแมนฮัตตัน แจ้งข้อหาค้าวัตถุโบราณโดยผิดกฎหมาย เมื่อปี 2562 และ 2564 ทั้งนี้ยังไม่ได้มีหนังสือจากรัฐบาลขอทวงคืนแต่อย่างใด
โดย The Met มีแถลงการณ์ออกมาเมื่อเดือนธันวาคม 2566 ที่จะสร้างความปรองดองทางวัฒนธรรม ผ่านการคืนโบราณวัตถุ กว่า 30 ชิ้น ทั้งไทย กัมพูชา และ อินโดนีเซีย ซึ่งเมื่อ 25 เม.ย.2567 ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิตัน ได้จัดพิธีลงนาม บันทึกความเข้าใจฉบับใหม่ ระหว่างพิพิธภัณฑ์กับรัฐบาลไทย
ทั้งนี้ กรมศิลปากร จะแถลงข่าวต้อนรับ ในวันอังคารที่ 21 พ.ค.นี้ เวลา 13.30 น และจะเปิดให้ประชาชนเข้าชมในวันที่ 22 พ.ค. ที่ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร กทม.
รู้จัก Golden Boy
ประติมากรรมสำริดเทวรูปในท่ายืนสำริด กะไหล่ทอง ฝังเงิน เป็นประติมากรรมบุรุษเพศชายลักษณะ เป็นรูปเคารพเทพเจ้า แต่การที่ไม่ปรากฏสัญลักษณ์สำคัญของเทพฮินดูองค์ใดอยู่เลย ทำให้สันนิษฐานว่าประติมากรรมนี้แสดงถึงกษัตริย์ในสถานะเทพ หรือเทวราชา
ทำไมถึงได้ฉายา Golden Boy
นักค้าโบราณวัตถุขนานนามให้และยกให้เป็นโบราณวัตถุชิ้นเยี่ยมระดับโลก มูลค่าการซื้อขายนักสะสมตีราคา 100 ล้านบาท
ทำไมแพงขนาดนั้น ก็เพราะว่าเป็นการใช้เทคโนโลยีหล่อขั้นสูง หล่อขึ้นโดยมีส่วนผสมหลักคือทองแดงและดีบุก เคลือบผิวด้วยกะไหล่ทอง และฝังเงิน
สันนิษฐานว่าประติมากรรมชิ้นนี้ มีส่วนประกอบของดีบุกมากกว่า 20% โดยถูกผสมลงไปเพื่อช่วยในการไหลของโลหะในขั้นตอนการหล่อ ซึ่งมักจะพบในประติมากรรมที่มีนาดใหญ่
เช่นเดียวกับประติมากรรมที่พบจากปราสาทสระกำแพงใหญ่ จ.ศรีสะเกษ ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย จ. นครราชสีมา ประติมากรรมทำผมถักหวีรวบขึ้นไปเป็นมวยผม ลำตัวเล็ก เอวแคบ สวมผ้านุ่งสั้นเว้าเป็นวงโค้งที่หน้าท้อง ซึ่งเป็นรูปแบบของศิลปะเขมรในประเทศไทย ราว พ.ศ. 1600-1650 หรือต้นพุทธศตวรรษที่ 17
อ่านข่าว :
"พระพุทธรูปโบราณ" กับเส้นทาง-ความฝัน ที่จะผลักดัน “เชียงแสน” เป็นมรดกโลก
รัฐบาลชี้แจง "ศธ." ไม่ได้สั่งประกาศยกเลิกแต่งชุดนักเรียน ขออย่าหลงเชื่อ