ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

รู้จัก "Golden Boy" ไทม์ไลน์สหรัฐฯส่งคืนกลับไทย

สังคม
21 พ.ค. 67
18:08
9,474
Logo Thai PBS
รู้จัก "Golden Boy" ไทม์ไลน์สหรัฐฯส่งคืนกลับไทย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ลำดับเหตุการณ์พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน สหรัฐอเมริกาส่งมอบโบราณวัตถุ 2 รายการ แก่ประเทศไทย ขณะที่เปิดให้ประชาชนเข้าชมได้ตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค.เป็นต้นไป

พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร จัดพิธีต้อนรับ "Golden Boy" และ ประติมากรรมสตรีคุกเข่าพนมมือ อย่างเป็นทางการ โดยหลังจากนี้กรมศิลปากรจะจัดแสดงให้ประชาชนได้เข้าชมตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.เป็นต้นไป และยังต้องสืบค้นต่อไปว่าแหล่งที่มาโดยผู้เชี่ยวชาญอีกครั้ง

ทั้งนี้กระทรวงวัฒนธรรมโดยกรมศิลปากร ได้รับการประสานจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน สหรัฐอเมริกา แจ้งความประสงค์ส่งมอบโบราณวัตถุจำนวน 2 รายการ กลับคืนสู่ประเทศไทย ได้แก่ ประติมากรรมสัมฤทธิ์รูปพระศิวะ (The standing shiva) หรือ Golden Boy และประติมากรรมรูปสตรีพนมมือ (The Kneeling Female)

อ่านข่าว : ประติมากรรม "Golden Boy" กลับถึงไทยแล้ว

ซึ่งโบราณวัตถุทั้ง 2 รายการ เป็นโบราณวัตถุที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทันได้ถอดออกจากบัญชีของพิพิธภัณฑ์เนื่องจากได้ตรวจสอบแล้วพบว่าถูกลักลอบนำออกนอกราชอาณจักรไทยโดยผิดกฎหมาย จึงเห็นควรส่งคืนประเทศไทย ซึ่งพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน สหรัฐอเมริกา ได้ดำเนินการจัดส่งโบราณวัตถุ จำนวน 2 รายการ กลับถึงประเทศไทย ในวันที่ 20 พ.ค.2567

สำหรับประติมากรรมทั้ง 2 รายการ เป็นประติมากรรมสัมฤทธิ์ที่มีความสมบูรณ์ แสดงให้เห็นถึงเทคโนโลยีชั้นสูงและความก้าวหน้าในการหล่อโลหะ สะท้อนความเจริญของแผ่นดินไทยในอดีต ความงามของฝีมือช่างสามารถนำไปศึกษาเปรียบเทียบกับประติมากรรมร่วมสมัยเดียวกันชิ้นอื่นๆ ที่พบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย

อ่านข่าว : รับมอบ "Golden Boy" จากสหรัฐอย่างเป็นทางการ

พระศิวะ

ศิลปะเขมรในประเทศไทย สมัยเมืองพระนคร แบบบาปวน พุทธศตวรรษที่ 16 (ประมาณ 900 ปีมาแล้ว) สำริดกะไหล่ทอง ประดับตกแต่งด้วยการฝังเงิน มีความสูง (รวมเดือย) 128.9 กว้าง 35.6 ลึก 34.3 ซม. สูงไม่รวมเดือย 105.4 ซม.

ประติมากรรมชิ้นนี้เป็นรูปสำริดที่สมบูรณ์ที่สุดที่ยังหลงเหลือจากสมัยเมืองพระนคร เป็นประติมากรรมกลุ่มเล็กๆ ที่มีการหล่อด้วยโลหะเป็นเทพในศาสนาฮินดูที่มีความเกี่ยวข้องกับธรรมเนียมของราชสำนัก พบในกัมพูชาและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย แม้ว่าประติมากรรมจะถูกติความไว้ว่าเป็นพระศิวะ แต่ท่าทางของพระหัตถ์ทั้งสองที่แตกต่างจากประติมากรรมโดยทั่วไปที่มักจะถือสัญลักษณ์ของพระศิวะ

ประติมากรรมนี้จึงอาจหมายถึงพระศิวะในภาคมนุษย์ที่ไม่ค่อยพบในศิลปะเขมรทั่วไปอาจมีความเป็นไปได้ว่าถูกสร้างขึ้นเพื่อจุดประสงค์สองอย่างคือ เป็นรูปเคารพเพื่อบูชาในศาสนสถานประจำราชวงศ์ หรือเป็นรูปเคารพของบูรพกษัตริย์

 

 

ข้อสงสัยในความเป็นของจริง

ในปี พ.ศ.2574 มีการชุดค้นพบประติมากรรมสัมฤทธิ์รูปบุรุษจากปราสาทสระกำแพงใหญ่ อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ เมื่อพิจารณารูปแบบและเทคนิคการสร้าง พบว่ามีลักษณะตรงกับประติมากรรมของพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน คือมีการตกแต่งผิววัตถุ ด้วยอะไหล่ทอง และใช้เทคนิคการเจาะผิววัตถุเป็นร่องเพื่อฝังโลหะมีค่า หรืออัญมณี

ฐานข้อมูลของพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน ระบุว่าประติมากรรมชิ้นนี้ได้จาก Collection of Walter H. and Leonore Annenberg ในปี พ.ศ.2531 สันนิษฐานว่าถูกลักลอบขุดค้นจากโบราณสถานในเขต อ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์ และมีการลักลอบ ซื้อขายออกไปโดยผิดกฎหมาย

ในปี พ.ศ.2518 ซึ่งเป็นการได้มาก่อนการค้นพบประติมากรรมจากสระกำแพงใหญ่ จึงเชื่อได้ว่าไม่ได้เป็นการสร้างเลียนแบบ แต่เป็นประติมากรรมในกลุ่มฝีมือช่างใกล้เคียงหรือร่วมสมัยเดียวกัน

ประติมากรรมรูปสตรีนั่งชันเข่าพนมมือ

ศิลปะเขมรในประเทศไทย สมัยเมืองพระนคร แบบบาปวน พุทธศตวรรษที่ 16 (ประมาณ 900 ปีมาแล้ว) สำริด ประดับตกแต่งด้วยการฝังเงิน มีร่องรอยกะไหล่ทอง มีความสูง 43.2 ซม. กว้าง 19.7 ซม.

ประติมากรรมนี้ สันนิษฐานว่าเป็นพระราชเทวี หรือสตรีชั้นสูงในราชสำนักสวมเครื่องประดับ ประทับชันเข่าพนมมือแสดงความเคารพแด่เทพเจ้า ที่ดวงตาและคิ้วมีร่องรอยการฝังด้วยวัตถุที่น่าจะเป็นแก้วสีดำ

ประติมากรรมสตรี (สันนิษฐานว่าเป็นสตรีชั้นสูง) นั่งชันเข่าขวาและพับขาซ้าย ยกมือทั้งสองขึ้นเหนือศีรษะในท่าอัญชลีมุทรา หรือนมัสการ (พนมมือ) อันเป็นท่าแสดงความเคารพ ลักษณะใบหน้าเหลี่ยม คิ้วโก่ง ตามองตรง คิ้วเซาะเป็นร่องและนัยน์ตาเซาะเป็นช่องกลม

เมื่อพิจารณาจากทรงผมหวีรวบไม่สวมกระบังหน้า ประติมากรรมทำเอวคอด รูปทรงสมส่วน ขอบผ้านุ่งด้านหน้าเว้ามาก ขมวดเป็นปมมีชายขมวดหนึ่งชาย ชายผ้าด้านล่างคลี่ออกเป็นรูปทางปลา เป็นรูปแบบของประติมากรรมสัมฤทธิ์ที่นิยมในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ราว 1,000 ปีมาแล้ว

รูปแบบเครื่องประดับและเครื่องแต่งกายของประติมากรรมสตรี รวมถึงเทคนิควิธีการหล่อโลหะมีความสอดคล้องกับประติมากรรม "โกลเด้นบอย" และประติมากรรมสัมฤทธิ์ที่พบที่ปราสาทสระกำแพงใหญ่ ซึ่งเป็นสัมฤทธิ์ตกแต่งด้วยกะไหล่ทอง มีการเจาะผิววัตถุเป็นร่องเพื่อฝังโลหะมีค่าหรืออัญมณี เช่นเดียวกัน

ไทม์ไลน์ส่งมอบโบราณวัตถุ 2 รายการ แก่ประเทศไทย

ลำดับเหตุการณ์พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน สหรัฐอเมริกาส่งมอบโบราณวัตถุ 2 รายการ แก่ประเทศไทย

- วันที่ 12 ธันวาคม 2566 พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน สหรัฐอเมริกา มีหนังสือถึงกรมศิลปากร แจ้งส่งมอบโบราณวัตถุกลับคืนสู่ประเทศไทย จำนวน 2 รายการ ได้แก่
         - ประติมากรรมรูปพระศิวะ
         - ประติมากรรมสตรีพนมมือ

- วันที่ 16 ธันวาคม 2566
ผู้แทนพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน เข้าพบอธิบดีกรมศิลปากร แจ้งขั้นตอนการส่งโบราณวัตถุทั้ง 2 รายการ กลับประเทศไทย

- 21 ธันวาคม 2566 อธิบดีกรมศิลปากรมีหนังสือถึงอธิบดีกรมสารนิเทศ แจ้งขอความอนุเคราะห์สถานกงสุลใหญ่ ณ นครนิวยอร์ก เตรียมการรับมอบโบราณวัตถุทั้ง 2 รายการ

- วันที่ 5 มกราคม 2567 พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน มีหนังสือเชิญผู้เชี่ยวชาญจากกรมศิลปากรร่วมตรวจสอบโบราณวัตถุทั้ง 2 รายการ

- วันที่ 24 เมษายน 2567 ผู้อำนวยการสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ผู้แทนกรมศิลปากร ตรวจสอบโบราณวัตถุ ร่วมกับนักอนุรักษ์ และนักวิทยาศาสตร์ของพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน

- วันที่ 20 พฤษภาคม 2567 พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน ดำเนินการจัดส่งโบราณวัตถุ 2 รายการจากประเทศสหรัฐอเมริกา ถึงสนามบินสุวรรณภูมิ เวลา 07.05 น.ดำเนินการเคลื่อนย้ายโบราณวัตถุมาที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ทำการเปิดหีบห่อและตรวจสอบสภาพโบราณวัตถุ

- วันที่ 21 พฤษภาคม 2567 พิธีรับมอบโบราณวัตถุ ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

- วันที่ 22 พฤษภาคม 2567 นำประติมากรรมทั้ง 2 รายการเคลื่อนย้ายไปจัดแสดง ณ ห้องศิลปะลพบุรี อาคารมหาสุรสิงหนาท พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

- 23 พฤษภาคม 2567 เปิดให้ประชาชนเข้าชม

อ่านข่าว : 

อยากไปถูกกฎหมาย แต่ 'หนี้' รอไม่ได้ คนไทยไปทำงานญี่ปุ่นผ่านช่องทางไหน?

ไขคำตอบ "อะลูมิเนียมดรอส" ฝุ่นพิษต้นตอ "ฉุน-แสบตา-คัน"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง