วันนี้ (29 พ.ค.2567) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรุงเทพมหานครทำการเปลี่ยนสติกเกอร์ใหม่บนคานรางรถไฟฟ้า จุดบริเวณทางเชื่อมเหนือ Sky Walk แยกปทุมวัน เนื่องจากสติ๊กเกอร์เดิมซึ่งติดอยู่มานานกว่า 20 ปี มีสภาพซีดจาง ข้อความลบเลือน ไม่สวยงาม และซึมเข้าไปในเนื้อปูน ทำให้การดำเนินการค่อนข้างใช้เวลา
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการติดสติกเกอร์ใหม่จุดแรกที่คานรางรถไฟฟ้าแยกปทุมวัน โดยดำเนินการติดในช่วงเวลากลางคืนตั้งแต่ช่วงเที่ยงคืนที่ผ่านมา ซึ่งติดเสร็จแล้ว 1 ฝั่ง ส่วนอีกฝั่งจะติดในค่ำคืนนี้
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ข้อความเก่าที่เห็นไม่ใช่การทาสีแต่เป็นสติกเกอร์ ซึ่งด้วยระยะเวลาที่ติดมานานทำให้ลอกได้ไม่หมด จึงใช้วิธีทำความสะอาดและติดสติกเกอร์ใหม่ทับลงไป ความเปลี่ยนแปลงนี้อาจเป็นความเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ ที่ไม่ได้มีผลกับชีวิต แต่ก็เป็นรายละเอียดของเมือง ดังนั้น หากใครว่างหรือผ่านไปสามารถไปถ่ายรูปเป็นที่ระลึกไว้ได้
สำหรับสติกเกอร์ใหม่ที่นำมาติดจะมีข้อความและดีไซน์ที่สะท้อนอัตลักษณ์ของกรุงเทพมหานคร โดยกราฟิกอัตลักษณ์ดังกล่าวมีที่มาจากตราสัญลักษณ์กรุงเทพมหานคร โดยนำ “วัชระ” อาวุธประจำกายของพระอินทร์ที่ใช้ปกป้องคุ้มครองกรุงเทพมหานคร มาครอบตัด (crop) ภาพ ให้เป็นลวดลายที่มีความเป็นนามธรรม โทนสีของกราฟิกชุดนี้จะใช้ระบบสีรองซึ่งสะท้อนถึงความสุขของผู้คนและการผสมผสานระหว่างสิ่งใหม่กับวัฒนธรรมเก่าแก่ของกรุงเทพมหานคร ส่วนระบบสีหลักจะเป็นสีเขียวมรกตซึ่งเป็นสีที่ถูกนำมาใช้งานมากที่สุดในงานกราฟิกส่วนใหญ่ของกรุงเทพมหานคร
ทาง กทม. จะเร่งติดสติกเกอร์ที่มีข้อความและดีไซน์ใหม่สะท้อนอัตลักษณ์ กทม. ที่ได้ออกแบบไว้แล้วทันที เพื่อให้เสร็จเรียบร้อยและสวยงาม ภายในวันศุกร์ที่ 31 พ.ค.2567 (กรณีไม่มีฝนตกในพื้นที่ติดตั้ง) เตรียมต้อนรับการเข้าสู่งานเทศกาล Pride Month
โดย กทม. เป็นจุดหมายปลายทางที่จะต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทุกมุมโลกที่หลั่งไหลเข้ามาร่วมงานในช่วงเดือน มิ.ย.นี้ ซึ่งจุดนี้ถือเป็นจุดเช็กอินอีกแห่งหนึ่งที่นักท่องเที่ยวนิยมไปถ่ายภาพไว้เป็นที่ระลึกว่าได้มาเยือนกรุงเทพมหานคร ส่วนรูปแบบใหม่จะเป็นอย่างไรนั้น ขอให้ติดตามและเห็นไปพร้อมกันเร็ว ๆ นี้ และหลังจากนี้จะทยอยติดที่จุดอื่น ๆ ต่อไปด้วย
อ่านข่าว :
"ผู้ว่าฯ ชัชชาติ" แถลงครบ 2 ปี เน้นโปร่งใส-ยกระดับเมืองน่าอยู่
ไทยพีบีเอส ถ่ายทอดสด Bangkok Pride Festival 2024 ให้ชมทั่วโลก 1 มิ.ย. นี้
เด็ก 37 ล้านคนทั่วโลกสูบบุหรี่ คนรุ่นใหม่จี้รัฐออกมาตรการแก้ไขจริงจัง