ประมงพื้นบ้านทำเอง สำรวจ "ทะเลระยอง" หลังน้ำมันรั่วปี 65

สิ่งแวดล้อม
30 พ.ค. 67
12:36
377
Logo Thai PBS
ประมงพื้นบ้านทำเอง สำรวจ "ทะเลระยอง" หลังน้ำมันรั่วปี 65
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

"กุ้งเคย วัตถุดิบที่ใช้ทำกะปิชั้นดีของ จ.ระยอง หายไปจากทะเลระยองตั้งแต่เกิดเหตุน้ำมันรั่วปี 2556 จนในปี 2564 ชาวประมงพื้นบ้านก็พบว่า กุ้งเคยเริ่มจะกลับมาบ้างเล็กน้อย ... แต่พอเกิดเหตุน้ำมันรั่วซ้ำในปี 2565 กุ้งเคย ก็ไม่กลับมาอยู่ในชายฝั่งทะเลระยองอีกเลย"

"ที่ชุมชนเรามีหลายครัวเรือนที่ทำกะปิขาย แต่เดิมกะปิของระยองจะมีสีออกขาว เพราะกุ้งเคยที่เป็นวัตถุดิบหลักในทะเลระยอง จะเข้ามาอยู่บนหาดทรายระยองซึ่งไม่มีโคลน แต่ปัจจุบันกะปิที่นี่จะมีสีต่างออกไป เพราะเราต้องซื้อกุ้งเคยจากทะเลฝั่งมหาชัยมาทำแทน ซึ่งกุ้งเคยที่นั่น หัวมันจะดำ เพราะมันอยู่ในป่าชายเลนที่มีดินโคลน"

“เคยโดนตีนมั้ย ... เป็นวลีติดหูที่หายไปแล้วตลอด 10 ปีที่ผ่านมานี้ ... เมื่อก่อนพวกเราประมงพื้นบ้านระยอง มีวิธีการออกไปจับกุ้งเคยโดยจะไปเดินอยู่แถวชายฝั่งที่เราจะรู้ว่า เดือนไหน กุ้งเคยจะมาขึ้นที่บริเวณอ่าวไหนเป็นจำทุกปี เวลาเดินอยู่ในทะเลก็จะมีฝูงกุ้งเคยมาโดนขา เราจะตะโกนถามกันว่า ... เคยโดนตีนมั้ย ... ถ้าตรงไหนบอกว่าโดน เราก็จะใช้ผ้าขาวบางไปช้อนกุ้งเคยขึ้นมา บางคนทำรายได้จากตรงนี้ได้หลายหมื่นบาทต่อเดือน แต่ไม่มีอีกเลยตั้งแต่น้ำมันรั่ว”

"เวลาคนประมงอย่างเราพูดถึงกุ้งเคย ... มันไม่ได้มีความหมายแค่การไปจับกุ้งเคยมาทำกะปิเท่านั้น แต่มันมีความหมายที่สามารถอธิบายไปถึงความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศในทะเลบริเวณนั้นด้วย ... อย่างลุง ไม่ใช่คนที่จับกุ้งเคยมาขาย แต่การมาของกุ้งเคย มันทำให้มีสัตว์ทะเลชนิดอื่น ๆ อีกนับไม่ถ้วนตามเข้ามาหากินในระบบห่วงโซ่อาหาร เมื่อไม่มีกุ้งเคย ก็ไม่มีสัตว์น้ำชนิดอื่นเข้ามา ... อาชีพประมงพื้นบ้านในทะเลระยอง กำลังล่มสลาย ... รุ่นเรา คงจะเป็นรุ่นสุดท้าย"

"น้ำมันรั่วปี 2556 เขาใช้วิธีฉีดสารเคมี (Dispersant) ให้น้ำมันแตกตัวเป็นก้อนเล็ก ๆ จมลงไปในทะเล เราก็บอกไปแล้วว่า หลังจากนั้น สัตว์น้ำในอ่าวระยองหายไปหมดเลย ... แต่พอเกิดน้ำมันในรั่วอีก 9 ปีให้หลัง เขาก็ยังทำวิธีการเดิมอีก โดยที่ไม่เคยมาถามคนที่รู้จักทะเลดีที่สุดอย่างพวกเราเลย"

"ตั้งแต่น้ำมันรั่วมาทั้ง 2 รอบ กินเวลาไปเกือบ 11 ปีแล้ว หน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบยังไม่เคยลงสำรวจหาผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลอย่างจริงจังเลย ทำเพียงแค่ปล่อยสัตว์น้ำตัวอ่อนลงทะเล ซึ่งปล่อยลงไปก็หายไปหมด ... ในขณะที่ชาวประมงอย่างเราที่ออกเรือกันอยู่เกือบทุกวัน พยายามส่งเสียงมาตลอดว่าทะเลมันไม่เหมือนเดิม มันผิดปกติ ... เราก็คิดว่า เราพูดเสียงดังนะ ... แต่เหมือนเขาทำเป็นไม่ได้ยิน"

"ในเมื่อแค่เสียงตะโกนของพวกเราชาวประมง มันไม่น่าเชื่อถือ เขาไม่รับฟัง ... เขาไม่ลงมาสำรวจ ไม่มาทำหน้าที่ของรัฐเพื่อหาหลักฐานไปฟ้องร้องเอกชนที่สร้างความเสียหาย ... ดังนั้น พวกเราจะหาหลักฐานเหล่านี้ด้วยมือของพวกเราเอง" 

ทุกประโยคข้างต้น คือ "ปัญหา" ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาถกกันในวงพูดคุยของชาวประมงพื้นบ้าน ในฐานะสมาคมประมงพื้นบ้านท้องถิ่นระยอง ซึ่งกำลังเริ่มทำกระบวนการสำรวจผลกระทบต่อทะเลระยองที่คาดว่าจะเกิดจากเหตุการณ์น้ำมันรั่วครั้งล่าสุดเมื่อปี 2565 ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐใช้วิธีการฉีดพ่นสารเคมี (Dispersant) ลงไปที่คราบน้ำมัน เพื่อให้น้ำมันแตกตัวเป็นก้อนเล็ก ๆ และจมลมลงไปในทะเล ... ดังนั้น กลุ่มประมงพื้นบ้านจึงจะลงไปเก็บตัวอย่างดินในจุดที่มีข้อมูลว่าจะเห็นผลกระทบจากบริเวณอ่าวระยองหลายสิบจุดเข้าไปตรวจในห้องปฏิบัติการว่าได้รับผละทบจากน้ำมันรั่วหรือไม่

การสำรวจนี้ถูกจัดทำอย่างเป็นระบบ มีนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีเข้ามาร่วมวางแผนเพื่อให้การเก็บตัวอย่างในทุกจุดเป็นไปตามระเบียบวิธีการวิจัย ตั้งแต่การคัดเลือกพื้นที่สำรวจ วิธีการเก็บตัวอย่าง การบันทึกภาพ การบันทึกข้อมูลลงในเอกสาร ไปจนถึงการส่งตัวอย่างที่ไปห้องปฏิบัติการ

แผนที่อ่าวระยองไล่จากทิศตะวันตกไปยังทิศตะวันออก คือ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด หาดแสงจันทร์ ชุมชนก้นอ่าว หาดแม่รำพึง บ้านเพ เกาะเสม็ด ยาวไปจนถึงชายหาด อ.แกลง ถูกปริ้นต์มาติดตั้งเพื่อแสดงการวางจุดลงสำรวจ โดยในระยะที่ 1 ซึ่งได้ลงสำรวจไปบ้างแล้ว เริ่มจากช่วงกลางของทะเลระยอง คือ บริเวณชุมชนก้นอ่าวและบริเวณที่ตรงกับหาดแม่รำพึง ค่อนไปถึงร่องน้ำลึกก่อนถึงเกาะเสม็ด

"สาเหตุที่เลือกสำรวจบริเวณนี้ก่อน เพราะเป็นจุดที่เราเห็นว่า คราบน้ำมันลอยจากท่อที่รั่วแถบมาบตามพุด มาทางตะวันออกของทะเลระยอง ผ่านมาที่ชุมชนก้นอ่าว หาดแม่รำพึง ไปทางเกาะเสม็ด ซึ่งมีจุดที่เขาใช้สารเคมีฉีดพ่นให้น้ำมันจมลงไปก็อยู่ในพื้นที่แถบนี้ด้วย ... แต่หลังจากนี้ เราก็จะขยายความร่วมมือไปสำรวจให้ทั่วทั้งหมดของทะเลระยอง"

บรรเจิด ล่วงพ้น หรือ ลุงเจิด ประมงพื้นบ้านชาวระยองในวัย 67 ปี

บรรเจิด ล่วงพ้น หรือ ลุงเจิด ประมงพื้นบ้านชาวระยองในวัย 67 ปี

บรรเจิด ล่วงพ้น หรือ ลุงเจิด ประมงพื้นบ้านชาวระยองในวัย 67 ปี

บรรเจิด ล่วงพ้น หรือ ลุงเจิด ประมงพื้นบ้านชาวระยองในวัย 67 ปี อธิบายถึงวิธีการเลือกจุดสำรวจ ซึ่งพล็อตลงในแผนที่ไว้ทั้งหมดในช่วงแรก 14 จุด โดยประเมินจาก 3 ปัจจัยสำคัญ คือ (1) เป็นจุดที่ฉีดพ่นสาร Dispersant ให้น้ำมันแตกตัวจมลงไป (2) เป็นจุดที่พี่น้องประมงพื้นบ้านออกไปหาสัตว์น้ำหลังน้ำมันรั่วและพบว่ามีวัตถุลักษณะคล้ายคราบน้ำมันติดเครื่องมือจับสัตว์น้ำขึ้นมาด้วย (3) เป็นจุดที่พบว่ามีซากหอยตายอยู่บนพื้นทรายใต้ทะเลจำนวนมากผิดปกติ

สิ่งที่น่าสนใจนอกจากการที่ชาวประมงพื้นบ้านร่วมมือกับทีมนักวิชาการเพื่อริเริ่มการสำรวจผลกระทบที่เกิดขึ้นกับทะเลระยองแล้ว เมื่อดูจากแผนที่ที่พวกเขาใช้ในการสำรวจก็จะพบว่า ชาวประมงพื้นบ้าน มีองค์ความรู้เกี่ยวกับพื้นที่ต่าง ๆ ในทะเลระยองในเชิงลึกเป็นอย่างมาก พวกเขาสามารถระบุถึงจุดที่มีร่องน้ำ กระแสน้ำ แหล่งหินสำคัญที่เคยมีสัตว์น้ำชุกชุมใต้ทะเล จุดที่เป็นหินเทียม ปะการังเทียม ซึ่งทุกจุดจะมีชื่อเรียกที่รู้กันในกลุ่มชาวประมงพื้นบ้าน เป็นชื่อที่สืบทอดกันมาบ้าง บางชื่อถูกตั้งขึ้นจากคนที่ไปค้นพบแหล่งจับสัตว์น้ำในจุดนั้นเป็นคนแรก

ในแผนที่ยังมีเส้นทางของกุ้งเคยที่จะออกมาในแต่ละช่วงเวลา มีจุดที่จับกุ้งแชบ๊วยได้ทุกปีมาตลอด และกำจังจะเพิ่มเติมไปด้วยว่าที่จุดไหน หินก้อนไหน ร่องน้ำไหน เคยเป็นแหล่งที่พบสัตว์น้ำชนิดไหนมากที่สุดก่อนเกิดน้ำมันรั่วครั้งแรกเมื่อปี 2565 ไม่ว่าจะเป็น ปู หอย หมึก พันธุ์ปลาต่าง ๆ นี่จึงเป็นแผนที่ที่สามารถลงรายละเอียดให้เห็นข้อมูลของระบบนิเวศของทะเลระยองได้มากกว่าแผนที่ฉบับอื่น ๆ ที่หน่วยงานรัฐใช้งานอยู่

"จาก 14 จุด ที่พวกเรากำหนดไว้ เมื่อลงไปสำรวจเบื้องต้นร่วมกับทีมนักวิจัยโดยยังไม่เก็บตัวอย่าง เราพบถึง 8 จุด ที่มีความผิดปกติ และได้ส่งทีมดำน้ำลงไปเก็บตัวอย่างมาแล้ว 3 จุด ... พบความผิดปกติที่อาจเกี่ยวข้องกับน้ำมันทั้ง 3 จุด" ลุงเจิด อธิบายเพิ่มเติม

จาก 3 จุดที่เก็บตัวอย่างมาแล้ว กลุ่มสมาคมประมงพื้นบ้านท้องถิ่นระยอง ช่วยกันอธิบายแจกแจง ตามชื่อแหล่งที่สำรวจ สาเหตุที่สำรวจ และสิ่งผิดปกติที่พบจากการเก็บตัวอย่าง

จุดที่ 1 หินไอ้เปี๊ยะ

ที่มาของชื่อแหล่งสำรวจ ... ไอ้เปี๊ยะ เป็นชื่อเรียกของพันธุ์ปลาชนิดหนึ่งซึ่งเคยมีอยู่ชุกชุมที่บริเวณหินก้อนนี้ จึงเคยเป็นแหล่งตกปลาไอ้เปี๊ยะและปลาชนิดอื่นๆด้วย แต่ปัจจุบัน ไม่มีปลาเลย สาเหตุที่เลือกเก็บตัวอย่างจุดนี้ ... เป็นจุดที่ชาวประมงเคยพบเปลือกหอยมากผิดปกติใต้พื้นทะเล มีหอยตายจำนวนมาก และเป็นเส้นทางตรงกึ่งกลางที่คราบน้ำมันลอยจากจุดที่รั่วไปยังเกาะเสม็ด

ความผิดปกติที่พบ ... พบดินใต้ทะเลมีสีดำผิดปกติ พบซากเปลือกหอยจำนวนมาก

จุดที่ 2 หินเทียม เบอร์ 10

ที่มาของชื่อแหล่งสำรวจ ... เป็นหินเทียมที่ถูกทิ้งไว้ให้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำวัยอ่อน สาเหตุที่เลือกเก็บตัวอย่างจุดนี้ ... เป็นจุดที่เจ้าหน้าที่ระดมฉีดสาร Dispersant ทำให้คราวน้ำมันดิบแตกตัวและจมลงไปบริเวณนี้ค่อนข้างมาก

ความผิดปกติที่พบ ... พบดินสีดำที่มีกลิ่นน้ำมันติดอยู่ และเมื่อใช้กระดาษซับก็พบคราบน้ำมันติดกระดาษ

จุดที่ 3 ร่องน้ำลึกใต้หินธร ก่อนเข้าสู่อ่าวพร้าว(เกาะเสม็ด)

ที่มาของชื่อแหล่งสำรวจ ... เป็นร่องน้ำลึกกว้าง 12 เมตร อยู่ก่อนถึงเกาะเสม็ดฝั่งอ่าวพร้าว สาเหตุที่เลือกเก็บตัวอย่างจุดนี้ ... เป็นจุดที่มีเรือของเจ้าหน้าที่มาจอดเฝ้าอยู่ประมาณ 3 สัปดาห์นับจากเกิดเหตุน้ำมันรั่ว และมีความพยายามกำจัดคราบน้ำมันก่อนเข้าสู่อ่าวพร้าวซึ่งเป็นแหลงท่องเที่ยวสำคัญ หลังเกิดเหตุ 1 เดือน มีการใช้บูมมาล้อมที่บริเวณนี้และการเป็นร่องน้ำขนาดใหญ่ อาจพบการตกค้างได้

ความผิดปกติที่พบ ... พบดินสีดำ มีกลิ่นฉุน

ตัวอย่างที่เก็บขึ้นมาจากทั้ง 3 จุด ได้ถูกส่งไปตรวจที่ห้องปฎิบัติการแล้ว อยู่ระหว่างการวิเคราะห์สรุปผล

สมาคมประมงพื้นบ้านท้องถิ่นระยอง ยังยืนยันว่า การสำรวจผลกระทบที่เกิดขึ้นกับทะเลระยองหลังเหตุการณ์น้ำมันรั่วปี 2565 จะยังคงดำเนินการต่อไป โดยหลังจากการเก็บตัวอย่างในบริเวณก้นอ่าวและหาดแม่รำพึงเสร็จแล้ว ก็จะขยายผลไปดำเนินการร่วมกับประมงพื้นบ้านในพื้นที่อื่น ๆ ด้วย ทั้งฝั่งตะวันตกใกล้นิคมอุตสากหกรรมมาบตาพุด หาดแสงจันทร์ รวมทั้งฝั่งตะวันออกไปที่บ้านเพ อำเภอแกลง และอาจเลยไปติดทะเลจันทบุรี เพื่อให้เห็นว่า ชาวประมงพื้นบ้านทุกพื้นที่ในอ่าวระยอง เป็นกลุ่มที่รู้จักทะเลระยองเป็นอย่างดี จึงเป็นกลุ่มที่หน่วยงานรัฐควรจะเปิดพื้นที่ให้เข้ามามีส่วนร่วมตัดสินใจในการเลือกใช้วิธีการที่จะส่งผลกระทบกับระบบนิเวศทางทะเลน้อยที่สุดเมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้

และที่สำคัญ คือ พวกเขาต้องการ "หลักฐาน" ที่น่าเชื่อถือ ไปยืนยันกับหน่วยงานรัฐว่า ทะเลระยองได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้จริงหรือไม่ สัตว์น้ำที่หายไปมีความเชื่อมโยงกับเหตุน้ำมันรั่วจริงหรือไม่

ชาวประมงพื้นบ้านกลุ่มนี้ ยังหวังด้วยว่า หลักฐานจากการสำรวจที่พวกเขาทำ จะช่วยให้หน่วยงานของรัฐ สามารถนำไปใช้ต่อได้ เพื่อให้หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง "ได้ทำหน้าที่ของรัฐ" ในการ "เป็นตัวแทนของประชาชน" ไปเรียกค่าเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมจากผู้ก่อมลพิษตัวจริงได้อีกด้วย

รายงานโดย : สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง