ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิดบันทึกกฤษฎีกา "คดีบิ๊กโจ๊ก" ไม่ผูกพันคำอุทธรณ์ "ก.พ.ค.ตร."

อาชญากรรม
30 พ.ค. 67
16:15
4,159
Logo Thai PBS
เปิดบันทึกกฤษฎีกา "คดีบิ๊กโจ๊ก" ไม่ผูกพันคำอุทธรณ์ "ก.พ.ค.ตร."
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ท่าทีเปิดหน้าท้าชนของ "บิ๊กโจ๊ก" พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล เงียบหายไปเกือบ 1 เดือนที่ผ่านมา ด้วยว่า คดีความรวมไปถึงเรื่องร้องเรียน การอุทธรณ์ ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ล้วนเข้าสู่กระบวนการไปทั้งหมดแล้ว

แต่ประเด็นการถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ถูกนำมากล่าวถึงอีกครั้ง ภายหลังที่ บันทึกความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 2 เผยแพร่สู่สาธารณะ โดยมีเนื้อหาสาระสำคัญ สอดคล้องกับคำร้องทุกข์ ของ "บิ๊กโจ๊ก" พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ที่ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ต่อคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ หรือ ก.พ.ค.ตร. ด้วยเหตุที่ว่า "บิ๊กต่าย" พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธ์ุเพ็ชร์ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มีคำสั่งโดยมิชอบด้วยกฎหมาย อันขัดต่อ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565

หากย้อนกลับไปวันที่ "บิ๊กโจ๊ก" พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เข้ายื่นอุทธรณ์คำสั่ง ต่อ ก.พ.ค.ตร. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมกางข้อกฎหมายที่บัญญัติเอาไว้ใน พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติปี 2547 ข้อ 8 มาตรา 131 ที่ระบุว่า กรณีสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนต้องใช้ กฎ ก.ตร. ปี 2547 มาประกอบ หากแต่ในข้อ 8 ของกฎ ก.ตร. ปี 47 กรณีการสอบสวนไม่แล้วเสร็จโดยเร็ว ได้ขัดแย้งกันในข้อกฎหมายตามที่กล่าวไป (พ.ร.บ.ตำรวจฯ 65) จึงต้องนำมาตรา 120 มาใช้แทน ซึ่งระบุว่า การสอบสวนข้อเท็จจริงต้องให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน หลังจากนั้นจะส่งให้นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้บังคับบัญชาเป็นผู้พิจารณา

แต่พบว่าคำสั่งครั้งนี้มีความขัดแย้งกัน จึงต้องยกเลิกคำสั่งให้ออกจากราชการนี้ไปโดยปริยาย เพราะถือเป็นการให้ออกจากราชการโดยมิชอบ

นอกจากนี้ใน พ.ร.บ.ตำรวจฯ 65 ยังระบุว่า ระหว่างการสอบสวนจะนำเหตุแห่งการสอบสวนมาเป็นข้ออ้างในการดำเนินการใด ให้กระทบต่อสิทธิ์ของผู้ถูกสอบสวนไม่ได้ เว้นแต่ผู้บังคับบัญชาจะสั่งพักราชการหรือให้ออกจากราชการไว้ก่อน ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสอบสวนแล้วมีความเห็นไปถึงผู้บัญชาการภาคหรือผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติว่าจะมีดุลยพินิจอย่างไร

"กรณีของผมนั้นมีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนในวันเดียวกับที่มีคำสั่งให้ออกจากราชการฯ ดังนั้นจึงไม่มีข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการสอบสวนที่มี พล.ต.อ.สราวุฒิ การพานิช รอง ผบ.ตร. เป็นหัวหน้าคณะตามกฎหมายฉบับดังกล่าว เป็นการกลับไปใช้กฎหมายฉบับเดิมปี 2547 ที่ให้เป็นไป ตามดุลยพินิจของผู้บังคับบัญชา" พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ย้ำ

เปิดบันทึกสำคัญ "กฤษฎีกา" ตอบกลับ "สลค."

บันทึกของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 2 เรื่องการดำเนินการเกี่ยวกับการให้ข้าราชการตำรวจออกจากราชการไว้ก่อน เป็นการตอบกลับ ไปยังสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลค.) ตามที่ได้ขอหารือ ว่า จะต้องนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงมีพระบรมราชโองการให้ข้าราชการตำรวจที่พ้นจากตำแหน่งหรือไม่และต้องดำเนินการเมื่อใด

ความเห็นของคณะกรรมการฯ ตอนหนึ่ง ระบุว่า พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติปี 2565 ไม่ได้บัญญัติระยะเวลาเอาไว้ จึงเป็นดุลยพินิจของนายกรัฐมนตรี ที่จะต้องพิจารณาดำเนินการด้วยความรอบคอบในระยะเวลาอันเหมาะสม แต่นายกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีหน้าที่ต้องตรวจสอบและรับรองความถูกต้องของการสั่งให้ข้าราชการดังกล่าวออกจากราชการก่อนอย่างรอบคอบให้เป็นที่ยุติเสียก่อน

พล.ต.ต.กิตติ์รัฐ พันธ์เพ็ชร์ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

พล.ต.ต.กิตติ์รัฐ พันธ์เพ็ชร์ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

พล.ต.ต.กิตติ์รัฐ พันธ์เพ็ชร์ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

ในบันทึก คณะกรรมการฯ ยังได้ยกเจตนารมย์สำคัญของ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ว่าด้วย ให้จัดระเบียบข้าราชการตำรวจเป็นไปตามหลักนิติธรรมและเกิดความเป็นธรรมคำนึงถึงระบบคุณธรรม ซึ่งบัญญัติให้มี ก.พ.ค.ตร. พิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจและยังให้ความเห็น ถึงคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ 2565 อีกว่า

"ในระหว่างการสอบสวนจะนำเหตุแห่งการถูกสอบสวนมาเป็นข้ออ้างให้กระทบสิทธิของผู้ถูกสอบสวนไม่ได้ เว้นแต่ผู้บังคับบัญชาจะสั่งพักหรือให้ออกจากราชการไว้ก่อนตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสอบสวน ซึ่งในกรณีนี้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ขึ้นในวันเดียวกับที่มีคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน และการสอบสวนย่อมเป็นการกระทบหลายประการของผู้ถูกสอบสวน"

โดยสรุปคือ ให้คำแนะนำว่า จะนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงมีพระบรมราชโองการให้ข้าราชการตำรวจที่พ้นจากตำแหน่ง ได้ก็ต่อเมื่อมีการตรวจสอบและรับรองความถูกต้องของการสั่งให้ข้าราชการดังกล่าวออกจากราชการก่อนอย่างรอบคอบให้เป็นที่ยุติเสียก่อน

ส่วนความเห็นถึงคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ตาม พ.ร.บ.ตำรวจฯ 65 ใจความสำคัญคือ การสั่งให้ออกจากราชการฯหรือให้พักราชการฯ ต้องได้รับคำแนะนำจากคณะกรรมการสอบสวนและในระหว่างการสอบสวนจะนำเหตุแห่งการถูกสอบสวนมาเป็นข้ออ้างให้กระทบสิทธิของผู้ถูกสอบสวนไม่ได้

"สอดคล้อง"แต่ "ไม่ผูกพัน"คำฯอุทธรณ์ของ ก.พ.ค.ตร.

พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ให้ความเห็นในฐานะกรรมการข้าราชการตำรวจ ผู้ทรงคุณวุฒิ ว่า กรณีคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ยังไม่ถือเป็นที่ยุติ เนื่องจากได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่ง ต่อ ก.พ.ค.ตร. ซึ่งเรื่องอุทธรณ์ได้เข้าสู่กระบวนการของกรรมการแล้ว พร้อมระบุว่า

"ความเห็นพร้อมข้อสังเกตจากคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 2 ไม่มีผลผูกพันที่ ก.พ.ค.ตร. จะต้องปฏิบัติตาม"

พล.ต.อ.เอก ระบุ ว่า ผลการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ ของ ก.พ.ค.ตร. จะเป็นคำตอบเดียว ที่มีผลทางกฎหมายและทางปกครอง ต่อกรณีการออกคำสั่งของ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธ์ุเพ็ชร์ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ว่า ออกคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

พล.ต.อ.เอก  อังสนานนท์ กรรมการข้าราชการตำรวจ ผู้ทรงคุณวุฒิ

พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ กรรมการข้าราชการตำรวจ ผู้ทรงคุณวุฒิ

พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ กรรมการข้าราชการตำรวจ ผู้ทรงคุณวุฒิ

ในกรณีที่ผลการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ ออกมาว่า คำสั่งให้ออกจากราชการฯ เป็นการออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ จะกลับเข้ารับราชการในตำแหน่งเดิมได้ทันที พร้อมนั่งอาวุโสลำดับที่ 1 ซึ่งหากผลการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ จบโดยเร็ว ในกรอบ 120 วัน จะเท่ากับว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ จะได้เข้าชิงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติอีกครั้งด้วย และเชื่อว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ จะเอาผิดผู้ลงนามคำสั่งให้ออกจากราชการฯ แน่นอน

แต่หากผลการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ ออกมาว่า คำสั่งให้ออกจากราชการฯ ของ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแหงชาตินั้น เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว

และหากฝ่ายผู้อุทธรณ์หรือ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของ ก.พ.ค.ตร.
ก็ยังมีสิทธิสู้อีกครั้งและเป็นครั้งสุดท้าย คือ ฟ้องคดีต่อศาลปกครองสูงสุด ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ทราบ หรือถือว่าทราบคำวินิจฉัยของ ก.พ.ค.ตร.

พล.ต.อ.เอก ระบุว่า หากคดีไปถึงศาลปกครองสูงสุด ก็จะเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลาซึ่งคาดว่า อาจจะนานกว่า 1 ปี กว่าที่ศาลฯ จะมีคำพิพากษา

ก.พ.ค.ตร.ชี้ไม่ซับซ้อนอยู่ที่คู่กรณี "ขยายอุทธรณ์-โต้แย้ง" หรือไม่

ในช่วงต้นเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ประธาน ก.พ.ค.ตร. ได้พิจารณาคำอุทธรณ์และได้มอบหมายให้กรรมการคนหนึ่งเป็นกรรมการเจ้าของสำนวนแล้ว

นายธวัชชัย ไทยเขียว ก.พ.ค.ตร. ในฐานะรองโฆษก ก.พ.ค.ตร. ให้ข้อมูลว่า ในบรรดากรรมการทั้งหมดจะไม่มีใครทราบว่า ประธานมอบหมายคดีให้ใครรับผิดชอบ แต่สันนิษฐานได้ว่า กรรมการเจ้าของสำนวนได้แจ้งให้คู่กรณี ซึ่งหมายถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้ทำคำแก้อุทธรณ์ภายใน 30 วันไปแล้ว ถ้าคู่กรณีไม่ยื่นขอขยายระยะเวลาการทำคำแก้อุทธรณ์ และผู้อุทธรณ์เมื่อเห็นคำแก้อุทธรณ์แล้ว ไม่มีประเด็นโต้แย้งในสาระสำคัญ ก็จะใช้เวลาไม่นานเกินกรอบเวลาแรกตามที่กฎหมายกำหนด คือ ไม่เกิน 120 วัน หรือเร็วกว่า

 นายธวัชชัย  ไทยเขียว  ก.พ.ค.ตร. ในฐานะรองโฆษก ก.พ.ค.ตร.

นายธวัชชัย ไทยเขียว ก.พ.ค.ตร. ในฐานะรองโฆษก ก.พ.ค.ตร.

นายธวัชชัย ไทยเขียว ก.พ.ค.ตร. ในฐานะรองโฆษก ก.พ.ค.ตร.

"เป็นสำนวนคดีที่ไม่ได้มีความยุ่งยากซับซ้อน ตอนนี้จะช้าหรือเร็วอยู่ที่คู่กรณีได้ขอขยายเวลาทำคำแก้อุทธรณ์หรือผู้อุทธรณ์มีข้อโต้แย้งในสาระสำคัญหรือไม่"

ซึ่งเป็นเรื่องที่มีแค่กรรมการเจ้าของสำนวนและนิติกรผู้รับผิดชอบสำนวน เท่านั้นที่ทราบความคืบหน้าในกระบวนการพิจารณา

รายงานพิเศษโดย : กิตติพร บุญอุ้ม ผู้สื่อข่าวอาชญากรรม ไทยพีบีเอส

อ่านข่าว: "แป้ง นาโหนด" แกล้งใบ้ ถือพาสปอร์ตปลอม "ทวี" ยันจับได้ขณะเที่ยวบาหลี

สุดเศร้า “จิงโจแดง” หลุดกรงจากสวนสัตว์เชียงใหม่ ตายแล้ว

"หมอมนูญ" ชี้โควิด KP.2 สายพันธุ์ย่อยใหม่ ติดง่ายแต่ไม่รุนแรง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง