ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ลดโลกร้อน เริ่มต้นจาก "จานอาหาร" ของเรา

สิ่งแวดล้อม
5 มิ.ย. 67
11:44
2,112
Logo Thai PBS
ลดโลกร้อน เริ่มต้นจาก "จานอาหาร" ของเรา
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

1 วัน 1 คน กินอาหารกันไปเท่าไหร่?
1 มื้อ แต่ละคนกินอาหารกันหมดจานหรือไม่?

บางคนกินเหลือทิ้งไว้ในจานนิดหน่อย บางคนก็เหลือเยอะหน่อย หากอาหารไม่ถูกปาก ถ้านับอาหารที่กินเหลือทิ้งไว้ในจานแต่ละวันของแต่ละคนมารวมกัน คงไม่ใช่ปริมาณที่น้อยๆ ยังไม่รวมถึงเศษอาหาร หรืออาหารที่เน่าเสีย จากร้านอาหาร ตลาดสด และภายในครัวเรือน

อาหารที่เหลือเหล่านั้นกลายเป็น “ขยะอาหาร” หรือ “Food Waste” ที่เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม และท้ายที่สุดแล้วปัญหาที่ว่านี้ก็ย้อนมากระทบกับตัวคนเราเองอย่างหลีกหนีไม่พ้น

อ่านข่าว : “ปะการังฟอกขาว” ภาพสะท้อน “โลกร้อน” ขั้นวิกฤต

ขยะอาหาร
FoodWaste
โลกร้อน
ขยะอาหารคืออะไร
ก๊าซเรือนกระจก
ก๊าซมีเทน
ปัญหาขยะอาหาร
สิ่งแวดล้อม
สิ่งแวดล้อมโลก
ข่าววันนี้
ข่าวล่าสุด
ข่าวล่าสุดวันนี้

ขยะอาหาร FoodWaste โลกร้อน ขยะอาหารคืออะไร ก๊าซเรือนกระจก ก๊าซมีเทน ปัญหาขยะอาหาร สิ่งแวดล้อม สิ่งแวดล้อมโลก ข่าววันนี้ ข่าวล่าสุด ข่าวล่าสุดวันนี้

“ขยะอาหาร” วิกฤตโลก

จากรายงานของ Food Waste Index Report 2021 ทั่วโลกมีปริมาณขยะอาหารกว่า 931 ล้านตัน เทียบได้กับรถบรรทุก 40 ตัน หรือประมาณรถจำนวน 23 ล้านคัน

ซึ่งเกิดจากผู้บริโภค 61 % ผู้ประกอบการ 26 % และผู้จำหน่ายอาหาร 13 % โดยเฉลี่ยแล้วทั่วโลก มีปริมาณขยะอาหารคิดเป็น 74 กิโลกรัมต่อคนต่อปี

ขยะอาหารในประเทศไทย ปี 2565 จากรายงานสถานการณ์มลพิษ พบมีปริมาณ 9.68 ล้านตัน คิดเป็น 38 % ของขยะมูลฝอยชุมชน ที่เกิดขึ้นทั้งหมด 26 ล้านตัน โดย 1 คน ผลิตขยะอาหาร 146 กิโลกรัมต่อปี

สำหรับขยะอาหารที่เกิดขึ้นมาจากส่วนที่รับประทานได้ 39 % และส่วนที่รับประทานไม่ได้ 61 %

“ขยะอาหาร” คืออะไร

ประเภทของขยะอาหารถูกจำแนกออกเป็น 2 แบบ ตามแหล่งกำเนิด โดย น.ส.เบญจมาส โชติทอง ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาโครงการและแผนงาน สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ระบุว่า ขยะอาหาร (Food Waste) จะมาพร้อมกับการสูญเสียอาหาร (Food Loss) ที่เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นก่อนที่จะมาถึงมือผู้บริโภค จากการขนส่ง หรือ สินค้าตกเกรดที่ถูกคัดทิ้ง

ขยะอาหาร (Food Waste) เป็นอาหารเหลือทิ้งในตอนปลายของห่วงโซ่อุปทานอาหาร เป็นอาหารที่ถูกทิ้ง หรือเสื่อมสภาพ ทั้งจากผู้จำหน่ายหรือผู้ค้าปลีก ผู้ประกอบอาหารหรือผู้ให้บริการด้านอาหารและผู้บริโภค

แค่ช่วงปลายห่วงโซ่อาหารทำให้เห็นถึงที่มาของขยะอาหารมาจากหลายแหล่ง แต่ละแหล่ง มีรูปแบบการเกิดขยะอาหารต่างกัน มีผู้เกี่ยวข้องต่างกัน โดยทั่วไปจะอยู่ในเขตเมือง เพราะนอกเขตเมืองจะมีการจัดการ วิธีการกระจายที่ลดการเกิดขยะอาหารได้ดีกว่า

ซึ่งการวิเคราะห์ องค์ประกอบขยะที่สถานีขนถ่ายขยะ พื้นที่กรุงเทพมหานคร มีสัดส่วนขยะอาหาร 52 % ของขยะที่เกิดขึ้น

เบญจมาส โชติทอง ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาโครงการและแผนงาน สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย

เบญจมาส โชติทอง ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาโครงการและแผนงาน สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย

เบญจมาส โชติทอง ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาโครงการและแผนงาน สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย

ที่มา “ขยะอาหาร”

กลุ่มผู้ที่เกี่ยวข้องกับหรือเป็นแหล่งที่เกิดการสูญเสียอาหารและขยะอาหาร แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม

1.การจัดจำหน่าย ประกอบด้วย ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ ร้านค้าปลีก ตลาด
2.การบริการ ประกอบด้วย โรงแรม ภัตตาคาร ร้านอาหาร และศูนย์อาหาร
3.ผู้บริโภค ที่เกิดจากการซื้ออาหาร การเตรียมอาหาร พฤติกรรมในการกินอาหาร และการทำบุญในวัด

สำหรับแหล่งกำเนิดที่เกิดขยะอาหารสูงสุดคือ ตลาดสด ซึ่งมีสัดส่วนขยะอาหารถึง 77.26 % จากปริมาณขยะทั้งหมดภายในตลาด ตามมาด้วย ห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ มีสัดส่วนขยะอาหาร 54.94 % จากปริมาณขยะทั้งหมด อาคารสำนักงาน มีสัดส่วนขยะอาหาร 41.41 % คอนโดมิเนียม 40.998% โรงแรมและรีสอร์ต 37.03 % และ วัด ครัวเรือน สถานศึกษา

อ่านข่าว : อากาศแปรปรวนจ่อเผชิญ "ลานีญา" ระวัง "ฝนตกหนักสุดขั้ว"

3 สาเหตุเกิด “ขยะอาหาร”

"ขยะอาหาร" เกิดจากอาหารส่วนที่เหลือ คือมากกว่าความจำเป็น ปริมาณมากเกินไป ชิ้นใหญ่หรือจานใหญ่ หรืออาจจะเป็นที่รสชาติไม่ถูกปาก

อาหารที่ถูกคัดทิ้ง อาหารที่ตกเกรดไม่สวย รูปลักษณ์ไม่เป็นที่ต้องการ ตกเกรด ไม่ได้ตามเกณฑ์ บรรจุภัณฑ์หรือป้ายชำรุด ใกล้หมดอายุ เศษวัตถุดิบจากการเตรียมอาหารไม่เป็นที่ต้องการ หรืออาหารที่อยู่ในผลิตภัณฑ์ที่ฉลากชำรุด ใกล้หมดอายุ

ซึ่งทั้งอาหารส่วนที่เหลือ และอาหารที่ถูกคัดทิ้ง เป็นอาหารไม่ควรจะเป็นขยะ เป็นอาหารที่สามารถบริโภคได้ถ้าเกิดการวางแผน และการจัดการที่ดี และขยะอาหารที่เกิดจากอาหารที่เสื่อมสภาพ หรืออาหารหมดอายุ ที่ไม่เหมาะกับการรับประทานของคน

ผลกระทบที่เกิดจาก “ขยะอาหาร”

"ขยะอาหาร" แม้จะเป็นเศษอาหารที่หลายคนมองว่า จะสามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติก็ตามที แต่ความเป็นจริงแล้ว ขยะอาหารมีส่วนสร้างผลกระทบได้เช่นเดียวกับขยะประเภทอื่นๆ

โดยพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทยเป็นพื้นที่เกษตร ที่จัดสรรเพื่อการเพาะปลูกพืชในอุตสาหกรรมผลิตอาหาร แต่เมื่อผลจากการใช้พื้นที่ไม่เต็มที่ แต่ต้องมาเป็นขยะ

นอกจากการใช้พื้นที่เหล่านั้นอย่างเปล่าประโยชน์แล้ว การใช้ปุ๋ยใช้น้ำ ใช้พลังงาน ใช้แรงงานคน ซึ่งก่อให้เกิดการสิ้นเปลืองทรัพยากร และต้นทุนในกระบวนการผลิตและการบริหาร

และที่สำคัญ กระบวนการการย่อยสลายที่เกิดจากการหมัก ทำให้เกิดก๊าซมีเทน ที่เติบโตในสภาพไร้ออกซิเจน ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งก๊าซเรือนกระจกถูกปล่อยออกมาทั้งหมดจากอาหารที่ถูกทิ้งทั่วโลกมากถึง 8 % ซึ่งมีอานุภาพที่ทำให้เกิดโลกร้อน อีกทั้งเป็นแหล่งเชื้อโรค ส่งกลิ่นเหม็นรบกวน

รวมถึงเป็นการสูญเสียอาหาร และเม็ดเงินโดยเปล่าประโยชน์

เรื่องใกล้ตัว ที่วนย้อนกลับสู่ตัวเรา

จาก 60 % ขยะอาหารมาจากครัวเรือน จากพฤติกรรมบริโภค ในกระบวนการก่อให้เกิดขยะอาหาร ส่วนใหญ่เกิดจากการรับประทานอาหารไม่หมดในแต่ละมื้อ

"ขยะอาหาร" จากครัวเรือน ส่วนใหญ่มักเป็นเศษอาหารที่เกิดจากการรับประทาน จากการทำกับข้าวเพื่อบริโภคในแต่ละวัน เช่น เปลือกผลไม้ ส่วนผักที่ไม่ใช้ได้

ระดับร้านอาหาร ซึ่งเน้นในการประกอบอาหารสำหรับการจัดจำหน่าย ให้บริการ เป็นจุดที่มีการรองรับขยะอาหารจากทั้งเหลือบริโภค และการผลิตของทางร้านเอง

"ขยะอาหาร" ตามศูนย์อาหารส่วนใหญ่ คือ คาร์โบไฮเดรต เช่น ข้าว เส้นก๋วยเตี๋ยวส่วนผักจะเป็นประเภทผักรองจาน ผักตกแต่ง อย่าง มะเขือเทศ แตงกวา บางคนกินไม่หมด หรือไม่กิน และจะเหลือทิ้งคาจาน

การตั้งข้อสังเกต บางครั้งคนไม่กินจริง หรือชิ้นใหญ่ ยากต่อการรับประทาน
ได้แนะนำคนขายว่า อะไรที่ถูกทิ้งก็จะแต่งจานน้อยลง หรือหั่นชิ้นเล็กลง ให้สะดวกในการรับประทาน และป้องกันไม่ให้เกิดการสูญเสีย

ทั้งนี้ศูนย์อาหารหลายแห่งได้มีแนวทางตักข้าว ตักอาหาร ตามความหิวของแต่ละวัน โดยให้ผู้ซื้อแจ้งคนขายว่า ปริมาณต้องการมากหรือน้อย เช่นโรงอาหารของจุฬาฯ ได้มีการรณรงค์จริงจังกับนักศึกษาในการซื้อให้พอดีถ้าเหลือให้ช่วยแยกขยะอาหาร

น.ส.เบญจมาส ยังกล่าวว่า แหล่งที่มาขยะอาหารที่น่าห่วงอีกหนึ่งแห่ง คือ อาหารที่เหลือจากงานจัดเลี้ยง ประชุม จากการประเมินผู้เข้าร่วมที่เผื่อไว้เกินจำนวนจริง

จากแนวคิดที่ว่าเหลือดีกว่าขาด แต่กลับกลายเป็นต้นทางในการสร้างขยะอาหารที่ไม่น้อย เช่นเดียวกับร้านบุฟเฟ่ต์ ที่ผู้บริโภคต้องการรับประทานเพื่อให้คุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไปจนหลงลืมความพอของตัวเอง

“ขยะอาหาร” กับวิธีการจัดการ

เริ่มต้นจากกระบวนการป้องกัน คือการวางแผนก่อนที่จะซื้อ ซื้อของที่พอเหมาะกับการใช้งาน ไม่ตุนอาหาร นอกจากจะเป็นการจัดการอาหารแล้ว ยังเป็นการประหยัดเงิน จัดการบริโภคของตัวเอง

ขั้นตอนการลดการสูญเสีย เช่น การนำอาหารมาลดราคา หรือการนำอาหารเหลือมารวมกันและปรุงใหม่ การนำไปให้อาหารสัตว์ การแบ่งปันให้กับบุคคลอื่นเพื่อลดการสูญเสียได้ หรือกระบวนการกอบกู้อาหาร คือการนำอาหารไปส่งต่อให้กับคนที่ต้องการ และการนำไปเป็นอาหารสัตว์ เลี้ยงไส้เดือนดิน เลี้ยงหนอนแมลงวันลาย

เมื่อเป็นขยะอาหารที่ไม่สามารถนำไปรับประทานได้แล้ว เข้ากระบวนการผลิต เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ เช่นการผลิตก๊าซชีวภาพ น้ำหมักชีวภาพ การผลิตปุ๋ยเพื่อใช้ในการเกษตร

การนำพลังงานมาใช้ใหม่ ในรูปแบบก๊าซชีวภาพ และการเผาผลิตพลังงาน และท้ายที่สุดขั้นตอนการกำจัด อย่างการฝังกลบอย่างถูกหลักวิธี

ทั้งนี้โลกตื่นตัวและเตรียมแนวทางการแก้ปัญหาขยะอาหาร เช่น ประเทศฝรั่งเศส ออกกฎหมายว่าด้วยการต่อต้านขยะอาหาร สหรัฐอเมริกา ออกมาตรการสร้างแรงจูงใจในการลดขยะอาหาร มากกว่าการลงโทษ เป็นต้น

ในการป้องกันเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาขยะแบบยั่งยืน โดยที่การสูญเสียทรัพยากรอันมีค่าของขยะอาหารมีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 3,300 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

องค์การสหประชาชาติได้มีการกำหนด เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ลดขยะอาหารของโลกลงครึ่งหนึ่งในระดับค้าปลีกและผู้บริโภค และลดการสูญเสียอาหารจากกระบวนการผลิตและห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงการสูญเสียหลังการเก็บเกี่ยว ภายในปี พ.ศ.2573 เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสภาพอากาศ

ขณะที่ประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายลดสัดส่วนของขยะอาหารจาก 38 % ลงเหลือไม่เกิน 28 % ภายในปี 2570 โดยได้ขับเคลื่อนดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ผ่านหลายโครงการ เช่น

"โครงการไม่เทรวม" ที่รณรงค์ให้ประชาชนลดและคัดแยกขยะ ซึ่งเป็นการริเริ่มที่ดี ที่กระตุ้นให้คนหันมาให้ความสำคัญกับการคัดแยกขยะก่อนทิ้ง จากสถิติการดำเนินการตามนโยบายแยกขยะต้นทางพบว่า ปริมาณขยะปี 2566 ลดลงจากปี 2565 เฉลี่ย 204 ตัน/วัน

โครงการจัดตั้งธนาคารอาหารของประเทศไทย (Thailand’s Food Bank) เพื่อสร้างต้นแบบระบบการบริหารจัดการอาหาร ส่งต่ออาหารส่วนเกินไปยังกลุ่มเปราะบางของสังคมไทย มุ่งลดปริมาณขยะอาหารด้วยการจัดการอาหารส่วนเกิน ลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดอาหารส่วนเกิน

ทั้งนี้ กทม.เตรียมการที่จะออกข้อบัญญัติในการคัดแยกขยะ แต่ยังอยู่ระหว่างการเตรียมการดำเนินการ ซึ่งคาดการณ์ว่าจะบังคับใช้กับแหล่งกำเนิดอาหารใหญ่ๆ อย่างผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอาหาร

คำว่าต้องรับผิดชอบร่วมกัน คือการผลักภาระ ที่ชี้ชัดไม่ได้ แต่ถ้ารู้ว่าแต่ละภาคส่วนมีหน้าที่ต้องทำอะไรจะเห็นแนวทางการปฏิบัติที่ชัดขึ้น

น.ส.เบญจมาส กล่าวว่า การสร้างสำนึกต้องปลูกฝัง ต้องทำกันตั้งแต่เด็ก แต่สิ่งที่ทำได้ คือการจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเกิดพฤติกรรม ที่ไม่ต้องไปสั่ง มีถังแยกขยะที่ถูกต้อง และบอกข้อมูลว่าแยกแล้วไปไหน

เป็นมาตรการที่สร้างจิตสำนึก ส่วนในเรื่องมาตรการบังคับลงโทษ จะเป็นกฎ กติกา ของหน่วยงานที่รับผิดชอบเข้ามาดูแล และต้องใช้ทั้งสองมาตรการควบคู่กันไป

สิ่งสำคัญคือการลงมือทำ โดยที่ไม่ต้องรอ การคิดก่อนซื้อ และการเก็บรักษา เมื่อทำได้ก็จะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนอีกหลายๆ เรื่อง

การลด "ขยะอาหาร" ต้องเริ่มตั้งแต่ต้นทาง ตั้งแต่การซื้อวัตถุดิบ การจัดเก็บวัตถุดิบ การวางแผนการทำหรือผลิตอาหาร การจัดสรรให้เหมาะสมกับผู้กิน รวมถึงการแปรรูปวัตถุดิบเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

เพราะ "วัตถุดิบ" ในการผลิตอาหาร ล้วนเป็นต้นทางของปัญหาสิ่งแวดล้อม ทั้งการปลูก การใช้ปุ๋ย การก่อมลพิษ รวมถึงการขนส่ง

ฉะนั้นหากเราผลิตอาหารด้วยการใช้ "วัตถุดิบ" ที่คุ้มค่า นั่นหมายความว่า เราได้ช่วยทำให้โลกร้อนช้าลง

เรียบเรียง : นพรัตน์ ชูโสด ผู้ช่วยบรรณาธิการข่าวไทยพีบีเอส

อ่านข่าว : 

"จูราสสิค เวิลด์ 4" เตรียมถ่ายทำที่ไทย คาดเงินสะพัดกว่า 400 ล้าน

บินได้แล้ว! ลูกพญาแร้งตัวเมีย “รหัส 51” ป่าซับฟ้าผ่า

ประมงพื้นบ้านทำเอง สำรวจ "ทะเลระยอง" หลังน้ำมันรั่วปี 65

ข่าวที่เกี่ยวข้อง