“ปิ่นสักก์” กับภารกิจหยุด "ปะการังฟอกขาว" เพื่อ "ทะเลไทย"

สิ่งแวดล้อม
7 มิ.ย. 67
13:36
207
Logo Thai PBS
“ปิ่นสักก์” กับภารกิจหยุด "ปะการังฟอกขาว" เพื่อ "ทะเลไทย"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
“ปะการังฟอกขาว” เป็นสิ่งสะท้อน “วิกฤตโลกร้อน” ได้อย่างชัดเจนที่สุด ไม่ใช่เพียงแต่เกิดขึ้นในทะเลต่าง ๆ ทั่วโลก แต่ใน “ทะเลไทย” ก็รุนแรงไม่แพ้กัน

“ไทยพีบีเอสออนไลน์” สัมภาษณ์พิเศษ “ปิ่นสักก์ สุรัสวดี” อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ในห้วงเวลาวันสิ่งแวดล้อมโลก วันที่ 5 มิ.ย. และวันทะเลโลก วันที่ 8 มิ.ย.

เพื่อหาคำตอบว่า “ทะเลไทย” เข้าข่าย “วิกฤต” อย่างไร เมื่อโลกร้อนขึ้นอย่างเห็นได้ชัดและรวดเร็ว และเราในฐานะที่เป็นคนธรรมดา ไม่ได้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ต้องช่วยกันอย่างไร เพื่อให้ทะเลคงอยู่ต่อไปอย่างมีคุณภาพ

และในฐานะที่ "ปิ่นสักก์" เป็นเสมือนหัวขบวนของการปกป้องทรัพยากรทางทะเล จึงต้องจับมือกับเครือข่าย ภาคประชาสังคม นักวิชาการ และภาคเอกชน เพื่อปกป้องให้ "ปะการัง" ลดการฟอกขาวลง และเพื่อไม่ให้เกิดการขยายวงเพิ่มขึ้น

ไทยพีบีเอสออนไลน์ : สถานการณ์ปะการังประเทศไทยตอนนี้เป็นยังไงบ้าง

ขอบคุณภาพ : เพจกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)

ขอบคุณภาพ : เพจกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)

ขอบคุณภาพ : เพจกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)

ปิ่นสักก์ : ปะการังเป็นโครงสร้างหินปูนสีขาว แต่จะมีตัวปะการังซ้อนอยู่ข้างใน เรียกว่า ซูแซนเทลลี (zooxanthellae) ที่มีสีอยู่ ทำให้เราเห็นว่าปะการังมีสี แต่ในสภาพที่มันเกิดความเครียด ไม่ว่าจะด้วยอุณหภูมิความร้อน ที่เพิ่มขึ้นเกินกว่าระดับที่มันรับได้ คือ 29 องศาเซลเซียส แสงแดดจัดมาก ร้อนมาก มันอยู่ไม่สบาย อาจจะทำให้ปะการังขาวๆ มันจะคายสาหร่ายเซลเดียวออกมา ทำให้เราเห็นว่าเป็นสีขาว พูดง่ายๆ ก็คือ เมื่อเขาเครียดจากความร้อนและแสงเขาจะเป็นสีขาว

“ปีนี้เป็นปีที่เราพยากรณ์ไว้ว่า อุณหภูมิของน้ำในประเทศไทยรวมทั้งในสากลในโลก จะร้อนมาก ขนาดองค์กร NOAA (National Oceanic and Atmospheric Administration ) หรือ องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ บอกว่า ปีนี้จะร้อนสุดๆ จริง ๆ และปะการังจะฟอกขาวครั้งใหญ่ เป็นระดับโลก เป็นครั้งที่ 4 ที่เกิดวิกฤตขึ้นมา”

ขอบคุณภาพ : เพจกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)

ขอบคุณภาพ : เพจกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)

ขอบคุณภาพ : เพจกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)

บ้านเราเองก็มีระบบในการติดตามว่ามันฟอกหรือไม่ฟอก หรือฟอกมากแค่ไหน การคาดการณ์ในตอนต้น ก่อนที่จะถึงหน้าร้อน เราคาดการณ์ว่ามันจะฟอกขาวหนักๆ อยู่ 3 พื้นที่ ก็คือ อันดามันตอนล่าง ทะเลภาคตะวันออก และอ่าวไทยตอนกลาง และเราก็ร่วมกับเครือข่ายนักดำน้ำ อาสาสมัคร นักวิชาการ ช่วยกันทำระบบรายงานมา

เพราะฉะนั้นตอนนี้ เราจะมีคนรายงานมาอย่างต่อเนื่องแบบเรียลไทม์ ว่าที่ไหนฟอก ฟอกระดับไหน คือเราแบ่งว่า ถ้าฟอกหนักเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ ฟอกปานกลาง 11-50 เปอร์เซ็นต์ เริ่มฟอกสีซีด 1-10 เปอร์เซ็นต์ หรือถ้าไม่ฟอกก็ไม่มีอะไร ให้เขารายงานมาตามเกณฑ์นี้ พร้อมกับส่งรูปมาประกอบ
ขอบคุณภาพ : เพจกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)

ขอบคุณภาพ : เพจกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)

ขอบคุณภาพ : เพจกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)


จะเห็นว่ามีหลายพื้นที่มากที่เริ่มฟอกหนักแล้ว แต่เอาจริง ๆ ภาพรวมคือ ฟอกขาวแล้วเกือบทั้งประเทศ แต่บางพื้นที่จะฟอกหนัก

ตัวอย่างที่อัพเดทที่สุดคือวันที่ 28 พ.ค.2567 จะเห็นว่าส่วนใหญ่มีการฟอกขาวตามที่เราติดตามไว้ 3 พื้นที่ โดยตัวอย่างที่ให้เห็น

ขอเน้นย้ำว่า ที่ฟอกขาวไม่ได้หมายความว่ามันตายนะ ฟอกคือป่วย เพราะฉะนั้นช่วงนี้คือช่วงวิกฤที่เราต้องดูแลให้ดี

ไทยพีบีเอสออนไลน์ : ช่วงเวลานี้ (มิ.ย.2567) บริเวณไหนที่วิกฤต

ปิ่นสักก์ : วิกฤตเกือบหมด อ่าวไทยจะวิกฤตมากกว่าฝั่งอันดามัน เพราะสภาพทางสมุทรศาสตร์ ของอ่าวไทย เรื่องของกระแสน้ำ มันถ่ายเทน้อยกว่า อุณหภูมิความร้อนมันสะสมมากกว่า

ฝั่งอันดามันตอนเหนือ โชคดีว่าเรามีกระแสน้ำเย็นเข้าในช่วงต้นปี ปลายปีก่อน จึงทำให้สถานการณ์ทุเลาลง ส่วนอันดามันตอนล่างก็ยังวิกฤต

ไทยพีบีเอสออนไลน์ : การเปลี่ยนแปลงมันใช้เวลามากน้อยแค่ไหน

ปิ่นสักก์ : เราเรียกว่า Degree Heating Week คือ จำนวนสัปดาห์ที่สะสม คือจำนวนวันที่สะสมที่ปะการัง เขาอยู่ในอุณหภูมิน้ำที่เขาทนได้ โดยหลักๆ ไม่เกิน 2 สัปดาห์ สัปดาห์กว่าๆ ก็ขาวซีดแล้ว และถ้าเขาฟอกไปแล้ว จะไม่เกิน 1 สัปดาห์เขาก็จะตายแล้ว มันตอบแบบประมาณ

ปะการังก็เป็นสิ่งมีชีวิต เหมือนคนป่วย เราแข็งแรงเราก็ทนได้นาน ถ้าคนอ่อนแอ เป็นไข้หวัดตายก็มี

ถามว่าวันนี้จะเกิดอะไรขึ้นในอีก 1 เดือนข้างหน้า ตอนนี้ทาง NOAA ก็ให้ข้อมูลว่าอีก 1 เดือนข้างหน้า สถานการณ์ก็ค่อนข้างมีความเครียด ฝั่งอันดามันจะบรรเทาเบาบางลดลง ลดระดับการเตือนภัยลง

วันนี้ถึงจุดที่พีคของอุณหภูมิไปแล้ว ตอนนี้จะมีแต่ลดลง เราก็สังเกตได้ ฝนเริ่มมา เมฆเริ่มมา เพราะฉะนั้นก็ได้แต่คาดหวังว่า ปะการังจะยังไม่ตาย ที่ฟอกแล้วก็ยังไม่ตาย ที่ตายแล้วก็ยังต้องมีการฟื้นฟู

จะเห็นว่า ทั้งอันดามันและอ่าวไทยเหมือนกัน คือเราเลยจุดพีคที่มันร้อนที่สุดแล้ว ช่วงนี้เป็นช่วงที่วิกฤตที่สุดที่เราต้องช่วยกันดูแลปะการังที่เขาป่วย

ไทยพีบีเอสออนไลน์ : จุดวิกฤตตอนนี้เรียกลำดับยังไงบ้าง

ปิ่นสักก์ : ตอนนี้จุดวิกฤตมี 3 พื้นที่หลักๆ ก็คือ อันดามันตอนล่าง แถวกระบี่ ภูเก็ต อ่าวพังงา ก็จะเป็นโซนที่มีปะการังฟอกขาวเยอะ โซนที่ 2 ก็แถวชุมพร โซนที่ 3 แถวฝั่งตราด โซนตรงนี้แหละที่อยากเรียนภาคประชาชนว่า ต้องขอร้องให้ช่วยกันดูแลเป็นพิเศษ

อันดามันตอนล่างแดดยังร้อน น้ำเย็นเข้าตอนบนเยอะ ตอนล่างเพิ่งเข้า ฝั่งอันดามันตอนนี้มันเริ่มปิดฤดูท่องเที่ยวแล้ว เพราะฉะนั้นปัญหาที่เพิ่มเติมจากมนุษย์น่าจะลดลง ก็ต้องรอดูว่าปะการังเขาจะฟื้นตัวเองได้มั้ย

ทะเลฝั่งตะวันออกยังคงมีปัญหา อาจจะต้องลดการท่องเที่ยว และลดผลกระทบในพื้นที่นั้น แต่ไม่ใช่ว่าเราห้ามเที่ยวทะเล แต่ควรไปว่ายน้ำในจุดที่ไม่มีปะการังฟอกขาว หรือไม่มีผลกระทบแทน
ขอบคุณภาพ : เพจกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)

ขอบคุณภาพ : เพจกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)

ขอบคุณภาพ : เพจกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)

ไทยพีบีเอสออนไลน์ : ทำยังไงกับการปกป้องดูแล

ปิ่นสักก์ : เนื่องจากตอนนี้เป็นรอบที่ 4-5 แล้วในการฟอกขาวในประเทศไทย วันนี้เราจึงมีการคุยกันในหมู่นักวิชาการ เครือข่าย อาสาสมัคร นักอนุรักษ์ ว่า การแก้ปัญหาหรือการเตรียมรับมือกับปะการังฟอกขาว

เราต้องเตรียมการณ์ตั้งแต่ก่อนมันเกิด ตั้งแต่มกราคมแล้ว ที่เราเผยแพร่เป็นความรู้ มีช่องทางในการติดต่อสื่อสาร มีการตรวจสอบตรวจวัด คุณภาพอากาศ คุณภาพน้ำ ระดับน้ำ รวมถึงการทำโมเดลในการติดตามไปข้างหน้า เพื่อวิเคราะห์ความเสี่ยง

เมื่อวิเคราะห์ความเสี่ยงแล้ว เราจะมีเครือข่ายที่เราเตรียมไว้คอยรายงานเรา วันนี้ช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค.จะมีรายงานเข้ามาเยอะว่าที่ไหน ไม่ฟอกก็ไม่ทำอะไร ฟอกไม่รุนแรง ฟอกรุนแรง ฟอกรุนแรงมาก ซึ่งก็คือฟอกรุนแรงและยังมีความร้อนต่อเนื่อง น่าจะตาย

เราจึงมีมาตรการไปช่วยเหลือเขาใน 3 ระดับคือ ลด งด ช่วย ถ้ามันเริ่มฟอก เราจะ “ลด” ภัยคุกคามอื่น เพราะปะการังเป็นสิ่งมีชีวิต ถ้าเขาอยู่ในสิ่งแวดล้อมดีเขาจะทน แต่ถ้ามีสิ่งแปลกปลอม จะทำให้เขามีปัญหาเพิ่มเติม เช่น ตะกอน ครีมกันแดดที่เป็นพิษกับสิ่งแวดล้อม คราบน้ำมัน สารอาหารที่เป็นอันตราย ต้อง “ลด” แต่ต้น

ขอบคุณภาพ : เพจกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)

ขอบคุณภาพ : เพจกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)

ขอบคุณภาพ : เพจกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)

แต่เมื่อไหร่ที่มันรุนแรงแล้ว เราต้อง “งด” เช่น อุทยานฯ ประกาศงดการดำน้ำ ลดกิจกรรมการดำน้ำในจุดที่ฟอกรุนแรงแล้ว เพราะปะการังมันป่วยจนจะตายอยู่แล้ว ถ้าเราเอาเรือเข้าไป ไปดำน้ำ ไปเตะมัน เป็นตะกอน เอาน้ำมันเข้าไป หรือสารพิษเข้าไปมันก็ยิ่งทำให้ จากที่ “จะตาย” กลายเป็น “ตาย” แต่ตรงไหนที่มัน ตายแล้วเราจะช่วยมันด้วย

ถึงแม้จะช่วยไม่ได้มาก เราก็จะรักษาความหลากหลายชาวชีวภาพพื้นที่นั้นไว้ให้มากที่สุด 0.5 เปอร์เซ็นต์ หรือ 1 เปอร์เซ็นต์ ก็ยังดี เพราะยังเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ในอนาคต เราจึงมีมาตรการช่วยในการทำสแลนป้องกัน มันฟอกเพราะร้อน มันฟอกเพราะแดดจัด ร้อนเราทำอะไรไม่ได้ แต่แดดจัดเราช่วยได้ และหลังจากนี้เราจะมีการประเมินผลกระทบและติดตามการฟื้นตัว

“จะเห็นว่า นี่คือลด ไม่ทิ้งขยะ ไม่ทิ้งมลพิษ ไม่ให้อาหารปลา เพราะปลาบางชนิดเป็นตัวสร้างสมดุลของปะการัง ควบคุมอุณหภูมิของสาหร่าย ไม่ใช้ครีมกันแดดที่มีส่วนผสมของสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อปะการัง”

งดก็คืองดกิจกรรม ที่เข้าไปในพื้นที่ ยังไงถ้าปะการังป่วยอยู่แล้ว คนเข้าไปก็มีผลกระทบ อยากให้เห็นใจอุทยานฯ ที่เขาจำเป็นต้องประกาศปิดพื้นที่ดำน้ำ และมีการประกาศปิดไปแล้วหลายแห่ง จากข้อมูลที่เราได้มา
ขอบคุณภาพ : เพจกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)

ขอบคุณภาพ : เพจกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)

ขอบคุณภาพ : เพจกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)

“ช่วย” คืออะไร ให้เห็นว่า ฟอกเพราะร้อนและฟอกเพราะแดดจัด ร้อนเราคุมไม่ได้ แต่เราคุมแดดได้ ฉะนั้นเราจึงพยายามปกป้องพื้นที่ที่มีความหลากหลายไว้ เพื่อให้เป็นแหล่งพ่อแม่พันธุ์ในอนาคต แทนที่พอมันตายไปแล้วไม่มีพ่อแม่พันธุ์เลย เราต้องหาจากที่อื่นมา กว่าจะมาปลูก มันยาก และความหลากหลายทางชีวภาพก็ไม่ได้ แต่ถ้าเราปกป้องได้แค่ประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ เขามีศักยภาพในการฟื้นตัว แต่ว่าอันนี้อยู่ในขั้นศึกษา ทดลอง

ขอบคุณภาพ : เพจกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)

ขอบคุณภาพ : เพจกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)

ขอบคุณภาพ : เพจกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)


เราจึงมีความพยายามที่จะใช้การสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ เก็บไข่ เก็บสเปิร์ม อย่างจุฬาฯ และหลายมหาวิทยาลัยกำลังทำอยู่ พอถึงจุดหนึ่งมันฟอกบ่อยขึ้น ฟอกถี่ขึ้น ฉะนั้นมนุษย์ก็ต้องไปช่วยในการฟื้นฟูให้เร็วขึ้น

ไทยพีบีเอสออนไลน์ : มีอะไรที่ช่วยป้องกันไม่ให้มันฟอกขาวหรือฟอกขาวช้าลง

ปิ่นสักก์ : ถ้ามันแข็งแรง มันฟอกช้าลงแน่นอน เพราะฉะนั้นปะการังมันอยู่ในน้ำ อยู่ในสิ่งแวดล้อม การดูแลสิ่งแวดล้อมให้ดีที่สุดนั่นคือช่วยมันแล้ว

อันที่สอง ถ้าดูรูปปะการังที่ฟอกขาว จะเห็นว่า มันไม่ได้ตายทุกกิ่ง แสดงว่าความหลากหลายทางชีวภาพสำคัญมาก ถ้ามันมีจุดที่เขาไม่ตาย เราต้องรักษาความหลากหลายทางชีวภาพไว้ แม้แต่เรื่องของปลา ปลาบางชนิดเขาจะควบคุมปริมาณสาหร่าย ไม่ให้ชิงพื้นที่ปะการัง ไม่ทำให้ปะการังเครียด ถ้าปลามันยังมีอยู่ในสมดุลธรรมชาติ อาจจะทำให้ปะการังเครียดน้อยลง ตายน้อยลง

ขอบคุณภาพ : เพจกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)

ขอบคุณภาพ : เพจกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)

ขอบคุณภาพ : เพจกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)

ไทยพีบีเอสออนไลน์ : ตอนนี้เราจะบอกคนทั่วไปยังไง ให้เขาตระหนักเรื่องเหล่านี้

ปิ่นสักก์ : ทุกวันนี้เชื่อว่า การตระหนักในเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม เกิดทุกที่แล้ว ทุกคนรู้แล้วว่าปัญหาโลกร้อนมันมีจริง แต่ก่อนเมื่อ 5 ปี 10 ปี คนคิดว่ามันยังไม่มี มันยังไม่เกิด แต่วันนี้ไม่มีใครเถียงแล้วว่ามันไม่จริง และไม่มีใครเถียงด้วยว่ามันรุนแรง

ปีนี้เป็นปีที่ร้อนจัดมาก น้ำท่วม ทุกอย่างมันรวนไปหมด โลกมันรวนมากจริง ๆ ปะการังตาย หญ้าทะเลตาย เต่าทะเล พะยูน ฯลฯ มีผลกระทบทั้งหมด อันนี้ทุกคนกำลังช่วยอยู่ เพียงแต่ว่า ความเร็วในการช่วยมันจะต้องมากกว่านี้

“ปะการังฟอกขาว” เป็นอีกหนึ่งในสิ่งแวดล้อม ที่มองเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน รองลงมาจากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นมาก ทั้งที่เมื่อก่อนเราอาจมองว่า น้ำจะช่วยผ่อนคลายความร้อน แต่วันนี้กลับแทบจะเป็น “ทะเลเดือด” ที่เราต้องช่วยกันทำให้เย็นลง

สัมภาษณ์ : เอมพงศ์ บุญญานุพงศ์

อ่านข่าว : “ปะการังฟอกขาว” ภาพสะท้อน “โลกร้อน” ขั้นวิกฤต

5 วิธีลด "ขยะพลาสติก" ลดภาวะโลกเดือด

"ขยะล้นเมือง" คนไทยสร้างขยะเฉลี่ย 7.3 หมื่นตัน/วัน

ลดโลกร้อน เริ่มต้นจาก "จานอาหาร" ของเรา

อากาศแปรปรวนจ่อเผชิญ "ลานีญา" ระวัง "ฝนตกหนักสุดขั้ว"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง