“พิธา” มั่นใจไม่มีข้อกฎหมายเอาผิด 44 สส.ลงชื่อแก้ ม.112

การเมือง
9 มิ.ย. 67
13:39
404
Logo Thai PBS
“พิธา” มั่นใจไม่มีข้อกฎหมายเอาผิด 44 สส.ลงชื่อแก้ ม.112
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
“พิธา” มั่นใจไม่มีข้อกฎหมายเอาผิด 44 สส.ลงชื่อแก้ ม.112 ได้ ชี้ กกต.ยื่นคำร้องศาล รธน.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย มองสัดส่วนความผิด แค่เตือนให้หยุดการกระทำก็เพียงพอ-ไม่ควรลากถึง กก.บห.ชุด 3 ลั่นไม่ได้ไร้เดียงสา ที่จะไม่รู้ว่ามีบางพรรคอยากได้สส. หวังต่อรองเก้าอี้รมต.

วันนี้ (9 มิ.ย.2567) นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ระบุหลังแถลงแนวทางการต่อสู้ของพรรคก้าวไกล ในคดีล้มล้างการปกครอง 9 ข้อ ถึงความมั่นใจในข้อต่อสู้ว่า 44 สส. ที่ร่วมลงชื่อแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จะไม่ถูกพิจารณาทั้งหมด หรือถูกพิจารณาเป็นรายกรณี ว่า มั่นใจทุกข้อเท่ากัน เพราะทุกข้อเหมือนเป็นด่านและบันไดที่จะใช้ต่อสู้ ตั้งแต่ขอบเขตอำนาจของศาล ไปจนถึงสัดส่วนการได้โทษของกรรมการบริหารพรรค

ทั้งนี้ยังเชื่อว่าเจตนา และการกระทำของ สส. ในการเข้าชื่อแก้ไขกฎหมาย ไม่ได้เป็นการล้มล้างการปกครอง และไม่อาจเป็นปฏิปักษ์ รวมถึงการกระทำต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเป็นนายประกัน

การที่มีสมาชิก และ สส. ที่เป็นผู้ต้องหาในคดีความผิด มาตรา 112 การแสดงออก เรื่องการแก้ไขประมวลกฎหมาย มาตรา 112 ก็ถือเป็นการกระทำทั่วไป การกระทำทุกอย่างเป็นเรื่องรายบุคคล ที่ถูกขยุ้มรวมกัน ไม่ได้มาจากมติพรรค ไม่ได้เป็นเรื่องนิติบุคคล แต่เป็นเรื่องปัจเจก

โดยไม่ได้มีความเห็นที่ออกมาจากกรรมการบริหารพรรค ย้ำว่า ต้องแยกความแตกต่างระหว่างบุคคลธรรมดากับนิติบุคคล สิ่งเดียวที่มีการออกมาตามมติของพรรค คือการบรรจุเป็นนโยบายหาเสียง แต่ก็ไม่เป็นปฏิปักษ์

นายพิธากล่าวต่อว่า เพราะคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เอง ก็อนุญาต ไม่ต้องถึงกับใช้ระดับวิญญูชน หรือระดับเดียวกับตอนที่ใช้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ และไม่ได้มีจดหมายเตือน และจดคำถามที่มาของนโยบายอย่างที่พรรคอื่นโดน

ไม่ได้มีทั้งเจตนา และไม่มีข้อกฎหมายที่สามารถเอาผิดทั้ง 44 คน ในการเข้าชื่อแก้ไขกฎหมายที่ไม่ได้เข้าสภา เพราะฉะนั้นไม่ได้มีความเร่งด่วนอะไร ที่จะใช้มาตรการที่รุนแรง

ส่วนกรณีที่ระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจในการพิจารณานั้น เนื่องจากรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 ระบุไว้ชัดเจน ถึงอำนาจหน้าที่เฉพาะแค่ 3 ข้อ ไม่เหมือนกับศาลธรรมดาทั่วไป

อ่านข่าว : "พิธา" เปิด 9 ข้อ แนวทางสู้คดียุบพรรคก้าวไกล

ยกเว้นหากกรณีที่ไม่มีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ก็ให้ไปใช้พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่เป็นบ่อเกิดให้มีอำนาจหน้าที่เกินจากนั้น ก็ไม่มีตรงไหนที่บอกว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการยุบพรรค มีอำนาจในการตัดสิทธิ์ มีอำนาจในการกำหนดระยะเวลาในการแบนนักการเมือง เป็นต้น

ส่วนการเตรียมหลักฐานหรือข้อหักล้างที่สามารถพิสูจน์ว่า พรรคไม่มีเจตนาตั้งแต่ต้นในการล้มล้างการปกครอง นายพิธา กล่าวว่า 9 ข้อที่กล่าวไป มีน้ำหนักเท่าเทียมกันในการต่อสู้ ส่วนเจตนา เราจะพยายามพิสูจน์ และพูดมาอย่างคงเส้นคงวาว่า

เรายังมีความรู้สึก การรักษาพระราชอำนาจ และเทิดพระเกียรติพระองค์ท่าน ให้อยู่สูงกว่าการเมือง ไม่ได้ทำให้ระยะห่างกับประชาชนห่างขึ้น และไม่ได้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการทำลายล้างซึ่งกันและกัน

ส่วนการคาดการณ์ไทม์ไลน์วันวินิจฉัยคดี นายพิธา กล่าวว่า คงต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล คู่กรณีคงไม่สามารถไปก้าวล่วงได้ หากศาลเห็นด้วยว่า คดีสองคดีไม่มีความผูกพันกัน ก็ควรจะเปิดโอกาสให้มีการไต่สวน และเตรียมพยาน ซึ่งพรรคก้าวไกลได้มีการเตรียมการผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้ ไว้มากกว่า 10 คน แต่เปิดเผยไม่ได้

ถ้าศาลเห็นว่า การพิจารณาในคดีนี้ มีข้อหาและโทษหนัก ต้องใช้มาตรฐานที่เข้มข้นกว่าคดีที่แล้ว ก็น่าจะให้เวลา และอนุญาตให้มีการไต่สวนสืบพยานได้ ซึ่งคงจะต้องใช้เวลาพอสมควรให้สิ้นกระแสสงสัย

ทั้งนี้ในคำร้อง ระบุถึงระยะเวลาในการถูกตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคทั้ง 3 ชุด ของพรรคก้าวไกล ซึ่งคิดว่าสัดส่วนของโทษและเวลาที่ถูกกล่าวหา ควรจะต้องสอดคล้องกัน ดังนั้น ก็ไม่ควรจะลากไปถึงกรรมการบริหารพรรคชุดที่ 3 ซึ่งเกิดมาเพียงแค่ 6 เดือน

ส่วนหากเกิดการยุบพรรคจะส่งผลอย่างไร นายพิธากล่าวว่า จะเป็นการยุบ 2 พรรค ใน 5 ปี และเป็นการยุบ 5 ครั้ง ในรอบ 20 ปี ไม่กล้าที่จะเดา หรือคิดว่ามันจะเกิดผลกระทบอะไรกับเมืองไทย หรือการเมืองไทย ทั้งที่เศรษฐกิจ การเมือง และสังคมไทยเปราะบางขนาดนี้ ก็ไม่อยากให้ไปถึงตรงจุดนั้น

การรักษาระบอบประชาธิปไตย และระบบพรรคการเมืองที่มีคุณค่า และมีความสำคัญ เป็นตัวแทนเป็นปากเป็นเสียงของพี่น้องประชาชน ถ้าไม่ถึงที่สุด ไม่รุนแรง ไม่ฉับพลัน ถึงขนาดที่ไม่มีวิธีแก้ไข

นายพิธากล่าวอีกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในการวินิจฉัยคดี เมื่อวันที่ 31 ม.ค.2567 คือการเตือนให้หยุดการกระทำ ก็น่าจะเพียงพอแล้ว ไม่ถึงกับต้องยุบพรรค ไม่จำเป็นต้องตัดสิทธิ์ทางการเมือง แต่คงมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นประเทศ ระบอบประชาธิปไตย และพรรคการเมือง เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นบ่อยจนไม่ปกติ

ทั้ง 44 คน มีเจตนาดี อาจจะไม่สมบูรณ์กันทุกคน แต่ก็ถือว่าเป็นทรัพยากรทางการเมือง อาจจะทำผิดบ้างถูกบ้าง แต่แน่นอนว่า ยังมีความพยายาม ถือว่าเป็นเลือดใหม่ทางการเมือง

ส่วนแผนสำรองหากถูกยุบพรรคนั้น นายพิธากล่าวว่า เตรียมการต่อสู้คดีเป็นหลัก แต่แน่นอนว่า ต้องเตรียมตัวในทุกสถานการณ์

ส่วนความเชื่อมั่นในสมาชิกพรรคว่า หากเกิดการยุบพรรค สส.ของพรรคจะไม่ย้ายไปพรรคอื่นใช่หรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า แน่นอน ยังรู้สึกว่าการทำงานของพรรค ทั้งกระแส และเวลาที่อยู่ร่วมกัน มีความเป็นเอกภาพ มีความเป็นปึกแผ่น รวมถึงปัจจัยภายนอกอย่างประสบการณ์ร่วมกันในการเลือกตั้งที่ผ่านมา เท่ากับการเป็นงูเห่าคือการฆ่าตัวตายทางการเมือง 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีสิทธิ์ที่จะกลับมาเป็น สส.ได้เลย ไม่ประมาท แต่ก็ไม่กังวล เพราะมีบทเรียนมาทั้งภายนอกและภายใน

ขณะเดียวกัน เราก็ต้องฟัง แต่ยังไม่เชื่อ ถึงสิ่งต่าง ๆ หรือข้อมูลที่เข้ามา เพราะต้องมีการตรวจสอบ ผมก็ไม่ได้ไร้เดียงสาขนาดที่ไม่รู้ว่า อาจจะมีพรรคบางพรรคที่อยากได้โควตา สส.เพิ่ม ไปต่อรองรัฐมนตรี เรื่องพวกนี้รู้ทันอยู่ แต่ยังมั่นใจในตัว สส.ของตัวเอง และไม่ได้หูเบาขนาดที่จะเห็นแล้วรู้สึกว่า เกิดความลำเอียงหรืออคติต่อ สส.คนนั้น ต้องให้โอกาสลูกพรรคตัวเองด้วย

อ่านข่าว : "เขตปทุมวัน" จัดเลือก สว. พบ 4 กลุ่มอาชีพ​ มีผู้สมัครกลุ่มละ 1 คน

เกาะติดบรรยากาศเลือก สว.ทั่วประเทศ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง