เยือน "ชุมพร" ยลสันทรายบางเบิด - ดันโครงการส่วนพระองค์ รับกิจกรรมไมซ์

สังคม
17 มิ.ย. 67
12:50
243
Logo Thai PBS
เยือน "ชุมพร" ยลสันทรายบางเบิด - ดันโครงการส่วนพระองค์ รับกิจกรรมไมซ์
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

"ชุมพร" ถูกจัดให้เป็น 1 ใน 55 จังหวัดเมืองรองที่มีสิ่งดึงดูดใจไม่แพ้จังหวัดใหญ่ที่เป็นเมืองหลัก ด้วยมีสถานที่ท่องเที่ยวทางทะเลอันสวยงาม และมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาน่าสนใจ ให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมในฐานะเป็นเมืองสิบสองนักษัตรของราชอาณาจักรนครศรีธรรมราช ตามหลักฐานปรากฏตั้งแต่ปี พ.ศ.1098 

หากไม่สังเกต นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะไม่ทราบว่า จ.ชุมพร ใช้สัญลักษณ์ "รูปแพะ" เป็นตราเมือง ถือเป็นเมืองหน้าด่านฝ่ายเหนือ เพราะอยู่ตอนบนของภาคใต้ ด้วยเหตุนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จึงมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทย

อ่านข่าว : พลิกแผนที่ไทย "ทัวร์เมืองรอง" เปิดพื้นที่ใหม่รับ "นักท่องเที่ยว"

ปฏิเสธไม่ได้ว่า "ชาวต่างชาติ" ที่เดินทางเข้ามาเที่ยวในประเทศไทย มีหลากหลายวัตถุประสงค์และหลายรูปแบบ มีไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตแตกต่างกัน ทั้งการเที่ยวแบบครอบครัว คู่รัก กลุ่มเพื่อน หรือบางคนอาจมาใช้ชีวิตช่วงบั้นปลาย  

ตลาดธุรกิจไมซ์ (MICE) เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ด้านธุรกิจที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้เสนอโดย พัฒนามาจากธุรกิจนำเที่ยว แต่มีการบริการเสริมด้านการจัดประชุมและแสดงสินค้าซึ่งจะมีการดึงจุดเด่นในพื้นที่จังหวัดเมืองรองมาขาย 

ไมซ์ (MICE) ย่อมาจากคำว่า Meetings, Incentive Travel, Conventions, Exhibitions (หรือบางครั้ง C หมายถึง Conferencing และ E หมายถึง Events) ซึ่งได้พัฒนามาจากธุรกิจนำเที่ยว แต่นำเสนอบริการเป็นการจัดประชุม งานแสดงสินค้าต่างๆ 

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยก็มีการจัดแสดงสินค้า และการประชุมสำคัญระดับโลกมาแล้วหลายครั้ง และในแต่ละครั้งสามารถสร้างรายได้จำนวนมากเข้าประเทศ แต่ในช่วงที่ประสบปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อุตสาหกรรมไมซ์ ซบเซาลง จึงทำให้การจัดงานต่าง ๆ ต้องงดไป แต่ปีนี้ "ตลาดไมซ์" กลับมาสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจอีกครั้ง

อ่านข่าว : Climate Tech "เทรนด์ใหม่" พาณิชย์ ดันไทยรองรับเทคโน-ดิจิทัล

"ทีเส็บ"ปรับกลยุทธ์ เพิ่มคุณค่า "ไมซ์ไทย"

มีการตั้งเป้าหมายว่าสิ้นปี 2567 การท่องเที่ยวจะดึงนักเดินทางไมซ์เข้าไทยได้จำนวน 23.2 ล้าน คน และสร้างรายได้สูง 1.4 แสนล้านบาท โดยจุดขายที่จะดึงดูดให้นักเดินทางไมซ์เข้ามา คือ การเปิดตลาดเมือง เพื่อส่งเสริมโครงการพัฒนาส่วนพระองค์ 

นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ "ทีเส็บ" กล่าวว่า ได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ใน จ.ชุมพร ส่งเสริมโครงการพัฒนาส่วนพระองค์ ได้ทดลองแนวทางเปิด "ตลาดเมือง" เพื่อนำเสนอกิจกรรมให้สอดคล้องกับจุดขายและศักยภาพของเมือง เป็นแหล่งศึกษาดูงานและแหล่งเรียนรู้ รวมถึงสถานที่ในการทำกิจกรรม CSR และการประชุมเชิงอนุรักษ์ กิจกรรมบรรยากาศชายหาด 

โดยรวบรวมจุดเด่นในพื้นที่ของโครงการพัฒนาส่วนพระองค์ อ.ปะทิว จ.ชุมพร ซึ่งมีสภาพธรรมชาติทั้ง ชายหาด พืชพรรณ บนพื้นที่ 448 ไร่ และมีศักยภาพรองรับกลุ่มอินเซนทีฟ (Incentives) หรือ การจัดการเดินทางเพื่อเป็นรางวัล ตลอดจนกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งทางบกและทางน้ำ เนื่องจากมีถนนโดยรอบในโครงการฯ และมีชายหาดที่เป็นส่วนตัว

นายจิรุตถ์ กล่าวว่า โครงการนี้ได้รับพระราชทานมาจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชประสงค์ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ และท่องเที่ยวทางธรรมชาติเพราะมีชายหาดสวยงาม และพันธุ์พืชหายากเป็นจำนวนมาก ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบันก็ทรงมีพระราชปณิธาน สืบสาน รักษา และต่อยอด ประกอบกับปีนี้เป็นปีพระราชพิธีฉลองพระชนมพรรษา 6 รอบ หรือ 72 พรรษา ทีเส็บจึงเข้ามาร่วมสานต่อพระราชดำรินี้เพื่อให้โครงการเป็นไปตามพระราชประสงค์

ก่อนหน้านี้ในปี 2551 ทีเส็บก็ได้ส่งเสริมการท่องเที่ยวโครงการพัฒนาส่วนพระองค์ จังหวัดชุมพรมาแล้วในโครงการเปิดทองหลังพระ ท่องเที่ยวสืบสานโครงการพระราชดำริ ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยพื้นที่โครงการพัฒนาส่วนพระองค์นี้ มีคุณค่าสูงสำหรับประเทศไทย

ภายในพื้นที่มีพืชพันธุ์หายากจำนวนมากให้ได้เรียนรู้ มีเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ทั้งเส้นทางจักรยาน รวมถึงเป็นแหล่งสมุนไพร "รากปลาไหลเผือก" มากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ และแปลงปลูก "ดอกหน้าวัวพันธุ์ชมพูชุมพร" แห่งเดียวในประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การสกัดน้ำมันมะพร้าว การทำฟาร์มเลี้ยงอีเห็นและชะมดเพื่อผลิตกาแฟขี้ชะมด 

โครงการพัฒนาส่วนพระองค์มีศักยภาพที่สอดคล้องกับการเดินทางท่องเที่ยวยุคใหม่ ที่มุ่งเน้นการเรียนรู้ธรรมชาติ ความเป็นส่วนตัว และกิจกรรมพิเศษ จึงเป็นอีกสถานที่ที่พร้อมเปิดรับนักท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีแก่ผู้มาทำกิจกรรมในโครงการ อีกทั้งยังสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับกลุ่มนักเดินทางไมซ์ ที่จะเดินทางเข้ามาอีกด้วย

ขณะที่ นายเจริญโชค พรหมชุติมา นายอำเภอปะทิว กล่าวว่า การที่มีโครงการพัฒนาส่วนพระองค์อยู่ในพื้นที่ของ อ.ปะทิว จ.ชุมพร นับเป็นความภูมิใจของคนในพื้นที่ และพร้อมที่จะผลักดันให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในพื้นที่ให้ชาวบ้านมีรายได้ จากสินค้าประจำอำเภอ เช่น อาหารทะเลตากแห้ง และสินค้าทางการเกษตร 

อ่านข่าว : “แดดร้อนแรง” สนค. ชี้โอกาสไทยขยายตลาด "พลังงานทดแทน"

เปิดประตูเมือง "ชุมพร" รับนักท่องเที่ยวไมซ์

จ.ชุมพร เป็นหนึ่งใน 55 จังหวัด และ 9 จังหวัดภาคใต้ ท่องเที่ยวเมืองรอง ถือเป็นประตูสู่ภาคใต้ อยู่ติดชายฝั่งทะเลอ่าวไทย อีกหนึ่งจังหวัดที่เต็มไปด้วย ความสมบูรณ์ของธรรมชาติ มีแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงมากมาย รวมทั้งความหลายหลาย ทั้งวัฒนธรรม มีหาดทรายยาวถึง 222 กม. มีเกาะกว่า 30 เกาะ หรือหากเป็นการท่องเที่ยวเชิงเกษตร เมืองนี้ก็ได้ชื่อว่าเป็น "เมืองผลไม้" เช่น ทุเรียน ที่สำคัญคือเป็นที่ประดิษฐานของ "ศาลกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์" องค์พระบิดาแห่งกองทัพเรือ ที่ทุกคนรู้จัก

"ประตูภาคใต้ ไหว้เสด็จในกรม ชมไร่กาแฟ แลหาดทรายรี ดีกล้วยเล็บมือ ขึ้นชื่อรังนก" คือคำขวัญประจำจังหวัด ยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงของดี แล้ววันนี้ "ชุมพร" พร้อมเปิดประตูรับการท่องเที่ยวที่กำลังจะเพิ่มขึ้นหรือยัง

"สันทรายบางเบิด" หนึ่งในสยาม รองรับตลาดไมซ์

อีกแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่ได้รับการผลักดันให้เป็นอีกหมุดหมายใหม่ ของกิจกรรมท่องเที่ยวของ จ.ชุมพร นั้นคือ "เนินทราย" หรือ Sand Dune หรือที่หลายคนเรียกว่า "สันทรายบางเบิด" ตั้งอยู่ใน ต.ปากคลอง อ.ประทิว จ.ชุมพร มีความยาวกว่า 10 กิโลเมตร ตลอดแนวชายหาดถ้ำธง - บางเบิด กว้าง 600 เมตร ครอบคลุมพื้นที่กว่า 2,000 ไร่

ปัจจุบัน "เนินทราย" แห่งนี้ยังไม่ค่อยได้รับการพูดถึงมากนัก แต่มีความน่าสนใจพอที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และต่างชาติ นั้นเพราะเกิดจากการรังสรรค์ของธรรมชาติกินเวลานานนับพันปี ตั้งแต่ช่วงปลายสมัยไพลสโตซีน หรือ ยุคน้ำแข็ง ประมาณ 1,800 ล้านปีก่อน

โดยมีจุดสูงสุดของเนินทรายอยู่ที่ประมาณ 30 เมตร จากระดับน้ำทะเล ถือเป็นเนินทรายชายหาดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของอ่าวไทย และนับเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย

เนินทรายชายฝั่งแห่งนี้ เกิดจากหลายปรากฏการณ์ธรรมชาติ ที่ประกอบเข้าด้วยกัน เนินทางมีการวางตัวขนานไปกับแนวชายฝั่งทะเล ส่วนด้านชันของเนินทรายจะอยู่ทางด้านที่ลมพัด และทางลาดของเนินทรายจะอยู่ทางด้านใต้ลม ทำให้รูปร่างของเนินทรายนั้นมีความโค้งเป็นตัว U หรือที่เรียกว่า เนินทรายรูปโค้ง ซึ่งเกิดในภูมิภาคอากาศร้อนชื้น

สิ่งนี้บ่งบอกได้ว่าเกิดจากการกระทำของลมที่ได้รับอิทธิพลของพายุในช่วงมรสุมบริเวณริมฝั่งทะเล และเมื่อทรายถูกลมพัดมาทับถมสะสมอย่างยาวนานจึงก่อให้เกิดเนินทรายที่มีความสูง นับเป็นผลจากธรรมชาติอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม แม้ด้านหน้าของเนินทางซึ่งเป็นแนวปะทะลม จะมีลักษณะแห้งแล้ง แต่ด้านหลังของเนินทรายซึ่งเป็นจุดอับลม กลับเกิดเป็นป่าเนินทาง ปกคลุมด้วยพืชพันธุ์เฉพาะถิ่นหาดูยาก กว่า 150 ชนิด เช่น "ต้นเสม็ดชุน" ไม้ยืนต้นในพื้นที่ป่าสันทรายชายทะเลอายุกว่า 100 ปี เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดบ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์

ด้วยเอกลักษณ์ของเนินทรายที่มีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย รวมถึงอยู่ใกล้ริมชายฝั่งทะเล และมีพันธุ์ไม้หลากลายชนิด จึงได้รับการสนับสนุนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งใน จ.ชุมพร ที่มีความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ และพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้แวะเวียนมาเยี่ยมชม เนินทรายที่มีความโดดเด่นทางธรณีวิทยา มีเม็ดทรายที่ละเอียดเดินได้ทั้งหาด และเดินบนสะพานไม้ ทอดยาวประมาณ 300 เมตร สร้างจาก "ไม้เต็งบาเลา" ที่มีการนำเข้ามาจากมาเลเซีย นั้นเพราะมีความทดทาน ไว้รองรับนักท่องเที่ยวที่กำลังจะเดินทางมาเพิ่มขึ้น พร้อมชมธรรมชาติระหว่างทางอย่างใกล้ชิด อีกด้วย

อ่านข่าว : "สงกรานต์" นี้มีเงินใช้แน่ แบงก์สำรองเงินสดกว่าแสนล้านบาท

MICE โอกาส"เศรษฐกิจ - ท่องเที่ยว"ท้องถิ่น

นายอนัน รามพันธ์ นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดชุมพร มองว่า ตลาดไมซ์ กำลังจะกลายเป็นโอกาส และความคาดหวังในระยะยาวให้กับพื้นที่ ซึ่งปัจจุบัน จ.ชุมพร มีการพัฒนากิจกรรมท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง รวมไปถึง เนินทรายบางเบิด ที่ได้รับการส่งเสริม และพัฒนา จากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวจุดหมายปลายทางแห่งใหม่ของนักเดินทางกลุ่มไมซ์ ทั้งในและต่างประเทศ

ในช่วงปีที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาตลอดในช่วงที่ผ่านมา แต่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่ามีสถานที่แบบนี้ด้วย กลุ่มนักท่องเที่ยวที่เข้ามาจะเป็นกลุ่มสแกนดิเนเวีย คือกลุ่มประเทศยุโรปเหนือ รวมทั้ง เช็ก ฮังการี สเปน มาเป็นกลุ่มเล็ก ๆ 5 - 10 คน แต่มาแบบไม่ซ้ำ 

ในอนาคตหากสนามบินเป็นนานาชาติ หวังว่าจะต้อนรับนักท่องเที่ยวให้มากขึ้น ขณะที่ เอกชนก็เริ่มเล็งเห็นว่าพื้นที่จะพัฒนาไปในทิศทางไหน เพราะเริ่มมีโรงแรมระดับ 6 ดาว เกิดขึ้น พื้นที่จึงต้องมีการผลักดันให้มีกิจกรรมต่าง ๆ เข้ามา

กิจกรรมที่คาดว่าจะเป็นการดึงนักท่องเที่ยวให้อยู่ใน อ.ปะทิว จ.ชุมพร นานมากขึ้น ทั้งการจัดงานเรลี่ งานวิ่ง กิจกรรมโปโลน้ำ รวมไปถึงให้เป็นจุด เล่นเซิร์ฟ (กระดานโต้คลื่น) ซึ่งจุดเขาบางเบิด เป็นแหล่งที่รับคลื่นทะเลได้ดีที่สุด ในอนาคตจะมีการจัดกิจกรรมในพื้นที่นี้เป็นงานประจำปีอย่างแน่นอน

ปัจจุบัน เนินทรายชุมพร มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเยือน หากเป็นช่วงพีค ๆ หน้าร้อนนั้นเป็นหลักหมื่น หากมากินปูห้อยขามาได้ทั้งปี แต่หากเป็น ดำน้ำ ได้ 8 เดือน ตั้งแต่ ก.พ. -ต.ค.

สอดคล้องกับ นายวีรยุทธ เพ็งอุบล รองประธานกลุ่มวิสาหกิจเพื่อสังคมชุมชนตำบลปากคลอง ที่มองว่า เมื่อชุมพรมีแหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลาย และจังหวัดมีการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวมากขึ้น จะส่งผลให้นักท่องเที่ยวเข้ามาในจังหวัดเพิ่ม

นอกจาก เนินทรายบางเบิด ยังสามารถไปท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยว ยอดนิยมอื่น ๆ ใน อ.ปะทิว ที่อยู่ใกล้เคียงได้อีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น หาดถ้ำธง โครงการพัฒนาส่วนพระองค์ เกาะร้านเป็นร้านไก่

นอกจากนี้ที่นี้ยังมีอันซีนอีกอย่างที่นักท่องเที่ยวทั่วไปไม่รู้ ที่อยู่ห่างจากเนินทาง 4 กิโลเมตร และทางพื้นที่ต้องการจะผลักดัน นั้นคือ "เอื้องโมกพรุ" กล้วยไม้น้ำพันธุ์เดียวที่เหลืออยู่ในเมืองไทย และเหลืออยู่ที่เดียว โดยจะออกดอกเต็มที่เดือน พ.ย.-ธ.ค.

ปีนี้จึงได้มีการจดทะเบียนวิสาหกิจเพื่อสังคมชุมชนปากคลอง เพื่อดูแลอนาคตของการท่องเที่ยวชุมชนจะเดินไปเรื่อย ๆ ช้า ๆ เดินไปคู่กับคนในพื้นที่ให้ได้ เพราะหากเดินเร็วไปความเสียหายก็จะตามมา ซึ่งเราเห็นตัวอย่างมาจากพื้นที่อื่นๆ แล้ว

สุดท้ายหากนักท่องเที่ยวรายใดมีโครงการท่องเที่ยวในจังหวัดภาคใต้ อย่าลืมแวะชมบรรยากาศเมืองรอง "ชุมพร" แม้จะเป็นเมืองเล็ก ๆ แต่เชื่อว่า หากใครได้มายลแล้วจะหลงรักเสน่ห์ของเมืองรอง ได้อย่างไม่ยากแน่นอน

อ่านข่าว : เปิด 5 ชาติเที่ยวไทยสูงสุด ดันยอด นทท.ต่างชาติเยือนไทย 4 เดือนกว่า 12 ล้านคน

จากรากหญ้า สู่รากแก้ว “แพทองธาร” เดินหน้า 1 ครอบครัว 1 Soft Power

ราคาพืชผลเกษตรต่ำ-หนี้สูง ปม "เชียงใหม่" คนจนมากสุดในไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง