วันที่ 19 มิ.ย.2567 น.ส.มัชฌมณ แก้วพฤหัสชัย นายสัตวแพทย์ชำนาญการ หัวหน้าศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 (กระบกคู่) เปิดเผยว่า หัวหน้าและสัตวบาลจากศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 (กระบกคู่) ร่วมกับสัตวบาลและเจ้าหน้าที่จากสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) หัวหน้าและสัตวบาลจากสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าช่องกล่ำบน เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติน้ำตกคลองแก้ว พร้อมอาสาสมัครในพื้นที่ เข้ารักษาช้างป่า “พลายกาหลง” ตัวผู้ อายุ 10 ปี น้ำหนัก 3 ตัน ในพื้นที่ ต.หนองบอน อ.บ่อไร่ จ.ตราด
ช้างป่าตัวดังกล่าว เดินกะเผลก และมีอาการบาดเจ็บขาหน้าขวา จึงทำการวางยาซึมเพื่อรักษา โดยมีรายละเอียดดังนี้ ขาหน้าขวาบวมบริเวณข้อเท้า มีแผลเนื้อตายเป็นโพรงเข้าไป เนื้อบริเวณเท้าหายไปบางส่วน และมีเนื้อตาย จึงทำความสะอาดบริเวณแผล ล้างแผลด้วยน้ำเกลือ ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ เบตาดีน ตัดเนื้อตายออกบางส่วน ใส่ยาแบคตาซิน และผงกันหนอน
ทีมสัตวแพทย์ ยังได้ฉีดยารักษาการติดเชื้อ ยาลดปวดลดอักเสบ ยาบำรุงกล้ามเนื้อ ยาบำรุงเลือด ยาป้องกันหนอนและแมลง ฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก เก็บตัวอย่างเลือดเพื่อตรวจสุขภาพ และตรวจโรคที่สำคัญในช้าง รวมทั้งเก็บตัวอย่างหนองเพื่อนำไปเพาะเชื้อแบคทีเรียและทดสอบความไวรับต่อยาปฏิชีวนะ
ในจุดเดียวกัน ทีมสัตวแพทย์ได้เข้ารักษาพลายหงส์ทอง ช้างป่าตัวผู้ อายุ 4-5 ปี ซึ่งมีบาดแผลบริเวณผิวหนังหลายจุด ลักษณะผิวหนังไม่เรียบ บางจุดแห้งและแผลปิด บางจุดยังมีหนอง การรักษาในครั้งนี้เป็นการติดตามอาการต่อเนื่อง และยัดยาลดอักเสบในผลไม้ให้กิน โดยไม่ได้วางยาซึม
ภายหลังจากรักษาเสร็จสิ้นได้ให้ยาฟื้นจากยาซึม และช้างป่าสามารถฟื้นจากยาซีมได้ดี โดยประสานให้เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติน้ำตกคลองแก้ว ติดตามดูอาการใกล้ชิดต่อไป
ทีมเจ้าหน้าที่ได้เข้าติดตามอาการและยิงวัคซีนป้องกันบาดทะยัก เข็มกระตุ้นห่างจากเข็มแรก 1 เดือน โดยยิงระะยะไกลให้ช้างป่า “พลายแสบ” ตัวผู้ อายุ 3 ปี น้ำหนักประมาณ 1.6 ตัน ในพื้นที่ ต.สะตอ อ.เขาสมิง จ.ตราด หลังจากเคยเข้ารักษาอาการขาหลังซ้ายบาดเจ็บและเดินกะเผลก โดยพบว่าอาการบาดเจ็บดีขึ้นมาก สามารถลงน้ำหนักได้ตามปกติ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พบร่องรอยตามลำตัวช้างป่าหลายจุด คาดว่าถูกยิงบาดเจ็บ
อ่านข่าว