รายงานของTPMAP เป็นความร่วมมือของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เกณฑ์ประเมิน "คนจนเป้าหมาย" คือ คนจนที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน เนื่องจากเป็นคนที่ได้รับการสำรวจว่าจน จาก ข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ซึ่งใช้หลายตัวชี้วัด อาทิ สภาพแวดล้อม การศึกษา การมีงานทำและรายได้ และ เป็นผู้ลงทะเบียนว่า "จน" จาก ข้อมูลผู้ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ กระทรวงการคลัง
TPMAP เริ่มรายงานข้อมูลตั้งแต่ปี 2560 ถึง 2566 แม้บางปีจะไม่มีการรายงาน แต่จังหวัดเชียงใหม่ก็มีจำนวนคนจนมากที่สุดในประเทศเป็นอันดับ 1 มาโดยตลอด โดยปี 2560 มีจำนวนคนจน 81,006 คน ส่วนในปี 2561 จำนวนคนจนอยู่ที่ 69,775 คน และ ปี 2562 จำนวนคนจน 50,243 คน จากนั้นจึงข้ามมาในปี 2565 จำนวนคนจนอยู่ที่ 52,928 คน และ ปีล่าสุดอยู่ที่ 15,605 คน คิดเป็นสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 1.57 ของประชากร
สำหรับ"คนจนเป้าหมาย"ในเชียงใหม่ มากที่สุดอยู่ที่อำเภอจอมทอง 3,995 คน รองลงมาคือ อำเภออมก๋อย 2,304 คน อำเภอแม่อาย 2,057 และ อำเภอดอยเต่า 1,908 คน ลักษณะการกระจายตัวของคนจน จึงอยู่ในชุมชนห่างไกล เป็นพื้นที่สูงที่มีข้อจำกัดด้านการพัฒนา ในหลายๆ ด้าน
ครองครัวของสองสามีภรรยาสูงวัย ชาวตำบลยางคราม อำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหนึ่งในกลุ่มคนจนที่ตกเกณฑ์ข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน หรือ จปฐ. เพราะบ้านมีสภาพผุพัง เจ้าของบ้านเป็นผู้สูงวัยไม่มีอาชีพ ไม่มีที่ดินทำกิน มีเพียงเบี้ยผู้สูงอายุ และ เบี้ยผู้พิการ สำหรับดำรงชีพ เทศบาลตำบลยางครามจึงจัดสรรงบประมาณ สร้างบ้านพักที่เน้นความแข็งแรงคงทน เพื่อให้ครอบครัวนี้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ถนอม กรรมใจ นายกเทศมนตรีตำบลยางคราม
ถนอม กรรมใจ นายกเทศมนตรีตำบลยางครามระบุว่าแม้เกณฑ์ประเมินคนจน จะให้ข้อมูล จปฐ.เป็นหลัก แต่แท้จริงแล้วยังมีชาวบ้านจำนวนไม่น้อยที่ผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำ แต่ก็ยังเผชิญกับความยากจนเช่นกัน สาเหตุหลัก คือ ปัญหาราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ ทำให้มีหนี้สะสม
เกษตรกรต้องซื้อปุ๋ยซื้อยาราคาแพง มีค่าครองชีพสูง และ ยังต้องส่งลูกเรียนหนังสือ ทำให้ต้องกู้หนี้ยืมสินมาเพาะปลูก แต่กลับกลายเป็นว่าราคาพืชผลตกต่ำทำให้เป็นหนี้เพิ่ม หากจะให้คนชนบทลืมตาอ้าปากได้ สินค้าเกษตรจะต้องดี ต้องลดต้นทุนเกษตรลง
ส่วนในเขตเมืองเชียงใหม่ แม้ตามรายงานของTPMAP จะไม่มีคนจนแม้แต่รายเดียว แต่ข้อมูลของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) พบว่ายังมี "กลุ่มคนจนเมือง" กว่า 2 พันครอบครัว ที่ประสบปัญหาที่อยู่อาศัย และ รายได้ หนึ่งในนั้น คือ ชาวชุมชนคลองเงิน ซึ่งสะท้อนว่าต้นเหตุของความยากจน คือ รายได้ที่ต่ำไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพ
สุทธิพร พลเมฆ แกนนำชุมชนคลองเงิน
สุทธิพร พลเมฆ แกนนำชุมชนคลองเงินเล่าว่า เธอมีรายได้หลักจากการรับจ้างซอยขิง ถุงละ 100 บาท หรือ เดือนละประมาณ 6 พันบาท แต่ที่บ้านมีสมาชิกรวม 8 คนจึงแทบไม่มีเงินเก็บ ซึ่งไม่แตกต่างจากเพื่อนบ้านอีก 17 ครอบครัว เธอมองว่าสาเหตุหลักที่คนในชุมชนไม่สามารถหลุดพ้นจากความจนก็เพราะรายได้ที่ต่ำแต่ค่าครองชีพสูง รวมทั้งปัญหาที่อยู่อาศัย เพราะมีสมาชิกครอบครัวเพิ่มขึ้น จึงหวังให้ภาครัฐช่วยแก้ปัญหาให้กับพวกเขา
แต่ละครอบครัวก็ต้องขยายเพิ่ม อย่างบ้านนี้ มีอยู่ทั้งหมด 8 คน ลูกๆ ก็ต้องมีครอบครัว ส่วนตัวอยากอยู่ตรงนี้ แต่รุ่นลูก รุ่นหลาน ก็อยากให้มีบ้านที่มั่นคงกว่านี้
สมคิด แก้วทิพย์ นักวิชาการวิทยาลัยบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ระบุว่า สาเหตุที่ทำให้จังหวัดเชียงใหม่ มีคนจนมากที่สุดในประเทศทั้งที่เป็นจังหวัดศูนย์กลางภาคเหนือ มาจากปัญหาเชิงโครงสร้างหลายๆ ปัจจัย อาทิ ปัญหาไร้สิทธิ์ในที่อยู่อาศัย และ ที่ดินทำกิน ชาวบ้านบางส่วนมีถิ่นฐานอยู่ในเขตป่าทำให้ภาครัฐไม่สามารถทำโครงการพัฒนาต่างๆ ได้
สมคิด แก้วทิพย์ นักวิชาการวิทยาลัยบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้
ขณะที่การบริหารราชการแบบรวมศูนย์ก็มีความอ่อนแอในตัวเอง การนำงบประมาณไปอุดหนุนไม่ถูกที่ และ ใช้ไปในเชิงสงเคราะห์มากกว่าการสร้างพื้นฐานความรู้ความสามารถในการทำมาหากิน รวมทั้งระบบการศึกษาที่ไม่ยึดโยงกับการทำมาหากิน แต่กลับสร้างภาระให้กับคนยากจน
ส่วนแนวทางการแก้ปัญหาความยากจน มองว่าต้องให้คนจนมีส่วนร่วมสำคัญในการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหา ให้เขาเป็นเจ้าของปัญหา และรัฐเป็นผู้สนับสนุน ให้ชุมชน และ ผู้นำได้วิเคราะห์ตัวเอง วิเคราะห์พื้นที่ในหลายๆมิติ พร้อมเสนอให้ใช้เครื่องมือที่มีอยู่แล้ว อาทิ สภาองค์กรชุมชน กองทุนสวัสดิการชุมชน ที่มีอยู่แล้ว เป็นต้นทุนในการแก้ความยากจน
TPMAP เป็นจุดสตาร์ทที่ดี แต่ต้องกลับไปทบทวนอีกนิดว่าฐานข้อมูลนี้ เป็นข้อมูลจริงขนาดไหน แล้วที่สำคัญ คือ การมีส่วนร่วมของคนที่เผชิญกับปัญหา ไม่ใช่รัฐเข้าไปเป็นเจ้าของเรื่อง และ แก้ไขในเชิงสงเคราะห์ แบบผิวๆ ที่ไม่สามารถแก้ไขความยากจนได้อย่างยั่งยืน
สำหรับจังหวัดที่มีคนจนมากที่สุด 5 อันดับแรก รองจากจังหวัดเชียงใหม่ คือ อุดรธานี 12,117 คน บุรีรัมย์ 10,935 คน เชียงราย 9,564 คน และ นครศรีธรรมราช 9,179 คน
ส่วนจังหวัดที่มีพัฒนาการไปในทิศทางที่ดีขึ้น เมื่อเทียบกับปีก่อน อันดับ 1 คือ จังหวัดแม่ฮ่องสอน สัดส่วนคนจนลดลงจาก ร้อยละ 15.09 เหลือร้อยละ 3.33 และ จังหวัดน่าน จากร้อยละ 10.97 เหลือร้อยละ 1.81
รายงาน : พยุงศํกดิ์ ศรีวิชัย ผู้สื่อข่าวอาวุโสไทยพีบีเอส ศูนย์ข่าวภาคเหนือ