วันที่ 24 มิ.ย.2567 น.ส.ปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า ฝุ่นละออง PM 2.5 เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุและมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับกิจกรรมในแต่ละพื้นที่ สำหรับกรุงเทพฯ ปริมณฑล และเมืองใหญ่ที่มีปัญหาการจราจรหนาแน่นและติดขัด พบว่าเป็นสาเหตุหลักของกการปล่อยฝุ่นละออง PM 2.5
จากการศึกษาการระบายมลพิษจากแหล่งกำเนิดประเภทต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล พบฝุ่นละออง PM 2.5 เกิดจากภาคการขนส่งทางถนน 51 % ภาคอุตสาหกรรม 21 % ครัวเรือน 10 % เผาที่โล่ง 6 % และอื่น ๆ อีก 12 % โดยภาคการขนส่งทางถนนจะมาจากรถบรรทุกและรถกระบะที่ปล่อยฝุ่นละออง PM 2.5 สูงถึง 44 %
รถยนต์ที่มีอายุการใช้งานมากกว่า 20 ปี ขึ้นไป จะเป็นกลุ่มที่มีอัตราการปล่อยฝุ่นละออง PM 2.5 มากที่สุด เนื่องจากไม่มีเทคโนโลยีควบคุมหรือลดปริมาณฝุ่นละออง ซึ่งสถิติการจดทะเบียนรถยนต์ทั่วประเทศของกรมการขนส่งทางบก พบว่ารถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล จะมีสัดส่วนของรถยนต์ที่มีอายุการใช้งานมากกว่า 20 ปี สูงที่สุด
อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ในเมืองใหญ่ จึงพิจารณามาตรการเพิ่มความถี่การตรวจสภาพรถยนต์ประจำปี สำหรับรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล และมีอายุการใช้งานมากกว่า 20 ปีขึ้นไป จาก 1 ครั้งต่อปี เป็น 2 ครั้งต่อปี หรือทุก 6 เดือน เพื่อให้รถยนต์กลุ่มนี้ได้รับการดูแลบำรุงรักษาที่มากขึ้น เป็นส่วนช่วยในการป้องกัน ควบคุม และลดการเกิดฝุ่นละออง PM2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพอากาศโดยรวม
ทั้งนี้ คพ.ขอเชิญชวนร่วมแสดงความคิดเห็นต่อการกำหนดให้เพิ่มความถี่ในการตรวจสภาพรถยนต์ประจำปี สำหรับรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลและมีอายุการใช้งานมากกว่า 20 ปี ขึ้นไป จำนวน 2 ครั้งต่อปี เพื่อใช้ประกอบการพิจารณากำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 จากรถยนต์ใช้งานต่อไป
สามารถดูรายละเอียดได้ที่ https://forms.gle/Dz7pToCKmEA5gqM27 และติดต่อสอบถาม โทร 02-298-2280 ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 2 ก.ค.2567