วันนี้ (26 มิ.ย.2567) น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม (อก.) เปิดเผยถึงกรณีกระแสข่าวการปิดกิจการโรงงานในปัจจุบันว่า จากข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ณ วันที่ 12 มิ.ย. 2567 ประกอบกับการวิเคราะห์ข้อมูลโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม พบว่าภาพรวมในปี 2567 ตั้งแต่ม.ค.-พ.ค. มีโรงงานปิดกิจการ 488 โรงงาน
นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.)
ขณะเดียวกันมีโรงงานเปิดกิจการใหม่ 848 โรงงาน สูงกว่าโรงงานที่ปิดกิจการถึงร้อยละ 74 และเมื่อพิจารณามูลค่าเงินลงทุนจากการเลิกประกอบกิจการ พบว่า มีจำนวน 14,042 ล้านบาท ในขณะที่การเปิดโรงงานใหม่มีเงินลงทุนถึง 149,889 ล้านบาท ซึ่งมีเงินลงทุนมากกว่าปิดกิจการกว่า 10 เท่า และในด้านการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรม การปิดกิจการมีการเลิกจ้างงาน 12,551 คน
ในขณะที่การเปิดโรงงานใหม่มีการจ้างงานถึง 33,787 คน ซึ่งมีความต้องการแรงงานมากกว่า 21,236 คน นอกจากนี้ เมื่อรวมกับโรงงานเดิมที่มีการขยายกิจการจะมีอีกจำนวนกว่า 126 โรงงานเกิดการลงทุนเพิ่มขึ้น 11,748 ล้านบาท และเกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นกว่า 4,989 คน
อย่างไรก็ตาม เมื่อวิเคราะห์สาเหตุการปิดกิจการโรงงาน ในปี 2567 พบว่ามาจากสาเหตุมีคำสั่งซื้อที่ลดลง เนื่องจากสินค้าที่ผลิตส่วนใหญ่เป็นสินค้าทั่วไป มีการแข่งขันด้านราคาและไทยมีความสามารถในการแข่งขันลดลงในสินค้าบางประเภท เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ทำให้มีสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาทำตลาดในไทยมากขึ้น ขณะเดียวกัน การส่งออกก็ลดลงด้วย เพราะราคาสินค้าของไทยแพงกว่าประเทศอื่น
แต่ก็ยังมีบางโรงงานที่ปิดกิจการเดิมและเปิดกิจการใหม่เพื่อปรับเปลี่ยนการลงทุนไปสู่อุตสาหกรรมที่สามารถแข่งขันได้ นอกจากนี้ มีนักลงทุนบางส่วนได้ย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศ เพื่อให้ได้สิทธิประโยชน์ทางการค้าที่มากขึ้นด้วย
รมว. อุตสากรรมฯ กล่าวอีกว่า กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีเงินลงทุนเลิกกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ 2,297 ล้านบาท (เช่น PCB) กลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะ 1,456 ล้านบาท (โครงสร้างเหล็ก) และ กลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติก 930 ล้านบาท (เช่น ชิ้นส่วนพลาสติก)
ทั้งนี้ ในกลุ่มโรงงานเปิดใหม่ที่มีเงินลงทุนสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร 29,644 ล้านบาท เช่น อาหารสัตว์สำเร็จรูป กลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี 18,474 ล้านบาท เช่น ปุ๋ยเคมี และ 3กลุ่มผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ 12,378 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณากลุ่มผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ ซึ่งเป็นกลุ่มกิจการที่อยู่ใน 3 อันดับแรกของมูลค่าเงินลงทุนสูงสุดทั้งการเลิกกิจการและตั้งโรงงานใหม่ พบว่า มีเงินลงทุนในการเลิกกิจการ 2,297 ล้านบาท แต่มีการเปิดกิจการใหม่ด้วยเงินลงทุน 12,378 ล้านบาท มากกว่าเลิกกิจการถึง 5 เท่า แสดงให้เห็นว่ากลุ่มผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ ส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดใหญ่ที่เข้ามาเปิดกิจการใหม่ในไทยมากขึ้น
ภาพรวมการดำเนินกิจการโรงงานในปัจจุบันยังคงขยายตัว กระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญกับความอยู่รอดของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SME สั่งการให้กำหนดมาตรการเพื่อช่วยขับเคลื่อนให้ภาคอุตสาหกรรมเติบโตและแข่งขันได้มากขึ้น เพื่อให้ SME ให้อยู่รอดและเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยุคใหม่ที่แข็งแรง สามารถแข่งขันได้
อ่านข่าว:
ตลาด Art Toyไทยรุ่ง “กรมพัฒน์” ชี้ กลุ่ม Kidult แห่ซื้อเก็งกำไร
TDRI ชี้ เศรษฐกิจไทยโตต่ำสุดในอาเซียน แนะเร่งดึงทุนต่างชาติ
ราคาทองคำ เปิดตลาดเช้านี้ ร่วง 150 บาท เหตุดอลลาร์แข็งค่า-เฟดอาจปรับดอกเบี้ย