4 ช่องทาง ม.33-39 เปลี่ยนโรงพยาบาลประกันสังคมด้วยตัวเอง

สังคม
27 มิ.ย. 67
13:27
1,092
Logo Thai PBS
4 ช่องทาง ม.33-39 เปลี่ยนโรงพยาบาลประกันสังคมด้วยตัวเอง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
หากผู้ประกันตนมาตรา 33-39 ต้องการเปลี่ยนโรงพยาบาลประกันสังคมนั้น สามารถทำได้ตลอด 24 ชม.ผ่านช่องทางออนไลน์ โดยไม่ต้องใช้เอกสารใด ๆ แต่ก่อนตัดสินใจย้าย ต้องคำนึงถึงความสะดวกในการเดินทาง และจำนวนสิทธิที่โรงพยาบาลแห่งใหม่สามารถรับได้ด้วย

เปลี่ยนสถานพยาบาลประกันสังคม คืออะไร ?

การเปลี่ยนสถานพยาบาลประกันสังคม คือ การย้ายสิทธิการรักษาจากสถานพยาบาลประกันสังคมเดิม ไปยังสถานพยาบาลประกันสังคมแห่งใหม่ โดยที่ผู้ประกันตนเฉพาะมาตรา 33 และ 39 เท่านั้น สามารถเปลี่ยนสถานพยาบาลประกันสังคมได้ปีละ 1 ครั้ง สามารถดำเนินการได้ระหว่างวันที่ 16 ธ.ค. จนถึงวันที่ 31 มี.ค.ของปีถัดไป 

แต่ในขณะนี้สำนักงานประกันสังคมได้อำนวยความสะดวกให้ประชาชนเพิ่มขึ้นโดยสามารถทำรายการผ่านช่องทางออนไลน์ได้ 24 ชั่วโมงตลอดทั้งปี 

4 ช่องทางการขอเปลี่ยนสถานพยาบาล

1. ยื่นแบบที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา ทุกแห่งทั่วประเทศ (หากผู้ประกันตนยื่นเรื่องเปลี่ยนสถานพยาบาลผ่านทางออนไลน์แล้ว ไม่จำเป็นต้องยื่นเอกสารที่สำนักงานประกันสังคมอีก) 

2. ยื่นผ่านเว็บไซต์ สำนักงานประกันสังคม

  • เข้าสู่ระบบ/สมัครสมาชิก
  • กด "ยื่นแบบขอเปลี่ยนสถานพยาบาล"
  • เลือกเหตุผลการเปลี่ยนเลือกสถานพยาบาลใหม่ที่ต้องการ โดยจะมี 2 ข้อคือ เปลี่ยนประจำปี หรือ ย้ายที่อยู่ 
  • เลือกสถานพยาบาลใหม่ โดยโรงพยาบาลที่สิทธิเต็ม ทางระบบจะขึ้นตัวอักษรสีเทา และวงเล็บด้านหลังว่า "เต็ม" ส่วนสถานพยาบาลที่ยังมีสิทธิหลงเหลืออยู่ จะขึ้นตัวอักษรสีดำ
  • สามารถเลือกสถานพยาบาลใหม่ที่ต้องการได้
  • จากนั้นกดยอมรับข้อตกลงและเงื่อนไขและกดบันทึก

3. ทำรายการผ่านแอปพลิเคชันไลน์

  • เพิ่มเพื่อน @ssothai (สำนักงานประกันสังคม)
  • เลือก "ข้อมูลของผู้ประกันตน"
  • กรอกข้อมูลเพื่อเข้าระบบหรือสมัครสมาชิก
  • เลือกเมนู "เปลี่ยนสถานพยาบาล"
  • เลือกเหตุผลการเปลี่ยน
  • เลือกสถานพยาบาลใหม่ที่ต้องการ
  • กดยอมรับข้อตกลงพร้อมกดยืนยัน

4. ทำรายการผ่านแอปพลิเคชัน SSO Connect 

  • กรอกข้อมูลเพื่อเข้าระบบหรือสมัครสมาชิก
  • เลือกเมนู "เปลี่ยนสถานพยาบาล"
  • เลือกเหตุผลการเปลี่ยน
  • เลือกสถานพยาบาลใหม่ที่ต้องการ
  • กดยอมรับข้อตกลงพร้อมกดยืนยัน

เอกสารที่ต้องใช้ ?

  • ผู้ประกันตนที่ต้องการเปลี่ยนสถานพยาบาลใหม่ช่องทางออนไลน์ "ไม่ต้องใช้" เอกสารใด ๆ ในการเปลี่ยนทั้งสิ้น 
  • ผู้ประกันตนที่ต้องการเปลี่ยนสถานพยาบาลใหม่ ณ สำนักงานประกันสังคม "ต้องใช้" เอกสาร ได้แก่ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และ แบบฟอร์ม สปส.9-02
  • หลังจากที่ยื่นคำร้องเปลี่ยนสถานพยาบาลใหม่แล้ว ผู้ประกันตนสามารถตรวจสอบผลภายใน 2 วันทำการที่เมนู "ประวัติการเปลี่ยนแปลงสถานพยาบาล" และสามารถใช้สิทธิ ณ สถานพยาบาลใหม่ (หากยื่นคำขอผ่าน) ได้ภายในวันที่ 1 และ 16 ของเดือน

สำหรับผู้ประกันตน มาตรา 40 นั้น ใช้สิทธิบัตรทองในการรักษาพยาบาล
ไม่สามารถเลือกสถานพยาบาลประกันสังคมได้

ทั้งนี้ สามารถตรวจสอบรายชื่อสถานพยาบาล ได้ที่ เว็บไซต์ของสำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th หรือ สายด่วน 1506 ซึ่งในปี 2567 มีสถานพยาบาลให้บริการทางการแพทย์ จำนวน 267 แห่ง แยกเป็นสถานพยาบาลภาครัฐ จำนวน 170 แห่ง และสถานพยาบาลเอกชน จำนวน 97 แห่ง

โดยการเปลี่ยนสถานพยาบาลในแต่ละครั้งนั้น ขอแนะนำให้ผู้ประกันตนควรเลือกด้วยตนเอง และให้คำนึงถึงความสะดวก ความพึงพอใจ และประโยชน์ในการขอรับบริการทางการแพทย์ และสถานพยาบาลที่เลือกจะต้องเป็นสถานพยาบาลในจังหวัดที่ผู้ประกันตนทำงานอยู่ หรือพักอาศัย ในเขตรอยต่อของจังหวัดดังกล่าว และมีจำนวนผู้ประกันตนไม่เกินตามที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด

สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 ที่ไม่มีความประสงค์จะเปลี่ยนสถานพยาบาล สามารถใช้สิทธิรับบริการทางการแพทย์จากสถานพยาบาลตามสิทธิเดิมได้ และหากผู้ประกันตนที่สิ้นสภาพจากความเป็นผู้ประกันตนแล้ว สามารถใช้สิทธิต่อได้อีก 6 เดือน นับแต่วันที่สิ้นสภาพ

สามารถตรวจสอบสิทธิการรักษาพยาบาลได้ที่ www.sso.go.th, Application SSO Connect,  Line @ssothai และ สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ / จังหวัด / สาขา ทุกแห่ง สถานพยาบาลในโครงการประกันสังคมทั่วประเทศ เครื่อง Smart Kiosk ของกระทรวงมหาดไทย หรือติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน 1506 ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง

อ่านข่าวเพิ่ม :

มงกุฎวัฒนะเตรียมถอนตัวจาก สปส. แจ้งผู้ประกันตนหา รพ.ใหม่

เปิดรายชื่อ 200 สว. "สมชาย" ตกรอบ "ศรีวราห์-ทนายตั้ม" ติดสำรอง

6 วันดับ 500 คน "การาจี" เผชิญคลื่นความร้อน-รัฐรับมือล้มเหลว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง