หักปากกาเซียน ชนิดพลิกความคาดหมาย หลัง "นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์" อดีตนายกรัฐมนตรี ตกขบวน "เลือกไขว้" ไม่ได้ไปต่อบนเส้นทางวุฒิสมาชิก ได้เพียง 4 คะแนน จากเดิมถูกระบุว่า เป็นแคนดิเดตชิงเก้าอี้ประธานวุฒิสภา แต่กลับไม่ผ่านแม้แต่เป็นตัวสำรอง
ไม่ใช่เฉพาะ "นายสมชาย" น้องเขยของอดีตนายก "ทักษิณ ชินวัตร" เท่านั้น ที่พลาดเป้า แต่ตัวเต็งของค่ายพรรคเพื่อไทยร่วงกันระนาว ไม่ว่าจะเป็น นายศรีเมือง เจริญศิริ อดีต สว.มหาสารคาม, นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีตรองนายกฯ ตกตั้งแต่รอบแรก ขณะที่ "นายพันธุ์เลิศ ใบหยก" ยังไม่ร่วง แต่ติดสำรองในลำดับที่ 14
มีคำถามว่า เหตุใดนายสมชาย และเครือข่ายของพรรคเพื่อไทย จึงไปไม่ถึงดวงดาว ตั้งใจ "ยอมแพ้" เบื่อ ไม่อยากไปต่อ หรือพ่ายต่อขบวนการบล็อกโหวต ในรอบสุดท้าย คงยากที่ได้คำตอบในขณะนี้
อย่างไรก็ตาม หากดูรายชื่อคนดังที่ตกและติดสำรองอีก 100 คน และลำดับรายชื่อผู้ที่ได้รับเลือกเข้าไปในลำดับ 1-10 ก็อาจพบความผิดปกติ หากมีการล็อกคะแนน, ล็อกโหวต หรือซื้อคะแนนระหว่างกลุ่มจริง ตามที่มีผู้สมัคร สว.หลายคนระบุว่า หากยอมรับค่าเขียนหมายเลขของแต่ละกลุ่มในลำดับต้น ๆ ก็จะมีค่าตอบแทนให้ ว่ากันว่าราคาอยู่หลักหมื่นจนถึงหลายแสนบาท
อย่างไรก็ตาม แต่หากมองย้อนกลับไปตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการเลือกตั้ง สว.จากในอดีต จนถึงเข้าสู่ระบบการเลือก สว.แบบไขว้ ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2560 ประชาชนทั่วไปไม่มีสิทธิเลือก แต่ให้เฉพาะผู้สมัครที่มีคุณสมบัติตามกฎหมายและจ่ายค่าธรรมเนียม 2,500 บาท เป็นผู้มีสิทธิเลือก โดยกำหนดให้ "เลือกกันเอง" ในกลุ่มอาชีพ และ "เลือกไขว้" กลุ่มร่วมสาย ไต่ระดับตั้งแต่อำเภอ–จังหวัด
จนมาถึงการเลือกในระดับประเทศตั้งแต่วันที่ (26 มิ.ย.) จนเข้าสู่ในช่วงวันนี้(27 มิ.ย.) นานกว่า 20 ชั่วโมง ก็เห็นหน้าตาว่าที่ 200 สว.ใหม่ชัดเจนว่า ในแต่ละกลุ่มที่ได้รับเลือก ส่วนใหญ่มาจากค่ายสีน้ำเงิน "ภูมิใจไทย" มากที่สุด ส่วนค่ายอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นค่ายพระแม่ธรณีบีบมวยผม, รวมไทยสร้างชาติ, และพลังประชารัฐ เข้ามาประปราย ไม่ต่างจากค่ายสีส้มของพรรคก้าวไกล
การต่อสู้ในสนามการเมืองระดับประเทศในครั้งนี้ โดยเฉพาะการกำหนดยุทธศาสตร์การต่อสู้ของค่ายสีน้ำเงิน ในทางการรบ ต้องเรียกว่า "วางแผนดี มีชัยเกินครึ่ง" มีการคาดการณ์ว่า "ว่าที่ สว.ใหม่จำนวน 200 คน" เป็นคนของเครือข่ายในค่ายภูมิใจไทยกว่า 100 คน มีเพียง 9 จังหวัดเท่านั้นที่ไม่มี สว.
ซึ่งเป็นแผนรบที่กำหนดไว้ล่วงหน้า ตั้งแต่ระดับท้องถิ่น คือ อำเภอ และจังหวัด ซึ่งหากตรวจสอบข้อมูลย้อนหลัง จะพบว่า มีเจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ลงสมัคร สว.มากที่สุด โดยกระจายไปอยู่ในทุกกลุ่มสาขาอาชีพ ในทุกจังหวัด
มีข้อมูลจากจังหวัดในพื้นที่ภาคกลางแห่งหนึ่ง ระบุว่า หลังมีการเปิดรับสมัครเลือก สว.ในระดับอำเภอ มีคนของพรรคฯ หรือ "หัวคะแนน" ใหญ่ในพื้นที่ ถือรายชื่อมาแจ้งให้ผู้ที่เป็น อสม.ให้ไปสมัครเป็น สว.โดยขอให้กระจายไปอยู่ในแต่ละกลุ่มของสาขาอาชีพ เพื่อให้เข้าไปถึงในรอบระดับอำเภอ และจังหวัด ทำเพียงเท่านี้ก็จะได้รับค่าตอบแทนหลักหมื่นบาท โดยไม่ต้องลงทุนอะไรทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น ค่าสมัคร ค่าถ่ายรูป เอกสาร และค่าเดินทาง แถมยังมีรถรับส่งไปถึงจุดรับสมัคร
แม้ว่า อสม.หลายคนในหมู่บ้าน ไม่ได้อยากสมัคร แต่เมื่อมีใบสั่ง มีการกำกับเสร็จสรรพว่า ต้องทำ หรือไม่ทำอะไรบ้าง โดยไม่ต้องกลัวว่าจะได้ เพราะถึงจะเข้ารอบผ่านเข้าไปในระดับจังหวัด ได้ไปต่อ แต่สุดท้าย อย่างไรเสียก็ไม่ได้อยู่แล้ว
"เขาแค่ต้องการเอาคะแนน ไปดันคนอื่นให้เข้าระดับ จังหวัด ประเทศ แล้วค่อยไปไขว้ ส่งกันเข้าไปอีกครั้ง จริง ๆ ก็กลัว เพราะหลาย ๆ คน ไม่ได้จบปริญญาตรี เป็นชาวบ้านทั่วไป ไม่รู้กฎหมาย บางคนกลัวว่า หากได้รับเลือกเข้าไปแล้ว หากมีใครมาถามก็กลัวจะทำอะไรไม่ถูก แต่ตอนนี้โล่งเพราะหมดภาระหน้าที่แล้ว ใครเขาอยากได้ อยากทำอะไรก็ทำกันไป เราก็กลับมาเป็น อสม.กันต่อ" เป็นข้อมูลส่วนหนึ่งที่จากพื้นที่
นอกจากการเดินเกมใต้ดิน บนดิน การพลิกวิธีเอาชนะคู่แข่งแยบคายกว่าที่เห็นและเป็นอยู่ และหากพลิกดูรายชื่อ ว่าที่ สว. คนใหม่ หลายคนอาจไม่รู้จัก ไม่คุ้นหน้า หลายคนมาเงียบ ๆ แต่ ค่ายสีน้ำเงิน "กวาดเรียบทั้งกระดาน" กระจายอยู่ในหลายจังหวัด
เช่น น.ส.คอดียะฮ์ ทรงงาม ว่าที่ สว.ในสายสื่อมวลชน ระบุในใบสมัครอาชีพช่างตัดเย็บเสื้อผ้า มีประวัติการทำงานเป็นประชาสัมพันธ์เสียงตามสายหมู่บ้าน และเป็นประชาสัมพันธ์ อ.ไชโย จ.อ่างทอง แต่ข้อมูลในพื้นที่พบว่า เป็นที่ปรึกษา "อดีตนายกฯตี๋" สุรเชษ นิ่มกุล ว่าที่ผู้สมัครนายกฯ อบจ.อ่างทอง ซึ่งมีความคุ้นเคยกับเครือข่ายบ้านใหญ่สีน้ำเงินใน จ.พระนครศรีอยุธยา
หรือ นางอารีย์ บรรจงธุระการ ระบุมีอาชีพพยาบาล เป็นพยาบาล, พิธีกรงานแต่ง นายพิธีงานแต่ง งานเลี้ยง, วิทยากรพิเศษให้ความรู้เกี่ยวกับเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ทุกโรงพยาบาล
นายสมบูรณ์ หนูนวล ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเขาการ้อง (อดีตผู้สมัคร สส.ชุมพร เขต 2 พรรคภูมิใจไทย) นพ. ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข (ยุคนายอนุทิน ชาญวีรกุล) นายพิบูลย์อัฑฒ์ หฤหรรษ์ปราการ อดีตที่ปรึกษา รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา
นายธวัช สุระบาล อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ, นายนิพนธ์ เอกวานิช อดีตผู้สมัคร สส.ภูเก็ต พรรคภูมิใจไทย, นางรจนา เพิ่มพูล เจ้าของไทยเอเชียโกลเด้นซีรีสอร์ท, นายนิพนธ์ เอกวานิช อดีตผู้สมัคร สส.ภูเก็ต พรรคภูมิใจไทย, นายสัมพันธ์ ชัยวิเศษจินดา ที่ปรึกษาตลาดศรีเมือง
พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ อดีตผู้ช่วย ผบ.ทบ.อดีตแม่ทัพภาค 4 เพื่อนร่วมรุ่น วปอ.61 นายอนุทิน และนายประณีต เภรัมย์ อาชีพรับจ้าง ซึ่งเป็น (อดีตคนขับรถของปู่ชัย ชิดชอบ ) น.ส.มาเรีย เผ่าปาทาน อดีต ผู้สมัคร สส.พรรคภูมิใจไทย จ.ประจวบคีรีขันธ์ ลูกสาวนายสวาป เผ่าปาทาน อดีต สส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย และกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย
ประณีต เภรัมย์
นายสมชาย เล่งหลัก นักธุรกิจ อดีต ผู้สมัคร สส.ภูมิใจไทย จ.สงขลา, นายมงคล สุระสัจจะ อดีตอธิบดีกรมการปกครอง, นายธวัช สุระบาล อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ, นายพรเพิ่ม ทองศรี หัวหน้าคณะทำงาน รมช.มหาดไทย (นายทรงศักดิ์ ทองศรี มท.3) และ พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร อดีต ผบก.ภ.จว.บุรีรัมย์, นางประไม หอมเทียม อาชีพเกษตรกรรม เป็นกรรมการกองทุนหมู่บ้าน และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) (บุรีรัมย์)
ส่วน ว่าที่ สว.อิสระที่เข้ามาได้แบบหืดขึ้นคอ ไร้สังกัดการเมือง แม้จะมีประปรายอย่าง "ผู้ว่าฯปู" นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง, ดร.แล ดิลกวิทยรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์แรงงาน, นายประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ, นายประหยัด จตุพรพิทักษ์กุล ผู้บริหารมูลนิธิศึกษาพัฒนาชนบท, อดีตประธานกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ (เชียงใหม่)
ขณะที่ค่ายสีส้มก้าวไกล นอกจากนายเทวฤทธิ์ มณีฉาย ก็มี นายนิพนธ์ เอกวานิช ประธานที่ปรึกษาบริษัท ภูเก็ต พัฒนาเมือง จำกัด, นายวีรยุทธ สร้อยทอง นักนโยบายคณะก้าวหน้า ที่ทำนโยบาย น้ำประปาดื่มได้ และนาย พงษ์ศักดิ์ เกิดวงศ์บัณฑิต กรรมการผู้จัดการบริษัท วงศ์บัณฑิต จำกัด
เป็นภาพ สว.เลือกตั้งที่มองเห็นในขณะนี้ สะท้อนให้เห็นการต่อสู้และการขับเคี่ยว-งัดข้อกันในอนาคต หากเกิดอุบัติเหตุการเมืองและสถานการณ์ที่ไม่สามารถคาดเดา
อ่านข่าว : เปิด 10 ธุรกิจรายได้สูง 3 ลำดับแรก "พลังงาน ยานยนต์ แบงก์"