ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ทางรอด ลมหายใจเฮือกสุดท้าย "นักโทษเด็ดขาด" ประหารชีวิต

อาชญากรรม
28 มิ.ย. 67
15:42
7,739
Logo Thai PBS
ทางรอด ลมหายใจเฮือกสุดท้าย "นักโทษเด็ดขาด" ประหารชีวิต
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ประเทศไทย ยังมี "โทษประหารชีวิต" แต่ในทางปฏิบัติ ไม่ได้เกิดขึ้นกับ "นักโทษเด็ดขาด" ทุกคน และคนล่าสุดที่ได้รับโทษประหารชีวิต เกิดขึ้นในปี 2561 เป็นผู้ต้องหาในคดีฐานฆ่าผู้อื่นอย่างทารุณโหดร้ายเพื่อชิงทรัพย์ ขณะที่ พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ คือ นักโทษเด็ดขาดประหารชีวิต คนล่าสุด

โทษ "ประหารชีวิต" วนกลับมาให้ได้ยินอีกครั้ง หลังปรากฏคำพิพากษาของศาลฎีกา ในคดีที่ พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ เป็นจำเลยในคดีร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและข้อหาอื่นที่เกี่ยวข้องในกรณีการเสียชีวิตของ นายชูวงษ์ แซ่ตั๊ง นักธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง

โดยศาลอาญาพระโขนง อ่านคำพิพากษาชั้นฎีกา ในคดีระหว่าง นางศิริรัตน์ แซ่ตั๊ง โจทก์ที่ 1 กับพวกรวม 4 คน และพนักงานอัยการ โจทก์ที่ 5 ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์  

ศาลฯ อ่านคำพิพากษาผ่านระบบการประชุมทางไกลผ่านจอภาพ ระหว่างศาลอาญาพระโขนงไปยังเรือนจำกลางบางขวาง

ศาลฎีกา พิพากษายืนให้ประหารชีวิตจำเลย ซึ่งศาลฎีกาเห็นพ้องตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และศาลชั้นต้นว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้อง และฎีกาทุกข้อของจำเลย ฟังไม่ขึ้น จากสถานะจำเลย ปัจจุบัน พ.ต.ท.บรรยิน คือ "นักโทษเด็ดขาดประหารชีวิต"

เปิดทางรอด "ประหารชีวิต" หลังต้องโทษเด็ดขาด

หลังจากที่มีคำพิพากษาประหารชีวิต กลายสถานะเป็น นักโทษเด็ดขาดประหารชีวิต แล้วนักโทษสามารถถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษได้ แต่ก็มีข้อยกเว้นสำหรับกลุ่มนักโทษนักค้ายาเสพติดรายสำคัญ เป็นต้น

การพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไป คือ การพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องราชทัณฑ์หรือผู้ต้องโทษ โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกาตามการถวายคำแนะนำของคณะรัฐมนตรีต่อพระมหากษัตริย์ตามมาตรา 261 ทวิแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ในกรณีนี้ทางราชการจะดำเนินการให้แก่ผู้ต้องราชทัณฑ์ในทุกขั้นตอน โดยที่ผู้ต้องราชทัณฑ์ไม่ต้องดำเนินการใด ๆ ทั้งสิ้น การพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไป มักจะมีขึ้นในวโรกาสมหามงคลต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่น เนื่องในโอกาสพระราชพิธีกาญจนาภิเษกรัชมังคลาภิเษก เป็นต้น

การพระราชทานอภัยโทษเป็นการเฉพาะราย คือ การพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องราชทัณฑ์หรือผู้ต้องโทษเป็นรายบุคคล โดยการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ ตามการถวาย ผู้มีสิทธิยื่นเรื่องราวทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษเฉพาะราย จะต้องเป็นผู้ต้องโทษคดีถึงที่สุด, เป็นผู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวข้อง เช่น บิดามารดา บุตร คู่สมรส ผู้ปกครอง ผู้อนุบาล ของผู้ที่ต้องคำพิพากษานั้น เพราะเป็นญาติโดยตรงกับผู้ที่ต้องโทษตามคำพิพากษาและสถานทูต (ในกรณีที่เป็นนักโทษชาวต่างชาติ)

ผู้ต้องโทษกรณีทั่วไป ยื่นได้ทันทีที่คดีถึงที่สุด ในขณะที่ผู้ต้องโทษประหารชีวิต ต้องยื่นภายใน 60 วัน นับแต่คดีถึงที่สุด (ศาลฎีกามีคำพิพากษา)

โดยผู้ต้องโทษ (โทษประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับ ริบทรัพย์สิน) ที่คดีถึงที่สุดแล้ว และผู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวข้องสามารถยื่นเรื่องราวทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ ผ่านเรือนจำ ทัณฑสถาน หรือ กระทรวงยุติธรรม หรือสำนักราชเลขาธิการ หรือกระทรวงการต่างประเทศ หรือสถานทูต 

หลังจากรับเรื่องแล้ว กรมราชทัณฑ์จะส่งเรื่องไปสอบสวนเรื่องราวยังเรือนจำทัณฑสถานที่ควบคุมผู้ต้องขัง จากนั้นจะเสนอความเห็นให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมลงนาม เพื่อนำความขึ้นกราบบังคมทูลเกล้าฯ ผ่านสำนักเลขาธิการ คณะรัฐมนตรีและสำนักราชเลขาธิการ เมื่อทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยเช่นไร ก็จะส่งผลฎีกาดังกล่าวให้กรมราชทัณฑ์ทราบ และพร้อมทั้งดำเนินการแจ้งผลให้ผู้ยื่นเรื่องราวทูลเกล้าฯ ทราบ

เมื่อพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานอภัยโทษ ตามที่ผู้ต้องโทษได้ยื่นเรื่องทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา ผลก็คือ ห้ามไม่ให้บังคับโทษนั้นแก่ผู้ต้องโทษ เช่น โทษจำคุกก็ให้เลิกการจำคุก โทษประหารชีวิตก็ให้ยกเลิกการประหารชีวิตและได้รับการลดโทษเป็น โทษจำคุกตลอดชีวิต เป็นต้น

ทั้งนี้ นักโทษเด็ดขาดมีสิทธิขอพระราชทานอภัยโทษ แต่ไม่ได้หมายความว่า จะได้รับพระราชทานอภัยโทษกันทุกคน

อ่านข่าวเพิ่ม : ศาลฎีกา ยืนประหาร “บรรยิน” ฆ่า “เสี่ยชูวงษ์”

นักโทษประหารชีวิต คดีสะเทือนขวัญ

"มิก หลงจิ" หรือ นายธีรศักดิ์ หลงจิ นักโทษในคดีฆ่าผู้อื่นอย่างทารุณโหดร้ายเพื่อชิงทรัพย์ เหตุการณ์ทางคดีเกิดขึ้นในวันที่ 17 ก.ค.2555 นายธีรศักดิ์ ใช้มีดแทง นายดนุเดช สุขมาก อายุ 17 ปี นายดนุเดช พยายามวิ่งหนีเข้าไปภายในสาธารณะสมเด็จพระศรีนครินทร์ 95 แต่นายธีรศักดิ์ยังวิ่งติดตามไปกระหน่ำแทง จนนายดนุเดชเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ จากนั้นนายธีรศักดิ์ เอากระเป๋าสตางค์ซึ่งมีเงินสดประมาณ 2,000 บาทและโทรศัพท์มือถือหลบหนีไป

หลังศาลฎีกามีคำพิพากษา นายธีรศักดิ์ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา ขอพระราชทานอภัยโทษ แต่ถูกยกฎีกาและได้รับโทษประหารชีวิต ในเดือน มิ.ย.2561 หลังจากที่ประเทศไทย ว่างเว้นการประหารชีวิตมานานถึง 9 ปี

"เกม" หรือ นายวันชัย เเสงขาว นักโทษคดีดัง สะเทือนขวัญชาวไทย ในปี 2557 นายวันชัย ข่มขืนเด็กหญิงอายุ 13 ปี เเล้วโยนลงจากหน้าต่างรถไฟ ขบวนที่ 174 ศาลฎีกาพิพากษาลงโทษประหารชีวิต แต่เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของรัชกาลที่ 10 ในปี 2562 นายวันชัย ได้รับการลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต จากการพระราชทานอภัยโทษ

"ผอ.กอล์ฟ" หรือ นายประสิทธิชัย เขาแก้ว เป็นนักโทษเด็ดขาดอีกคนที่ต้องโทษประหารชีวิต โดยศาลฎีกา มีคำพิพากษาไปเมื่อปี 2566 จากคดีก่อเหตุควงปืนบุกชิงทองคำจากร้านทองในห้างสรรพสินค้าเมืองลพบุรี ซึ่งมีประชาชนถูกยิงเสียชีวิต 3 คน บาดเจ็บสาหัสอีก 1 คน ในปี 2563 

"คุกบางขวาง" ดินแดนแห่งลมหายใจสุดท้าย

เรือนจำกลางบางขวาง หรือ เรือนจำมหันตโทษ เป็นเรือนจำที่ใช้คุมขังนักโทษคดีอุกฉกรรจ์ รวมถึง นักโทษเด็ดขาดประหารชีวิต เมื่อถึงวันที่ต้องรับโทษ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะเบิกตัวนักโทษจากแดนคุมขัง

หลังจากนั้นจะมีตำรวจเข้าพิมพ์ลายนิ้วมือและตรวจสอบกับแผ่นพิมพ์ลายนิ้วมือของนักโทษที่มีอยู่ในสำนวนและหมายศาล เพื่อความถูกต้องชัดเจนว่า เป็นบุคคลเดียวกันกับทะเบียนประวัติที่เก็บอยู่ในกองทะเบียนประวัติอาชญากร เพื่อไม่ให้มีการประหารผิดตัว

จากนั้นเจ้าหน้าที่จะให้นักโทษทำพิธีทางศาสนาเป็นครั้งสุดท้าย ในชั้นนี้หากนักโทษมีความประสงค์จะขอทำพินัยกรรมก็จะจัดการให้ รวมถึงจัดอาหารมื้อสุดท้ายให้ที่ตามต้องการ

การประหารชีวิต เจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่เพชฌฆาต จะฉีดยาเข้าที่บริเวณเส้นเลือดแขน รวม 3 เข็ม ยาเข็มแรกเป็นโซเดียมไทโอเพนทอล เพื่อให้นักโทษรู้สึกผ่อนคลายและหลับไปประมาณ 10 นาที จากนั้นเพชฌฆาต จะเดินยาเข็มที่ 2 คือ แพนคูโรเนียมโบรไมด์ และตามด้วยเข็มที่ 3 เป็นโพแทสเซียมคลอไรด์ จนหัวใจหยุดเต้น ขั้นตอนสุดท้ายคือ การชันสูตรศพ ของคณะกรรมการและพนักงานสอบสวนที่เดินทางมาเฝ้าสังเกตการณ์ เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการประหารชีวิต

อ่านข่าวอื่น : ประหาร "บรรยิน" ปิดฉากคดีฆาตกรรมอำพราง "เสี่ยชูวงษ์"

เปิดสถิตินักโทษประหารชีวิต

ข้อมูลสถิตินักโทษประหารชีวิตเดือนเมษายน 2567 จากเว็บไซต์กรมราชทัณฑ์ ที่มีการรายงานข้อมูลครั้งล่าสุด เมื่อ 25 มิถุนายน 2567 ระบุว่า มีคดีระหว่างพิจารณาอุทธรณ์ จำนวน 273 คน, คดีระหว่างพิจารณาฎีกา จำนวน 41 คน นักโทษเด็ดขาดเมื่อคดีถึงที่สุด จำนวน 59 คน

สำหรับโทษประหารชีวิต เป็นประเด็นที่มีภาคประชาชนและองค์กรเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน พยายามเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ยกเลิกมาโดยตลอด แต่ก็ยังไม่เป็นผล ขณะที่โทษประชีวิต ก็มีข้อยกเว้น คือ ห้ามลงโทษประหารชีวิตแก่บุคคลใดก็ตามที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ในขณะกระทำความผิด หรือหญิงมีครรภ์ หรือหญิงเพิ่งคลอดบุตรหรือบุคคลวิกลจริต

ประเทศไทย เป็น 1 ใน 53 ประเทศทั่วโลก ที่ยังมีโทษประหารชีวิต โดยในทางปฏิบัติ ไทยลงนามในปฏิญญาสากลว่า ด้วยสิทธิมนุษยชนให้ยกเลิกโทษประหารชีวิต โดยปริยายหากไม่มีการประหารชีวิตนักโทษจริง เป็นเวลาต่อเนื่อง 10 ปี

รายงานโดย: กิตติพร บุญอุ้ม ผู้สื่อข่าวอาชญากรรม

อ่านข่าวอื่น : 

ศาลสั่งประหาร "บรรยิน" คดีอุ้มฆ่าฯ สารภาพเหลือโทษ "คุกตลอดชีวิต"

ศาลอุทธรณ์ยืนประหาร “บรรยิน” คดีฆ่าเสี่ยชูวงษ์

กองปราบฯ สอบปากคำพยานในเรือนจำ คดีบรรยินวางแผนหลบหนี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง