ทำให้ข่าวการเมือง และความเคลื่อนไหวของนักการเมืองไทยหลายคน กลายเป็นข่าวเล็ก ผู้คนให้ความสนใจน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ทั้งที่อยู่ในช่วงประเด็นร้อนทางการเมืองมีมากมายในช่วงนี้ ไม่ว่าจะเรื่องเลือก สว.ที่คนค้างคาใจ เรื่องคดียุบพรรคก้าวไกล เรื่องนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน อยู่ระหว่างลุ้นการถูกยื่นสอยจากตำแหน่งของ 40 สว. หรือแม้แต่การเลือกตั้งนายก อบจ.ปทุมธานี
แม้ว่าส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการเมืองเอง มีส่วนทำให้คนไทยรู้สึกเบื่อหน่าย ไม่อยากใส่ใจอะไรมาก เพราะไป ๆ มา ๆ การเมืองไทยก็ยังวนเวียนอยู่กับความเห็นที่แตกต่างกัน ต่างฝ่ายมุ่งหวังเอาชนะคะคาน เพื่อแย่งชิงผลประโยชน์ และอำนาจ
โดยมีประชาชนเป็นเหยื่อที่ถูกอ้างอิงถึง กระทั่งเกิดเป็นช่องว่างระหว่างคนที่มีแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยม กับเสรีนิยมแบบคนรุ่นใหม่ ที่หวังจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลง
จึงได้เห็นลูกหลานไทยคนรุ่นใหม่ ใช้จังหวะโลกไร้พรมแดน เอาของดีของไทยหรือที่ปัจจุบันเรียกว่า "ซอฟต์พาวเวอร์" ไปขายชาวโลกเมื่อมีโอกาส อย่าง "น้องมิลลิ" ศิลปินไทย ที่เอาข้าวเหนียวมะม่วงไปโชว์บนเวทีเทศกาลดนตรีระดับโลกอย่าง Coachella 2022 (พ.ศ.2565) จนเกิดกระแสฮอตฮิตตามมาทันควัน
สำหรับน้องลิซ่า ก่อนหน้านี้ได้นำผ้าไทยไปสู่สายตาชาวโลก ตั้งแต่เพลง LALISA ซิงเกิลเปิดตัวผลงานเดี่ยวครั้งแรก ที่ได้ใส่มนต์เสน่ห์ความเป็นไทยเข้าไปใน MV ทั้งผ้าไหมยกดอกลำพูน และปราสาทหินพนมรุ้งจำลอง ที่เป็นฉากหลังของ MV
ก่อนที่จะมาตอกย้ำของดีของไทยอีกครั้ง ใน MV เพลงร็อกสตาร์ ที่ใช้ "เยาวราช" หรือที่ชาวต่างชาติรู้จักในนาม "ไชนาทาวน์เมืองไทย" เป็นสถานที่ถ่ายทำ แถมทีมแดนเซอร์ล้วนแต่เป็นคนไทย ส่งสัญญาณไม่ว่าจะในตอนนี้ หรือวันข้างหน้าต่อ ๆ ไป "เยาวราช" ได้กลายเป็นสถานที่ปักหมุดของนักท่องเที่ยวคนไทยและต่างชาติไปแล้ว
หมายถึงทั้งจำนวนนักท่องเที่ยว และเงินใช้จ่ายจากนักท่องเที่ยว จะไหลมาเทมามหาศาล ในช่วงสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศยังไม่สู้ดีนัก หลังเจอทั้งวิกฤติโควิด-19 และสงครามและการสู้รบรุนแรงทั้งในประเทศยูเครนและอิสราเอล
ถือเป็นผลพวงที่เกิดขึ้น และสัมผัสได้ทันที ชัดเจนจากการย้อนรอยสถานที่ถ่าย MV แตกต่างจากการรับบทเซลส์แมนของนายเศรษฐา ที่ยกคณะของไทยไปเดินโชว์เสื้อและสูทที่ตัดเย็บจากผ้าขาวม้าไทยถึงเมืองมิลาน ประเทศอิตาลี ซึ่งมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
โดยฝ่ายหลังเห็นว่า นายกฯ คือผู้บริหารประเทศ แต่การโปรโมตสินค้าเสื้อผ้าแฟชั่น เป็นหน้าที่ของคนดังอย่างดาราศิลปินและเน็ตไอดอล เพราะคนทั่วไป จะไม่แต่งตัวตามผู้นำประเทศ
ถือเป็นมุมมองที่อาจแตกต่างกันไป แต่ที่ปฏิเสธไม่ได้ คือการเดินสายทัวร์อีสาน 4 จังหวัดล่าสุดของนายเศรษฐา ภารกิจตรวจความพร้อมและประกาศนโยบาย "อีสานน้ำต้องไม่ท่วม ฝนต้องไม่แล้ง" รวมทั้งเรื่องแก้ปัญหายาเสพติดที่แพร่ระบาดอย่างหนักทั่วประเทศขณะนี้ที่ล้วนเป็นเรื่องสำคัญ แทบจะถูกกลบโดยกระแส MV ของลิซ่า
มิหนำซ้ำ ยังถูกโยงไปเปรียบเทียบกับภารกิจผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ของไทย ของ "อุ๊งอิ๊ง" น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ที่ประกาศตั้งเป้าซอฟต์พาวเวอร์สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศปีละ 4 ล้านล้านบาท
แต่เพียงแค่สวมใส่ชุดผ้าไหมอีสานขึ้นเวทีในงาน "THACCA - Soft Power Forum 2024" ก็เกิดดรามาถูกวิจารณ์แบบไม่ไว้หน้าว่า เอาผ้าขยะหรือพรมเช็ดเท้ามาทำ จนดีไซเนอร์ที่มุ่งหวังจะยกระดับผ้าไหมไทยอีสาน ต้องออกมาน้อมรับคำวิจารณ์เพื่อพัฒนาฝีมือต่อไป
กรณีเสียงวิจารณ์ครั้งนี้ อาจจะแรงเกินไปหากมองอย่างเป็นธรรมสำหรับทุกฝ่าย แต่สิ่งที่สะท้อนสอดแทรกอยู่ในทีอย่างหนึ่ง คือ หากคนไม่ชอบ หรือไม่เอา ใครทำอะไรจะโดนวิพากษ์วิจารณ์ไปเสียหมด ต่างจาก "ลิซ่า" ที่มีแต่เสียงชื่นชม
หากมองในเชิงบวก ถือได้ว่าประเทศไทยโชคดีที่มี "ลิซ่า" เป็น "ซอฟต์พาวเวอร์" โดยตัวเธอเองอยู่ด้วยเช่นกัน การทำอะไรจึงมีมรรคผลในเชิงบวกตามมา ขณะที่นักการเมืองไทยที่ติดอันดับ "100 ผู้ทรงอิทธิพลแห่งอนาคตของนิตยสารไทม์" นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พรรคก้าวไกล ให้ความเห็นเรื่องนี้ไว้น่าสนใจว่า
คนรุ่นใหม่อย่างลิซ่า รู้ว่าโลกต้องการอะไร แล้วค่อยทำย้อนกลับมา เป็น Outside in ไม่ได้เป็น Inside out แบบที่เคยนิยามและบังคับให้ทุกคนเสพความเป็นไทยตามที่ผู้มีอำนาจต้องการ
เท่ากับงานนี้ หากถอดบทเรียนจากกรณี "ลิซ่า" จะได้บทสรุปที่เป็นข้อเท็จจริงมากมาย โดยเฉพาะฝ่ายการเมือง ที่ต้อง "คิดนอกกรอบ" ตามกระแสเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลก
หาไม่แล้วจะตก "เทรนด์" ทำอะไรอาจถูกกลบลบเลือนอย่างที่เห็นและเป็นไป
วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา บรรณาธิการข่าวอาวุโส
อ่านข่าว : “วราวุธ” เยี่ยมบ้านมั่นคงโคราช จ่อผุดโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิต
เสนอ ป.ป.ช.ฟันสร้าง "ลู่วิ่ง-สนามกีฬาบ้านโตนด" ส่อทุจริต-ไม่เป็นไปตามแบบ
"บิ๊กแจ๊ส” ไม่ขอปิดตำนาน "มีวันเพราะพี่ให้" หลังพ่ายเลือกตั้ง