ความจริงอีกด้านของปัญหา “อุทยานฯ ทับลาน” #Saveทับลาน หรือ #Saveชาวบ้าน

สิ่งแวดล้อม
9 ก.ค. 67
10:01
34,852
Logo Thai PBS
ความจริงอีกด้านของปัญหา “อุทยานฯ ทับลาน” #Saveทับลาน หรือ #Saveชาวบ้าน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
หลังจากรัฐบาลเตรียมกันพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติทับลาน กว่า 2 แสนไร่ ออกมาเพื่อออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 ให้กับชาวบ้านที่ยังมีข้อขัดแย้งว่า บุกรุกที่อุทยานฯ หรืออุทยานฯ ประกาศทับที่ชาวบ้าน หรือไม่

ทำให้เกิดกระแสการคัดค้านกับนโยบายนี้อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวในสื่อสังคมออนไลน์ ที่มีการติดแฮชแท็ก #Saveทับลาน

วันนี้ (9 ก.ค.2567) นายกฤษฎา บุญชัย เลขาธิการสมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (สคส.) ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ ถึงกรณีที่เกิดขึ้นว่า ปัญหาการจัดการพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน เกิดความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชาวบ้านมานาน ตั้งแต่รัฐให้สัมปทานป่าไม้ โดยให้ชาวบ้านเป็นแรงงาน และส่งเสริมให้ปลูกพืชเชิงพาณิชย์

ต่อมารัฐบาลเปลี่ยนนโยบาย มีการเร่งรัดให้ประกาศเขตพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น โดยประกาศพื้นที่อุทยานแห่งชาติเพิ่มเติม ทำให้เขตอุทยานทับลาน ไปทับพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน โดยไม่มีการสำรวจในพื้นที่จริง ขณะเดียวกันรัฐก็รู้ว่านายทุนเริ่มบุกรุกและครอบครองที่ดิน แต่ด้วยผลประโยชน์จึงปล่อยปละละเลยมาเป็นเวลานาน

ท่ามกลางความไม่ชัดเจนในเรื่องขอบเขต ทำให้พื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ถูกหยิบยกมาเป็นเงื่อนไขทางการเมืองหลายครั้ง

เทคนิคที่ผู้มีอำนาจนิยมใช้ คือการโหมความหวาดกลัว ว่าป่านับแสนไร่จะถูกทำลาย โดยสังคมไม่รู้ว่าตรงนั้นเป็นป่าจริงหรือเปล่า หรือถ้าใช่ แค่ไหนที่เป็นป่า มันถูกทำลายเมื่อไหร่ ใครหรือปัจจัยอะไรที่ทำลาย และถ้าตรงนั้นไม่ใช่ป่าแล้ว เป็นที่ทำกินที่อยู่อาศัยแล้วประชาชนซึ่งรัฐเคยสนับสนุนให้อยู่ในป่าได้ ชีวิตเขาไม่ต้องวนอยู่กับวงจรอุบาทว์ของอำนาจแบบนี้ต่อไป หรือมีคำถามว่า ทำไมนายทุนจึงไม่เคยถูกขับไล่ออกจากพื้นที่ป่าแห่งนี้เลย

เลขาธิการสมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมามีรีสอร์ตเพิ่มขึ้น อยากถามว่า เจ้าหน้าที่ป่าไม้ เจ้าหน้าที่อุทยานฯ หายไปไหน หรือเพราะผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น ทำให้มองไม่เห็น พอมาวันนี้ไม่ใช่ Save ทับลาน อยู่ดี ๆ มองข้ามปัญหาของตัวเองไป

ตอนนี้ไม่มีใครบอกเลยว่า ชาวบ้านต้องทำยังไง และป่า 2 แสนกว่าไร่ ที่จะจัดการสภาพป่าเป็นอย่างไรบ้าง พื้นที่อนุรักษ์เข้มข้นอยู่ตรงไหน ซึ่งชาวบ้านกลายเป็นตัวประกันตลอดเวลา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้ นายกฤษฎายังให้เปิดเผยบทสัมภาษณ์ เมื่อวันที่ 5 มี.ค.2567 ที่เคยพูดคุยกับ นายโชคดี ปรโลกานนท์ อดีตเจ้าหน้าที่มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้ฟื้นผืนป่าเขาแผงม้า และรู้ที่มาที่ไปของป่าทับลานเป็นอย่างดี

อ่านข่าว : มูลนิธิสืบฯ ออกจดหมายปิดผนึก "ความในใจของคนทำงาน" ปมเพิกถอนป่าทับลาน

ที่มาปัญหา การซ้อนทับพื้นที่ป่า กับ สปก.ในเขตวังน้ำเขียว

นับตั้งแต่พระราชบัญญัติปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) ออกปี 2518 ผมมาอยู่วังน้ำเขียวปี 2526 หลังจากนั้นไม่นาน ปี 2528 สปก.เข้ามาออกเอกสารสิทธิชุดแรกที่ตำบลวังน้ำเขียว ตำบลวังหมี ปี ถ้าดูเจตนารมณ์ สปก.จะต้องได้รับพื้นที่จากกรมป่าไม้นอกเขตป่าอนุรักษ์ (เขาใหญ่) เช่น ป่าสงวนป่าเขาภูหลวง ในเขต อ.วังน้ำเขียว ถ้าดูพื้นที่ส่วนใหญ่ในอำเภอไม่มีปัญหา เพราะแนวเขตเขาใหญ่ชัดเจน มีหลักเขต มีการทำแนวเขตด้วยรั้วกระถิน มีการตัดถนนรำลอง สปก.ดำเนินการได้ตรงกับแผนงานที่วางไว้

พื้นที่ที่มีปัญหาซ้อนทับเขตป่าไม้ที่ดินใน อ.วังน้ำเขียว เริ่มต้นตั้งแต่สมัยรัฐบาลพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่ใช้นโยบาย 66/23 (ให้คนเข้าป่าไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์กลับมาเป็นผู้พัฒนาชาติไทย) มีการอพยพชาวบ้านในเขตมูลหลง มูลสามง่าม ซึ่งเป็นต้นแม่น้ำมูล ให้ออกมาตั้งเป็นหมู่บ้านไทยสามัคคี โดยจัดสรรที่ให้คนละ 10 ไร่

ผ่านไปเพียงปีเดียว มีการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ปี 2524 โดยการประกาศเขตในขณะนั้น ไม่ได้มีการสำรวจว่า มีชุมชนในพื้นที่ ผลก็คือประกาศเขตป่าทับพื้นที่ชุมชน ความขัดแย้งเรื่องพื้นที่ป่ากับที่ชุมชนก็เรื้อรังเป็นต้นมา

จนมาในปี พ.ศ.2543 หน่วยงานรัฐทั้งกรมป่าไม้ สปก. ฝ่ายปกครอง ชุมชนก็มาร่วมสำรวจจัดทำเขตพื้นที่ให้ชัดเจน โดยพื้นที่ที่ไม่ใช่ป่า กรมป่าไม้ก็ยกให้ สปก.เข้ามาจัดสรร ตามระเบียบเป็นพื้นที่ทำกินในเขตป่าสงวนฯ พื้นที่ส่วนใหญ่ก็จัดการชัดเจน แต่มีบางจุดที่มีคนภายนอกบุกรุกข้ามแนวเขตเข้ามา จนเมื่อสมัยที่คุณสุวิทย์ คุณกิตติ เป็น รมว.ทรัพยากรฯ ปี 2553 จึงได้ออกคำสั่งยกเลิกข้อตกลงกำหนดเขตพื้นที่ร่วมกันปี 2543 ทำให้หน่วยงานรัฐต้องกลับไปยึดถือเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ตามการประกาศปี 2524 ซึ่งก็ซ้อนทับพื้นที่ชุมชนหมู่บ้านไทยสามัคคีเหมือนเดิม

ความขัดแย้งในยุคต่อมา

หลังจากนั้นมายุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตั้งแต่ปี 2557 ที่ต่อมาพรรคพลังประชารัฐได้เป็นพรรครัฐบาล ก็มีหลายฝ่ายจับจ้องว่า นักการเมืองจะเอาพื้นที่ป่าแจกนายทุนหรือไม่

ด้วยความที่แผนที่แนวเขตที่ดินไม่ชัดเจนทั้งฝั่งกรมป่าไม้ และ สปก.โดยถือแผนที่คนละฉบับ กรมป่าไม้ก็ปล่อยปละละเลยให้เกิดการบุกรุกแผ้วถาง ในบางพื้นที่ สปก.ออกเอกสารสิทธิโดยไม่คำนึงว่าเป็นพื้นที่ป่า หรือปล่อยให้คนถือครองจำนวนที่ดินเกินเกณฑ์ ด้วยความไม่ชัดเจน และการปล่อยปละละเลยทำให้ความขัดแย้งเรื่องเขตพื้นที่ป่าและที่ดินในอำเภอวังน้ำเขียวเรื้อรังตลอดมา

ผมทำงานกับมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งประเทศไทยฯ ได้เข้ามาทำงานกับชุมชนที่ถูกอพยพจากนโยบาย 66/23 โดยไปส่งเสริมชุมชนดูแลป่า และมาเริ่มโครงการปลูกป่าเขาแผงไม้ ที่เริ่มฟื้นพื้นที่ป่า 5,000 ไร่ มูลนิธิฯ ปลูกป่าเขาแผงม้า โซนซี ใน 11,250 ไร่ แต่มูลนิธิฯ ปลูกได้ 5,000 ไร่ ปี 2537 จนถึงปี 2550ได้ 7,000 ไร่ กรมป่าไม้ก็ไม่ได้ปกป้องดูแล มีคนบุกรุกจับจองซื้อขาย มันสะท้อนการไม่ดำเนินงานต่อเนื่องของกรมป่าไม้ เวลาส่งมอบพื้นที่ให้ สปก.ก็ใช้แผนที่คนละฉบับ

ก่อนหน้าปัจจุบัน ปัญหาแนวเขตป่าไม้ที่ดินที่ทับลานฯก็ปะทุอีกรอบ โดยกรมป่าไม้จับรีสอร์ตบุกรุกป่า แต่มีรายเดียวที่ยอมรับกับศาลว่าผิด เพื่อที่จะได้ผ่อนปรนขอสิทธิเช่าพื้นที่ แต่พื้นที่อุทยานฯ เช่าไม่ได้อยู่แล้ว ศาลจึงสั่งให้รื้อถอน ซึ่งอดีตอธิบดีกรมอุทยานฯ (แยกออกจากกรมป่าไม้มาดูแลพื้นที่ป่าอนุรักษ์) ก็ได้ไปทุบรีสอร์ตโชว์สื่อมวลชนเพื่อแสดงทางการเมือง

ทำไมปัญหาเขตป่าไม้ที่ดินอำเภอวังน้ำเขียวจึงเป็นพื้นที่การเมืองมาตลอด

เพราะพื้นที่ไหนที่มีความคลุมเครือไม่ชัดเจนเรื่องเขตป่าไม้ที่ดินอย่างอำเภอวังน้ำเขียว ก็กลายเป็นพื้นที่แสวงประโยชน์ มีการเรียกค่าใช้จ่ายแก้ปัญหากับคนที่ครอบครองพื้นที่ เมื่อปัญหาพื้นฐานเดิมคือแนวเขตไม่ชัดเจน ไม่ลงตัว หน่วยงานรัฐถือแผนที่คนละฉบับ ประกอบกับการปล่อยปละละเลยของหน่วยงานรัฐทุกฝ่าย เลยทำให้ปัญหาดังกล่าวปะทุขึ้น และถูกหยิบฉวยมาเป็นประเด็นการเมือง

พื้นที่เปราะบางอย่างวังน้ำเขียว ที่มีปัญหาความไม่ชัดเจนของพื้นที่ป่า สปก.ก็เป็นช่องทางทำมาหากิน มีการเรี่ยรายเงิน เรียกค่าส่วยกับผู้ถือครองที่ดิน

ทั้งหมดสะท้อนความไม่ลงตัวการจัดสรรที่ดิน ตั้งแต่ยุคการออก สปก.ที่ภูเก็ต ที่กลายเป็นประเด็นการเมืองจนล้มรัฐบาลในขณะนั้น ประเด็นการทับซ้อนระหว่างเขตป่าไม้กับ สปก.จึงพร้อมจะเป็นประเด็นการเมืองขึ้นมาได้ตลอด

แล้วชาวบ้านในพื้นที่เดือดร้อนหรือไม่

ชาวบ้านในพื้นที่ไม่ได้รับผลกระทบ เขาไม่ได้ตื่นเต้น เขาเฉย ๆ เขาเห็นเป็นเกมส์การเมือง เพราะความขัดแย้งทั้งหมดเป็นเรื่องอำนาจของหน่วยงานรัฐ ซึ่งไม่ได้มุ่งแก้ปัญหาทั้งการอนุรักษ์ป่า และการรับรองสิทธิในที่ดินของชาวบ้านอย่างจริงจัง แม้แต่นโยบายเปลี่ยน สปก.เป็นโฉนด เขาก็ไม่ตื่นเต้นเพราะรู้ว่าไม่ใช่โฉนดจริง

อ่านข่าว : "ทับลาน" มรดกโลก อุทยานแห่งชาติผืนป่าอีสานที่ใหญ่ที่สุด

รอสรุป 1 เดือน ส่งบอร์ดอุทยานฯ ชี้ขาดปมเพิกถอน "ป่าทับลาน" 2.6 แสนไร่

จับตา! เฉือนป่าทับลาน 2.6 แสนไร่แก้ปัญหาที่ดินเพื่อใคร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง