ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

มูลนิธิสืบฯ ออกจดหมายปิดผนึก "ความในใจของคนทำงาน" ปมเพิกถอนป่าทับลาน

สิ่งแวดล้อม
9 ก.ค. 67
10:40
1,782
Logo Thai PBS
มูลนิธิสืบฯ ออกจดหมายปิดผนึก "ความในใจของคนทำงาน" ปมเพิกถอนป่าทับลาน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

วันที่ 8 ก.ค.2567 มูลนิธิสืบนาคะเสถียร เผยแพร่จดหมายปิดผนึกกรณีป่าทับลาน ความในใจของคนทำงานต่อการเพิกถอนพื้นที่ป่าอนุรักษ์กว่า 265,000 ไร่ โดยมีรายละเอียดว่า

ความเป็นมาปัญหาที่ดิน "ทับลาน"

ปัญหาการมีราษฎรอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ หรือพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติมีมาเนิ่นนาน แต่ไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงที ณ เวลานั้นโดยหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น หน่วยงานที่นำพาราษฎรมาอยู่โดยอ้างถึงความมั่นคงของประเทศ เพราะเป็นการแก้ไขปัญหาผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผกค.) ซึ่งก็หนีไม่พ้นหน่วยงานทหาร

ส่วนหน่วยงานที่รับผิดชอบพื้นที่ป่าสงวน หรือป่าอนุรักษ์ ณ ขณะนั้น ก็หนีไม่พ้นกรมป่าไม้ หรือในปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็นกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รวมไปถึงหน่วยงานของฝ่ายปกครอง ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ซึ่งต้องควบคุมดูแลความเรียบร้อย ความเป็นอยู่ของราษฎรให้เป็นไปตามกฎหมายทุกฉบับ โดยต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ของตน แต่ไม่มีการปรึกษาหารือกันเพื่อให้มีการปรับแก้แนวเขตป่าสงวนแห่งชาติ หรือเขตป่าอนุรักษ์ให้เป็นไปตามสภาพความเป็นจริงในขณะนั้น

กล่าวคือถ้าตัดสินใจว่าคนที่เข้ามาอยู่ในเขตป่าตามกฎหมายมีความผิด ก็ต้องดำเนินคดีแล้วผลักดันออก แต่หากพิจารณาจะให้คนอยู่ทำกินในบริเวณนั้นก็จะต้องเพิกถอนสภาพความเป็นป่าไม้ตามกฎหมายออกไปเสีย แต่กลับปล่อยให้เวลายืดยาวมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งในระหว่างช่วงเวลานี้เอง ก็เกิดปรากฏการณ์การซื้อขายเปลี่ยนตัวผู้ครอบครองที่ดิน โดยส่วนใหญ่คนที่มาถือครองแทนเป็นคนมีฐานะ มีความรู้ แต่ก็ยังใช้ความละโมบโลภมากเข้ามายึดถือครอบครองแทนคนที่อยู่ดั้งเดิม จนเป็นที่ประจักษ์ของคนส่วนรวมทั้งประเทศ และต่างประเทศ

อุทยานแห่งชาติทับลาน เป็นตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนกับปัญหาเรื่องนี้

จริงๆ แล้วหน่วยงานราชการโดยเฉพาะเดิมที่เป็นกรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้พยายามหาวิธีการแก้ไขปัญหานี้มาโดยตลอด โดยเฉพาะการผลักดันให้มีมติ ครม. 30 มิถุนายน 2541 เพื่อใช้แนวทางทั้งประเทศให้ราษฎรที่อาศัยทำกินในเขตป่าตามกฎหมายต้องถูกดำเนินคดีในระหว่างที่มีการตรวจพิสูจน์ว่าราษฎรเข้ามาอาศัยทำกินอยู่ก่อนการประกาศเขตป่าตามกฎหมายหรือไม่

มาจนถึงปัจจุบันก็ปรับเปลี่ยนหน้าตาไปเป็นการแก้กฎหมายที่ควบคุมดูแลพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ทั้งอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เมื่อปี พ.ศ.2562 มาตรา 64 ของกฎหมายอุทยานแห่งชาติ หรือมาตรา 121 ของกฎหมายสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า เพื่อให้ราษฎรได้อาศัยทำกินอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ถึงแม้ว่าจะยังไม่ใช่เป็นการให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้น ๆ แก่ราษฎร แต่ก็เริ่มมีแนวทางมีอนาคตที่สดใสรออยู่ในภายภาคหน้า กล่าวคือเป็นวิธีการคัดกรองเพื่อให้ประโยชน์ตกให้แก่ราษฎรที่ขาดแคลนพื้นที่อยู่อาศัยทำกินที่แท้จริงก่อน

ภายหลังจากนั้นก็จะมีการพิจารณาให้สิทธิ ผลประโยชน์ ตลอดจนกรรมสิทธิ์ในที่ดินในอนาคตก็เป็นได้ หากราษฎรเหล่านั้นอยู่อาศัยทำกินในพื้นที่ป่าอนุรักษ์หรือป่าสงวนแห่งชาติแบบเกื้อหนุนธรรมชาติอย่างยั่งยืน ซึ่งแนวทางที่ว่านี้ก็เป็นแนวทางที่คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ หรือ คทช. ได้กำหนดไว้โดยถือให้เป็นแนวทางที่ต้องใช้ทั้งประเทศเหมือนกันหมด

ตั้งคำถามเพิกถอนป่าอนุรักษ์ให้ ส.ป.ก.ดูแล

แต่ด้วยเหตุผลกลใดไม่ทราบจึงทำให้ คทช. ถึงมีมติให้ใช้แนวเขตที่สำรวจ ว่ามีราษฎรรุกเขตป่าตามกฎหมายเข้าไปเท่าไหร่ให้เป็นแนวเขตที่จะใช้แก้ปัญหาโดยการยกพื้นที่หลังแนวเขตนั้นไปให้ ส.ป.ก. ดูแลแทนอุทยานแห่งชาติ โดยกำหนดบังคับให้ใช้เป็นแนว One Map ซึ่งก็หมายความว่าให้กรมอุทยานฯ ไปจัดการยกเลิกเพิกถอนพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เพื่อให้ไปเป็นพื้นที่ ส.ป.ก. ซะเลย โดยรีบเร่งเสนอมติให้ผ่านคณะกรรมการ คทช. เมื่อวันที่ 10 มี.ค.2566 แล้วรีบเร่งส่ง “ด่วนที่สุด” ต่อไปให้ผ่านที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 14 มี.ค.2566 ซึ่งเป็นการประชุม ครม.ครั้งสุดท้ายของรัฐบาลที่แล้ว

จึงมีข้อสงสัยว่า การแก้ปัญหาอื่นใช้เวลานานมากกว่าจะนำเข้าพิจารณาอย่างถ้วนถี่ในการประชุม ครม. แต่นี่ใช้เวลาเพียง 4 วันนำเข้าไปประชุมในห้องที่ไม่รู้ว่าจะมีรัฐมนตรีเข้าประชุมกันสักกี่คน เพราะช่วงนั้นเป็นช่วงเตรียมตัวหาเสียงเพื่อการลงเลือกตั้งครั้งใหม่

“ความเห็นของผู้เขียนในฐานะที่เป็นคนไทย อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ และกฎหมายของคนส่วนรวมทั้งประเทศ ไม่เห็นด้วยที่จะยกที่ดินป่าอนุรักษ์ไปให้ ส.ป.ก.ดูแล เพราะเป็นช่องทางที่นายทุนจะใช้เป็นกระบวนการในการครอบครองที่ดินของคนทั้งประเทศได้แน่นอนในอนาคต”

ส.ป.ก.ไม่ใช่ทางออกที่ดีที่จะใช้แก้ปัญหาราษฎรอยู่ในพื้นที่ป่า โดยเฉพาะป่าอนุรักษ์ เพราะไม่ใช่การเกิดขึ้นของกฎหมาย ส.ป.ก.รึที่เป็นต้นเหตุให้ต้องรีบเร่งประกาศป่าอนุรักษ์ รวมถึงอุทยานแห่งชาติทับลาน ภายหลังที่เกิดกฎหมาย ส.ป.ก. เมื่อปี 2518 จนเป็นเหตุให้ผู้คนพากันเข้ามาครอบครองป่าสงวนแห่งชาติเพื่อที่จะได้เอาไปเป็นเหตุผลในการเรียกร้องให้ออกเอกสาร ส.ป.ก. ในที่ป่าสงวนแห่งชาติเสื่อมโทรมดังกล่าว

วังน้ำเขียวเต็มไปด้วย “นอมินี”

หาก คทช. ไปถามราษฎรที่อยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติหรืออุทยานแห่งชาติ ราษฎรเหล่านั้นย่อมต้องเลือกที่จะขออยู่ในการกำกับดูแลของ ส.ป.ก. เพราะน้อยครั้งมากที่จะมีการตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายดำเนินคดีกับคนที่ผิดเงื่อนไขของ ส.ป.ก. โดยอ้างว่ามีเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ แต่ต่างกันกับการอยู่ภายใต้การดูแลของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติที่ต้องคอยควบคุมดูแลให้เป็นไปตามเงื่อนไขไม่ให้มีการซื้อขายเปลี่ยนมือหรือผิดระเบียบซึ่งเป็นการควบคุมดูแลแทนประชาชนของทั้งประเทศ เมื่อมีการกระทำผิดก็มีโทษทางอาญาต่างจากการอยู่ในการควบคุมดูแลของ ส.ป.ก. ที่เมื่อพบว่าผิดเงื่อนไขแล้วอย่างมากก็มีการยึดคืนแล้วนำไปจัดให้รายอื่นมาใช้ประโยชน์แทน เชื่อได้เลยว่าป่านนี้ท้องที่อำเภอวังน้ำเขียวเต็มไปด้วยคนที่ชื่อ “นอมินี” เต็มไปหมดแล้ว

ตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใด คทช. ไม่ใช้มาตรา 64 ซึ่งจะสามารถควบคุมและส่งเสริมการอยู่อาศัยของราษฎรให้เกื้อหนุนกับการอนุรักษ์ป่าไม้ที่รักษาสมดุลของธรรมชาติไว้ได้ ส่วนเรื่องกรรมสิทธิ์ในที่ดินก็อาจใช้เงื่อนไขของระยะเวลามากำหนดไว้ ดังนั้นในอนาคตก็อาจจะเพิกถอนความเป็นป่าอนุรักษ์ให้ราษฎรจริง ๆ ได้ หากราษฎรเหล่านั้นอยู่และอาศัยโดยเป็นไปตามเงื่อนไขและได้ผลประโยชน์ร่วมกันกับการอนุรักษ์ทรัพยากรแล้ว แต่กลับแก้ปัญหาโดยยกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ไปให้หน่วยงาน ส.ป.ก. ดูแล หักล้างข้อกำหนดที่ระบุไว้ตามมติ ครม. เมื่อ 30 มิถุนายน 2541 ที่ใช้เป็นแนวทางปฏิบัติกันมาตลอดเสียอย่างนั้น

อีกทั้งปรับคำโดยไม่ใช้การเสนอให้เพิกถอนพื้นที่ป่าอนุรักษ์โดยตรง เพราะจะต้องไปเจอด่านสำคัญคือการพิจารณาของคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ที่มีนักวิชาการ นักอนุรักษ์ นักกฎหมายระดับประเทศ ร่วมพิจารณาให้ความเห็น และไหนจะต้องเจอความเห็นของประชาชนทั่วไปโดยเฉพาะฝ่ายที่เป็นนักอนุรักษ์ที่ต้องการเพิ่มพื้นที่ป่า แก้ไขปัญหาสภาพพูมิอากาศของโลกที่เลวร้ายไปทุกที

ใช้กลยุทธ์ทาง One Map

แต่กลับอ้อมไปใช้กลยุทธ์ทาง One Map ซึ่งก็ไม่ใช่แนวทาง One Map ที่ได้กำหนดไว้ตั้งแต่ปี 2558 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณา One Map ของ คทช. ขึ้นมาอีกชุด และเป็นที่น่าสงสัยอยู่เหมือนกันว่าในคณะอนุกรรมการดังกล่าวนั้น ไม่มีผู้บริหารหรือคนของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรมอุทยานฯ ที่ช่วยพิจารณากลั่นกรองเพื่อดูแลรักษาทรัพยากรป่าไม้เลยต้องพังครืนลงไป

ที่บอกว่าพังครืนเพราะมันจะต้องเป็นแนวทางที่ถูกนำไปพิจารณาใช้กับการเพิกถอนยึดเอาพื้นที่ป่าอนุรักษ์แห่งอื่นไปไว้ในมือผู้คนซึ่งก็หนีไม่พ้นพวกนายทุน ถึงแม้จะระบุเอาไว้ว่าห้ามใช้แนวทางนี้กับพื้นที่อนุรักษ์อื่น ๆ แต่เชื่อได้เลยว่าผู้คนในที่อื่นก็จะเรียกร้องว่าตนก็เป็นคนไทย มีสิทธิตามรัฐธรรมนูญเหมือนคนที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติทับลานเหมือนกัน ท่านจะตอบเขาว่าอย่างไร

ไม่มีประเทศที่ต้องการความเจริญไหนหรอกที่ปล่อยให้มีการแก้ปัญหาแบบผิดหลักการ ผิดกฎหมาย แล้วบอกว่าห้ามใช้เป็นตัวอย่างกับที่อื่น ๆ มีแต่ต้องทำให้ดีที่สุดแล้วใช้เป็นรูปแบบ เป็นแนวทางปฏิบัติกับทั้งประเทศอย่างเท่าเทียมกัน และก็คงจะเป็นต้นเหตุให้ถูกปลดออกจากการเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ซึ่งจริง ๆ แล้วการลดพื้นที่ป่าอนุรักษ์ก็อาจจะชี้แจงคณะกรรมการมรดกโลกได้ แต่คงปกปิดไม่ได้ว่าประเทศไทยเลือกใช้วิธีการที่ไม่ถูกต้องตามหลักการของกฎหมายเพื่อจะธำรงไว้ซึ่งการรักษาพื้นที่สีเขียวตามนโยบายของรัฐบาลที่กล่าวไว้ ทั้งที่มีวิธีการอยู่แล้ว ซึ่งผู้นำรัฐบาลทั้งหลายก็มักให้นโยบายอยู่เสมอว่าเราต้องต่อสู้เพื่อไม่ให้ถูกปลดออกจากการเป็นมรดกโลกเพราะจะทำให้ประเทศชาติเสื่อมเสียชื่อเสียงหรือเสียเครดิต

อ่านข่าว : จับตา! เฉือนป่าทับลาน 2.6 แสนไร่แก้ปัญหาที่ดินเพื่อใคร 

7 ข้อค้านเพิกถอน "ป่าทับลาน" 2.6 แสนไร่ห่วงเปลี่ยนมือ 

เปิดเบื้องหลังเฉือนป่าทับลาน 2.6 แสนไร่ ใครได้ประโยชน์ 

รอสรุป 1 เดือน ส่งบอร์ดอุทยานฯ ชี้ขาดปมเพิกถอน "ป่าทับลาน" 2.6 แสนไร่ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง