"ภูเก็ต" ความเจริญขวางทางน้ำ ในวันที่ "ผังเมือง" ไม่ตอบโจทย์

ภัยพิบัติ
10 ก.ค. 67
10:20
1,179
Logo Thai PBS
แชร์

"ภูเก็ต" ความเจริญขวางทางน้ำ ในวันที่ "ผังเมือง" ไม่ตอบโจทย์

https://www.thaipbsbeta.com/news/content/341888

"ภูเก็ต"  ความเจริญขวางทางน้ำ ในวันที่ "ผังเมือง" ไม่ตอบโจทย์
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

เหตุน้ำท่วมใน จ.ภูเก็ต จากฝนที่ตกลงมาอย่างหนักเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2567 นอกจากจะสร้างความเสียหายกับประชาชนกว่า 740 ครัวเรือน ใน อ.ถลาง และ อ.กระทู้ แล้ว ... ยังอาจจะถือเป็นการส่งสัญญาณเตือนครั้งใหญ่ไปยังชาวภูเก็ตว่า เหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันนี้ อาจเกิดขึ้นได้อีกต่อไป ถ้ายังไม่วิเคราะห์ปัญหาและเร่งแก้ไขให้ถูกจุด

ทั้งที่ภูเก็ตเป็นเกาะ ถูกล้อมรอบด้วยทะเล สภาพภูมิประเทศมีลักษณะเป็นพื้นที่ลาดชันจากภูเขาลงสู่ทะเล...ควรจะระบายน้ำได้เร็ว...แต่กลับถูกน้ำท่วมหนักแทบทุกครั้งที่มีฝนตกหนักในรอบ 3-4 ปีที่ผ่านมา...จนกลายเป็นคำถามใหญ่ว่า "เกิดอะไรขึ้นกับภูเก็ต" เมืองท่องเที่ยวอันดับต้นๆของไทย

"ความเจริญขวางทางน้ำ" และ "ฝน เปลี่ยนไป" เป็นหนึ่งในสาเหตุหลัก ที่นักวิชาการด้านการบริหารจัดการน้ำ และองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานในพื้นที่ภูเก็ตมาอย่างยาวนาน ให้ความเห็นตรงกัน

สภาพอากาศเปลี่ยน ฝนหนักขึ้น ตกแช่จุดเดิม-ทางระบายน้ำเหลือน้อยลง

"30 มิถุนายน 2567 ฝนตกที่ภูเก็ตหนักมาก"

วรรธนศักดิ์ สุปะกิ่ง ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและสารสนเทศทรัพยากรน้ำ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) เปิดเผยตัวเลขปริมาณน้ำฝนรายชั่วโมง ในช่วงเช้าวันที่ 30 มิถุนายน 2567 ที่ จ.ภูเก็ต จากสถานีโทรมาตรอัตโนมัติ ของ สสน. ที่อ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ โดยระบุว่า มีฝนตกหนักมากต่อเนื่องติดกันเป็นช่วงเวลาถึง 4 ชั่วโมง

"ปริมาณฝนที่ทำให้น้ำท่วมภูเก็ตเช้าวันที่ 30 มิ.ย.67 เป็นฝนที่ตกหนักมากๆ โดยฝนตกมีความเข้มสูงมากต่อเนื่องติดกันถึง 4 ชั่วโมง ตั้งแต่ 6.00-9.00 น. โดยเฉพาะในช่วงเวลา 6.00 น. มีปริ มาณฝนต่อชั่วโมงสูงถึง 94.4 มิลมิเมตร และในช่วง 8.00น. ยังมีปริมาณน้ำฝนต่อชั่วโมงสูงสุดไปถึง 96.8 มิลลิเมตร ซึ่งหมายความว่า มีช่วงที่ฝนตกหนักมากซ้ำลงมา ณ จุดเดิม ถึง 2 ช่วงในเวลาใกล้เคียงกันมาก และเมื่อดูปริมาณฝนตกสะสมภายใน 4 ชั่วโมงนี้ (6.00-9.00น.) พบว่า มีปริมาณฝนรวมกว่า 320 มม. ปริมาณฝนขนาดนี้ตกที่ไหนก็น้ำท่วมน้ำหลาก โดยเฉพาะในพื้นที่ที่สร้างเมืองสร้างความเจริญขวางทางน้ำอย่าง กมลา บางเทา ป่าตอง ที่ทางระบายน้ำเหลือแค่รูเล็กๆ เท่านั้น"

วรรธนศักดิ์ สุปะกิ่ง ผอ.ฝ่ายส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและสารสนเทศทรัพยากรน้ำ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ

วรรธนศักดิ์ สุปะกิ่ง ผอ.ฝ่ายส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและสารสนเทศทรัพยากรน้ำ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ

วรรธนศักดิ์ สุปะกิ่ง ผอ.ฝ่ายส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและสารสนเทศทรัพยากรน้ำ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ

วรรธนศักดิ์ บอกว่า ปริมาณน้ำฝนต่อชั่วโมงเกินกว่า 90 มิลลิเมตร ถือว่า ฝนตกหนักมาก โดยสถิติปริมาณน้ำฝนต่อชั่วโมงสูงที่สุดของประเทศไทย คือ 120 มิลลิเมตร ก็เกิดขึ้นที่ จ.ภูเก็ตเช่นกัน ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ว่า สภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) อาจส่งผลทำให้เกิดรูปแบบของฝนตกหนัก และตกแช่อยู่ในจุดเดิมได้บ่อยมากขึ้น ในพื้นที่จังหวัดฝั่งทะเลอันดามันของไทย โดยเฉพาะ ภูเก็ตที่มีภูมิประเทศเป็นเกาะ ดังนั้นการเปลี่ยนรูปแบบของฝน จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ควรให้ความสำคัญ เพื่อนำมาวางแผนรับมืออุทกภัยที่จะเกิดขึ้นอีกแน่ ๆ โดยเฉพาะเมื่อเส้นทางระบายน้ำมีปัญหา

ส่วนข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งกีดขวางทางระบายน้ำที่อาจมาจากการพัฒนาเมือง วรรธนศักดิ์ ย้ำว่า ยังเป็นเพียงการวิเคราะห์คร่าวๆจากสภาพผังเมืองที่เห็นกว้างๆ แต่ก็ช่วยทำให้เห็นภาพได้ว่า ทาง จ.ภูเก็ต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาจมีความจำเป็นที่จะต้องนำผังเมืองในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมจุดต่างๆมาเข้าสู่กระบวนการวิเคราะห์กันอย่างจริงจัง ก่อนที่จะแก้ปัญหาได้ยากไปกว่านี้

"ควรจะต้องทำการวิเคราะห์ไล่ลงมาตั้งแต่สภาพพื้นที่บนภูเขา พื้นที่ลาดชัน ว่ามีความเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดน้ำหลากมากขึ้นหรือไม่ ไล่ลงมาถึงในเขตชุมชนว่ามีการก่อสร้างเพิ่มขึ้นมากีดขวางทางน้ำหรือไม่ ทางระบายน้ำหายไป แคบ หรือ ตื้นเขินขึ้นหรือไม่ ไล่ไปจนถึงทางออกสู่ทะเล"

สิ่งที่ต้องวิเคราะห์คู่ไปด้วย คือ ระบบการระบายน้ำของภูเก็ตถูกออกแบบไว้อย่างไร เพราะการเป็นพื้นที่เกาะและมีความลาดชัน มีภาพจำ ว่า เป็นเมืองที่ระบายน้ำได้ง่าย อาจส่งผลต่อการให้ความสำคัญ ของการวางระบบระบายน้ำในอดีต และอาจทำให้คำนวณศักยภาพในการรองรับน้ำได้ยากขึ้น

วรรธนศักดิ์ ยกตัวอย่าง พื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเมืองที่มีศักยภาพในการรองรับปริมาณน้ำฝนต่อชั่วโมงได้สูงที่สุด คือ 60 มิลลิเมตรเท่านั้น ซึ่งคำนวณได้ เพราะต้องอาศัยการระบายน้ำผ่านระบบระบายน้ำเท่านั้น

"กทม. มีลักษณะแบนราบคล้ายกระดาน เมื่อฝนตกลงมา น้ำจะกระจายออกเป็นวงกว้างและรอให้น้ำไหลลงสู่ระบบท่อ แต่ถ้าจำเป็นจะต้องเร่งระบายน้ำใน กทม. ซึ่งแบนราบ ต้องใช้วิธีการสูบน้ำจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง ต่อกันไปเรื่อยๆ โดยเครื่องสูบน้ำมีศักยภาพสูบได้ทันในกรณีที่ฝนตกไม่เกินชั่วโมงละ 60 มิลลิเมตร ดังนั้น จึงบอกได้ว่า กทม.มีศักยภาพระบายน้ำได้เท่านี้ ...แต่ที่ จ.ภูเก็ต ยังจำ เป็นต้องมีข้อมูลมากกว่านี้ เพื่อนำมาคำนวณหาศักยภาพในการระบายน้ำ"

ผอ.ฝ่ายส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและสารสนเทศทรัพยากรน้ำ ย้ำว่า แม้การแก้ปัญหาการระบายน้ำของ จ.ภูเก็ต จะดูเหมือนเป็นเรื่องเร่งด่วน เพราะเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศ แต่การจะแก้ปัญหาให้ถูกจุด จำเป็นต้องนำข้อมูลและข้อเท็จจริงมาวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ และต้องระวังด้วยว่า การแก้ปัญหาที่จุดหนึ่ง อาจไปสร้างปัญหาใหม่ตามขึ้นมาอีก พร้อมยกตัวอย่างการขุดคลองระบายน้ำขนาดใหญ่ที่ อ.เมือง จ.พัทลุง ซึ่งเป็นคลองที่ทั้งกว้างและลึก แม้จะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมในช่วงฤดูน้ำหลากได้จริง แต่กลับไปสร้างปัญหาอย่างใหญ่หลวงในฤดูแล้ง เพราะความกว้างและลึกของคลองทำให้ไปดึงน้ำใต้ดินให้ไหลลงมาที่คลองจนน้ำแห้งหมด กลายเป็นปัญหาภัยแล้ง

ผังเมืองรวมไม่ตอบโจทย์ เสนอใช้"เฉพาะพื้นที่"

พื้นที่ 6 หมู่บ้าน ใน ต.กมลา อ.กระทู้ เป็นหนึ่งในพื้นที่ประสบภัยอย่างหนัก เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2567 มีรายงานว่าผู้ประสบภัยประมาณ 50 ครัวเรือน

"หมู่บ้านในกมลา เป็นหมู่บ้านที่อยู่กลางหุบเขา ตั้งอยู่ตรงกลางระหว่างภูเขากับทะเล และระหว่างทางที่น้ำไหลลงมาจากภูเขา ก็มีโครงการก่อสร้างใหม่ๆเกิดขึ้นมากมาย ทั้งบ้านจัดสรร โรงแรม อาคารพาณิชย์ ซึ่งพื้นที่ก่อสร้างเหล่านี้ ล้วนแต่เคยเป็นที่นา สวนมะพร้าว เป็นขุมเหมืองเก่า หรือเรียกได้ว่าเป็นพื้นที่รองรับน้ำมาก่อน เมื่อถูกถมไปก่อสร้าง ก็ทำให้ทางระบายน้ำหายไป เกิดน้ำท่วมหนักขึ้น ทั้งที่จากภูเขาลงมาถึงทะเล มีระยะทางเพียง 7 กิโลเมตรเท่านั้น"

ธนู แนบเนียร ผอ.องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR)

ธนู แนบเนียร ผอ.องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR)

ธนู แนบเนียร ผอ.องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR)

ธนู แนบเนียร ผู้อำนวยการองค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) ซึ่งเป็นชาว จ.ภูเก็ต และทำงานในพื้นที่ภูเก็ตมาหลายสิบปี ให้ข้อมูลสำคัญในพื้นที่ ต.กมลา เพื่อยืนยันสมมติฐานของผอ.ฝ่ายส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและสารสนเทศทรัพยากรน้ำ(สสน.) คือ

มีสิ่งปลูกสร้างเกิดขึ้นใหม่ จำนวนมาก ที่ไปกีดขวางหรือแทนที่พื้นที่เดิม ที่เคยเป็นพื้นที่รับน้ำหรือทางระบายน้ำ และกลายเป็นสาเหตุให้ภูเก็ตประสบปัญหาน้ำท่วมบ่อยขึ้นในช่วง 3-4 ปี ที่ผ่านมา

"พื้นที่แบบนี้ส่วนใหญ่จะเกิดทั้งปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง มีทั้งกมลา ป่าตอง ซึ่งเป็นชุมชนตั้งอยู่ในหุบเขาเหมือนกัน ยังมีพื้นที่อื่นที่น้ำท่วมบ่อย คือ ชุมชนบางเทา ชุมชนไม้ขาว (ใกล้สนามบิน) ทั้งหมดล้วนแต่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ที่มีข้อมูล ว่า มีการซื้อที่ดินไว้ หลายแปลง เพื่อเก็งกำไร และระหว่างนี้ ก็ถูกพัฒนาเป็นอสังหาริมทรัพย์ไปก่อน แม้ว่าภูเก็ตจะยังไม่มีความต้องการที่พักเพิ่มมากขึ้นก็ตาม จริงๆมันโอเวอร์ซัพพลายด้วยซ้ำ"

ผอ.องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน ยืนยันว่า หน่วยงานและองค์กรต่างๆใน จ.ภูเก็ต ต่างก็รับรู้ถึงปัญหานี้กันมาระยะหนึ่งแล้ว และในรัฐบาลก่อนหน้านี้เคยมีความพยายามที่จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหาแนวทางแก้ไข แต่ก็ยังใช้กลไกแบบเดิมๆ การดำเนินการจากกำหนดเป็นนโยบายของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สั่งการลงมาที่ระดับจังหวัดและกระจายคำสั่งไปยังท้องถิ่น จึงมีกิจกรรมออกมาในรูปแบบการจัดประชุม สัมมนา ประชาสัมพันธ์ รณรงค์ ซึ่งไม่สามารถทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงหรือเกิดการแก้ปัญหาใดๆ ควรจะต้องใช้รูปแบบการกระจายอำนาจและกระจายภารกิจให้เริ่มตั้งต้นจากท้องถิ่น เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงมาวิเคราะห์

"ถ้าไม่กระจายอำนาจ แค่จะขุดลอกคลองก็ทำได้ช้าแล้ว เพราะขออนุญาต กลับไป กลับมา ระหว่างท้องถิ่น กลับไปถึงผู้บริหารหน่วยงาน และปัญหาที่เกิดขึ้นเช่นการก่อสร้างอลังหาริมทรัพย์ขวางทางน้ำ ก็เห็นชัดอยู่แล้วว่า เป็นเพราะอำนาจการอนุญาตไปอยู่ที่ส่วนกลาง ดังนั้นเราจึงควรต้องเปลี่ยนมาเป็นการบริหารจัดการอย่างบูรณาการเชิงพื้นที่ คือ ใช้หน่วยงานท้องถิ่นเป็นตัวตั้งในการแก้ปัญหา จากนั้นจึงไปขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญมาร่วมทำงานในจุดที่เกี่ยวข้อง”

"กรณีการขออนุญาตก่อสร้างก็ไปขึ้นอยู่กับผังเมือง ซึ่งเขาก็อนุญาตหมด ถ้าเอกชนมาขออย่างถูกต้อง กรณีนี้ ทำให้เราเห็นได้ว่า เราจะใช้ระบบผังเมืองรวมอย่างเดียวไม่ได้ แต่ควรมี ผังเมืองเฉพาะ เช่น ผังเมืองเฉพาะกมลา ป่าตอง บางเทา ไม้ขาว เพื่อให้ชุมชนช่วยชี้ได้ว่า การอนุญาตก่อสร้างโครงการต่างๆ จะไปส่งผลกระทบต่อทางระบายน้ำอย่างไรบ้าง" ธนู ยกตัวอย่าง ให้เห็นถึงผลลัพธ์ที่ต่างกันระหว่างการใช้ผังเมืองรวมกับผังเมืองเฉพาะ

ความเห็นของธนู สอดคล้องกับวรรธนศักดิ์ เกี่ยวกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งทำให้ฝนตกในพื้นที่ภูเก็ตและชายฝั่งทะเลอันดามันเปลี่ยนไปจากในอดีต จึงเน้นย้ำว่า การตั้งต้นจะแก้ปัญหาน้ำท่วมหรือน้ำป่าไหลหลากในภูเก็ต จะต้องทบทวนข้อมูลกันใหม่ทั้งหมด โดยมีเรื่อง Climate Change เป็นฐานข้อมูลที่สำคัญด้วย

"ถ้าไม่ทำอะไรเลย ส่งผลต่อการท่องเที่ยวแน่นอน โดยเฉพาะช่วงปลายปี อาจจะมีผลกระทบหนักขึ้น" ธนู กล่าวทิ้งท้าย


รายงานโดย : สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา

อ่านข่าว :

ชี้ปมน้ำท่วมภูเก็ต "ฝนถล่ม 4 ชม." 347 มม.เตือนรับมือ 7 ก.ค.นี้

ไขปม "น้ำท่วมภูเก็ต" ฝนไม่ใช่ปัจจัยหลัก-เสี่ยงอีกระลอก 7-8 ก.ค.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง