KKP เผยผลวิจัย "วัยแรงงานลด -สูงวัยทะลัก" ฉุด GDP ไทยโตต่ำ

เศรษฐกิจ
18 ก.ค. 67
17:37
501
Logo Thai PBS
KKP เผยผลวิจัย "วัยแรงงานลด -สูงวัยทะลัก" ฉุด GDP ไทยโตต่ำ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ผลวิจัยเกียรตินาคินภัทร ชี้ เศรษฐกิจไทยฟื้นต่ำ เหตุวัยแรงงานลด ประชากร “สูงวัย” ล้นตลาดทำ กำลังซื้อในประเทศหดตัว เมินซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย เทรนด์สุขภาพขายดี คาดปี 2583 จีดีพีไทยเหลือต่ำ 2 % ต่อปี

วันนี้ (18 ก.ค.2567) เกียรตินาคินภัทร หรือ KKP Research ประเมินศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ว่า อาจจะลดลงมาอยู่ที่เพียงต่ำกว่า 2% หากไม่มีการปฏิรูปเชิงโครงสร้างอย่างจริงจัง โดยปัจจัยการผลิตที่เป็นแรงฉุดสำคัญ คือ แรงงาน ที่ลดลง ซึ่งจะทำให้ศักยภาพการเติบโต (GDP Potential) ลดลงประมาณ 0.5 จุด ต่อปี จนถึงปี 2573 และลดลง 0.8 จุดต่อปีในปี 2583 ทำให้ศักยภาพ GDP ไทยเหลือต่ำเพียงราว 2% ต่อปี โดยที่คงสมมติฐานให้การสะสมทุนและผลิตภาพเท่าเดิม

ปัจจัยด้านแรงงาน สำหรับไทย นอกจากจะเริ่มเข้าสู่สังคมสูงวัย (Aged society) ที่มีประชากรอายุมากกว่า 65 ปีมากกว่า 20% พบ ตลาดแรงงานในวัยทำงาน อายุ ตั้งแต่15-60 ปี ลดลงด้วยเช่นกัน จากประมาณการของสหประชาชาติ(UN) คาดว่า ประชากรไทยจะถึงจุดสูงสุดภายในปี 2573

โดยประชากรวัยทำงานได้ผ่านจุดสูงสุดไปล่วงหน้าแล้ว ตั้งแต่ปี 2555 และจะหดตัวอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 0.7% จนลดลงเหลือสัดส่วนเพียง 60% ของประชาการทั้งหมดในปี 2573 จาก 70% ในปี 2555 ขณะที่ประชากรวัยเด็ก มีแนวโน้มลดลง เฉลี่ยปีละ 1.8% ต่อปีจนถึง 2573 สวนทางกับประชากรผู้สูงอายุกลับมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 10% ในปี 2555 เป็น 20% ในปี 2566

ขณะที่ประชากรวัยทำงานและวัยเด็กที่ลดลง ผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น ถือสร้างความท้าทายกับเศรษฐกิจไทยอย่างน้อยใน 2 ด้านหลัก คือ กำลังซื้อในประเทศจะลดลง และจะทวีความรุนแรงมากขึ้น เมื่อไทยเคลื่อนตัวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้นเรื่อย ๆ กำลังซื้อสินค้าคงทนอย่างรถยนต์และสินค้าฟุ่มเฟือยต่าง ๆ จะหดตัวลง

แต่สินค้าประเภท บริการด้านสุขภาพและสินค้าจำเป็นจะเติบโตมากขึ้น นอกจากกำลังแรงงานลดลงแล้ว ผลิตภาพแรงงานก็ลดลงด้วย และจะมีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ สะท้อนความสามารถในการทำงานของแรงงานไทยก็ชะงักงันหรือเติบโตเล็กน้อยมาก ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันจนถึงปัจจุบันเช่นเดียวกัน

กำลังงานแรงงานกำลังหดตัว การสะสมทุนหรือเทคโนโลยีควรจะเพิ่มขึ้น เพื่อมาชดเชยความสามารถในการผลิตที่จะหายไป แต่การลงทุนในเศรษฐกิจไทยกลับหายไปนับตั้งแต่หลังวิกฤตต้มยำกุ้ง จากที่มีการสะสมทุนเฉลี่ยปีละ 6.6% ต่อปี ลดลงเหลือ 2.1% ตั้งแต่ปี 2555

KKP Research มองว่า ฐานผู้บริโภคที่หดตัวลง การค้าโลกที่ผ่านยุคทองไปแล้ว ความสามารถในการแข่งขันโดยรวมที่ลดลง และการขาดการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐที่จะช่วยกระตุ้นการลงทุนจากภาคเอกชน มีส่วนทำให้การสะสมทุนในช่วงหลังวิกฤตต้มยำกุ้งลดลง

ขณะที่แนวโน้มในอนาคต ความขัดแย้งของภูมิรัฐศาสตร์และห่วงโซ่อุปทาน การค้าและการลงทุนโลกที่กำลังเปลี่ยนไปจะสร้างความไม่แน่นอนและความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้นอีก

นอกจากนี้ ปัญหาหนี้ครัวเรือน และหนี้ภาคเอกชนโดยรวมที่สูงขึ้น คุณภาพของหนี้ที่ลดลง นโยบายการเงินที่ตึงตัวเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ และการระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ในระยะหลัง ทำให้โอกาสที่จะขยายการลงทุนในเศรษฐกิจไทยโดยรวมลดลงไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ทางหนึ่งที่สามารถชดเชยกำลังแรงงานได้คือการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อทำให้แรงงาน 1 คน หรือ ทุน 1 หน่วยสามารถผลิตสินค้าและบริการได้มากขึ้น หรือคือมี ผลิตภาพ หรือ productivity มากขึ้น

KKP Research เสนอรัฐบาลไทยควรให้ความสำคัญกับการปฏิรูปใน 4 ด้าน เพื่อยกระดับศักยภาพ GDP อีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มผลิตภาพ ดึงดูดแรงงานทักษะสูง เพื่อเพิ่มแรงงานทักษะสูงที่จะมาพร้อมกับการลงทุนใหม่ ๆ นอกจากนี้ การทบทวนนโยบายนำเข้าแรงงานทักษะสูงจะต้องคิดใหม่ เพื่อให้สามารถดึงดูดแรงงานที่ไทยยังขาด

และที่สำคัญคือนโยบายส่งเสริมการแข่งขันและต่อด้านการผูกขาด การเปิดเสรีภาคบริการ เนื่องจากเป็นภาคเศรษฐกิจที่ใหญ่และมีผลต่อศักยภาพของเศรษฐกิจ รวมถึงการแก้ไขกฎหมายระเบียบข้อบังคับที่เป็นอุปสรรคอื่น ๆ ในการทำธุรกิจ ที่สำคัญเพิ่มผลิตภาพของภาคเกษตร เพระภาคเศรษฐกิจที่มีผลิตภาพต่ำสุด แต่มีความสำคัญต่อภาคเศรษฐกิจมากในแง่ของสัดส่วนแรงงาน

ดังนั้นการเพิ่มผลิตภาพของภาคเกษตรและแรงงานในภาคเกษตร และการเพิ่มมูลค่าเพิ่มของสินค้าเกษตร จะช่วยเพิ่มศักยภาพของเศรษฐกิจไทยได้อีกมาก สุดท้าย คือ ปฏิรูปภาคการคลัง ความท้าทายของสังคมผู้สูงอายุนำไปสู่ความเสี่ยงทางด้านการคลังของประเทศโดยตรง

การที่ฐานภาษีที่อยู่ในระดับต่ำ สัดส่วนรายได้ต่อ GDP อยู่ที่เพียงไม่ถึง 15% ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของหลายประเทศ และรายจ่ายด้านสาธารณสุขที่สูงขึ้นต่อเนื่อง จึงเป็นไปได้ยากที่ภาครัฐจะสามารถลงทุนขนาดใหญ่เพื่อยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจไทยได้อย่างจริงจัง หากไม่จัดการปัญหาด้านภาระทางการคลังเสียก่อน

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวถึงสถานการณ์เศรษฐกิจไทยและธุรกิจไทยครึ่งปีหลัง (ก.ค. - ธ.ค.) ว่า เศรษฐกิจโลกช่วงครึ่งปีหลัง มีแนวโน้มเติบโตใกล้เคียงกันที่ 2.7% โดยมุมมองเศรษฐกิจในปี 2567 ของ SCB EIC มีมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากขึ้น

เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศเติบโตดี อีกทั้งเศรษฐกิจจีนก็มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเช่นกันจากภาคการผลิตและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ยังมีความเสี่ยงด้านประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ ความไม่แน่นอนของนโยบายรัฐบาลแต่ละประเทศจะปรับสูงขึ้นจากผลการเลือกตั้งเกือบทั่วโลกในปีนี้ โดยเฉพาะผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ

สำหรับแนวโน้มการจดทะเบียนธุรกิจปี 2567 ยังคงคาดการณ์การเติบโตของการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ที่ 5 - 15% หรืออยู่ที่90,000 - 98,000 ราย จากปัจจัยสนับสนุน เช่น นโยบายของภาครัฐ การเดินหน้านโยบายเงินดิจิทัลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ มาตรการดึงดูดการลงทุนจากชาวต่างชาติที่มีการกระตุ้นตั้งแต่ช่วงไตรมาสแรกของปี

เช่น มาตรการวีซ่าพำนักระยะยาว มาตรการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกิจการผลิตและกิจการ รวมทั้ง การลงทุนจากภาครัฐที่กำลังดำเนินการหลังจากที่เริ่มจัดสรรงบประมาณในปี 2567 ตามที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2567 ที่ผ่านมา

อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวอีกว่า การดำเนินการของภาครัฐ ทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่เข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวม รวมทั้ง ภาคการท่องเที่ยวที่ยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยที่สำคัญ ซึ่งจากแผนงานของภาครัฐที่มีนโยบายกระตุ้นด้านการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะครึ่งปีหลังในไตรมาสสุดท้ายของปีที่ประเทศไทยจะเข้าสู่ช่วง High Season ฤดูการท่องเที่ยวซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมาเยือนไทยสูงสุดของปี ขณะที่นักท่องเที่ยวชาวไทยก็นิยมท่องเที่ยวช่วงเวลาดังกล่าวด้วยเช่นกัน น่าจะส่งผลให้ธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น โรงแรม ร้านอาหาร การขนส่ง และธุรกิจอื่นๆ ได้รับอานิสงส์ตามไปด้วย และคาดว่าจะมีนักลงทุนจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยท้าทาย เช่น ปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ เนื่องจากมีผลกระทบต่อกำลังซื้อผู้บริโภคในประเทศ อัตราเงินเฟ้อ ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์จากต่างประเทศที่อาจส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจโลกและกระทบมาถึงเศรษฐกิจของไทย รวมทั้ง การใช้จ่ายเงินงบประมาณของภาครัฐที่ต้องเร่งเบิกจ่ายให้เร็วขึ้น เนื่องจากเกี่ยวข้องกับธุรกิจ SME โดยตรง โดยหากงบประมาณลงพื้นที่อย่างรวดเร็ว จะส่งผลให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น และมีการใช้จ่ายเงินเพื่อการบริโภคโดยทันทีเช่นเดียวกัน

อ่านข่าว:

ชาวนาเมิน โครงการ “ปุ๋ยคนละครึ่ง” อยากได้ไร่ละพันกลับคืน

"ราคาทองคำ" ผันผวนหนัก ขึ้น-ลง 18 ครั้ง ปิดตลาด บวก 350 บาท

"เศรษฐกิจโลก" โตต่อ จับตาการเมืองสหรัฐ KKP ชี้หุ้นกลุ่ม AI ขยายตัวสูง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง