วันนี้ (25 ก.ค.2567) นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษีในฐานะโฆษกกรมศุลกากร แถลงข่าวกรณีคดีการจับกุมลักลอบขนเฮโรอีน และคดีลอบนำสัตว์มีชีวิต และซากสัตว์ออกนอกประเทศ
โดยคดีแรกเกิดขึ้นวันที่ 19 ก.ค. ผู้โดยสารชายสัญชาติอินเดีย ดัดแปลงกระเป๋าเดินทางซุกยาเสพติดให้โทษประเภท 1 เฮโรอีน น้ำนักรวมสิ่งห่อหุ้ม 3,850 กรัม มูลค่า 11.5 ล้านบาท
ต่อมาวันที่ 20 ก.ค.ที่ผ่านมา จากข้อมูลการข่าว พบผู้โดยสารหญิงสัญชาติอินเดีย ต้องสงสัยเดินทางจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิประเทศไทย ปลายทางท่าอากาศยานนานาชาติอินทิรา คานธี นครเดลี ประเทศอินเดีย เจ้าหน้าที่ศุลกากรจึงเฝ้าสังเกตการณ์บริเวณเคาน์เตอร์เช็กอิน และเชิญตัวผู้ต้องสงสัยไปตรวจสอบกระเป๋าและสัมภาระทั้งหมดด้วยเครื่องเอกซเรย์ พบว่า กระเป๋าเดินทางมีลักษณะหนาผิดปกติ
เมื่อตรวจสอบโดยละเอียดพบสิ่งผิดปกติลักษณะเป็นแผ่นซุกซ่อนภายในข้างผนังกระเป๋า เมื่อเปิดแผ่นออกพบห่อพันด้วยเทปสีขาว ภายในมีกระดาษคาร์บอนสีน้ำเงิน ภายในบรรจุผงสีขาว ตรวจสอบพบเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 1 เฮโรอีน น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้ม 4,250 กรัม มูลค่า 12.7 ล้านบาท
สำหรับในปีงบประมาณ 2567 (1 ต.ค.2566–24 ก.ค.) มีสถิติการจับกุมยาเสพติด 115 คน มูลค่ารวมกว่า 939 ล้านบาท
โฆษกกรมศุลกากร กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 16 ก.ค. กรมศุลกากรยังร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จับกุมผู้โดยสารชายสัญชาติญี่ปุ่น เดินทางจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ปลายทางกรุงโตเกียว ญี่ปุ่น พยายามลักลอบนำสัตว์มีชีวิตออกไปนอกราชอาณาจักร
พบสัตว์ในบัญชี CITES เช่น แมงป่องช้าง แมงป่องแส้ บึ้ง แมงมุม แมงมุมแส้ ด้วง มด ตะขาบ และกบ มูลค่า 100,000 บาท ถูกบรรจุอยู่ในกล่องลังขนาดใหญ่สีน้ำตาล 5 ใบ
การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดฐานพยายามส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ซึ่งของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร ตามมาตรา 242 ประกอบมาตรา 166 และ 252 พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 และพยายามส่งออกสัตว์ป่าควบคุมออกไปนอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 23 วรรคแรก และมาตรา 112 ซึ่งอยู่ในบทเฉพาะกาลตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ประกอบตามมาตรา 31 พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558
ลอบนำเข้ากระเพาะปลาจวด ปลาบัญชีไซเตส
นอกจากนี้ กรมศุลกากร โดยสำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ยังได้ตรวจยึดกระเพาะปลาแช่เย็นจนแข็ง ของบริษัทแห่งหนึ่งที่มีการลักลอบนำเข้ามาจากประเทศสาธารณรัฐเกาหลี ซุกซ่อนอยู่ 9 กล่อง น้ำหนักรวม 246.52 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 25 ล้านบาท
เจ้าหน้าที่มีความสงสัยว่ากระเพาะปลาดังกล่าว อาจมาจากปลาที่ได้รับความคุ้มครองตามอนุสัญญา CITES จึงได้ส่งตัวอย่างให้กรมประมงตรวจพิสูจน์และได้รับผลการตรวจ เมื่อวันที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา ระบุว่าเป็นกระเพาะลมของปลาจวดชนิด แมคโดนัล (Tatoaba macdonali) เป็นปลาอยู่ในบัญชีกลุ่มที่ 1 สัตว์ป่าที่ได้รับการคุ้มครองตามอนุสัญญา CITES
โดยกรมประมง ขอให้กรมศุลกากรส่งมอบของกลาง เพื่อนำไปจัดการควบคุมเป็นการเฉพาะ และรายงานผลการดำเนินคดี และการจัดการของกลางให้สำนักงานเลขาธิการไซเตส
สำหรับกระเพาะปลาของกลาง เป็นของที่ต้องได้รับใบอนุญาตตาม มาตรา 23 พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 มาตรา 92 พ.ร.บ.กำหนดการประมง พ.ศ.2558 และมาตรา 31 พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558
สำหรับในปีงบประมาณ 2567 (1 ต.ค.2566–30 มิ.ย.2567) สถิติการจับกุมสัตว์ป่าและพืชป่าที่มีการควบคุมตามอนุสัญญาว่ CITES ทั้งสิ้น 27 ราย มูลค่ารวมกว่า 62.60 ล้านบาท