"เสือโคร่ง" ในป่าไทย เพิ่มขึ้นเป็น 179-223 ตัว

สิ่งแวดล้อม
25 ก.ค. 67
17:24
3,142
Logo Thai PBS
"เสือโคร่ง" ในป่าไทย เพิ่มขึ้นเป็น 179-223 ตัว
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมอุทยานฯ ร่วมกับภาคีเครือข่ายอนุรักษ์ เปิดงานวันเสือโคร่งโลก พบปี 2567 ประชากรเสือโคร่งในป่าไทยเพิ่มเป็น 179-223 ตัว มากสุดในกลุ่มป่าตะวันตก 152-196 ตัว ตั้งเป้าฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งและเหยื่อใน 5 กลุ่มป่า

วันนี้ (25 ก.ค.2567) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่า จัดงานวันเสือโคร่งโลก ประจำปี 2567 (Global Tiger Day 2024) ภายใต้แนวคิดหลัก “Go Goal Tigers : ก้าวต่อไป...Tigers” ความก้าวหน้าของการอนุรักษ์เสือโคร่ง ด้วยการศึกษาวิจัยและฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งการจัดการถิ่นอาศัยและประชากรเหยื่อของเสือโคร่ง ตลอดจนการกระจายตัวของเสือโคร่งไปยังผืนป่าเป้าหมาย ระหว่างวันที่ 25-27 ก.ค.2567 ที่ศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ครังสิต

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าวว่า การประชุมการเงินที่ยั่งยืนเพื่อการอนุรักษ์ภูมิทัศน์เสือโคร่ง (Sustainable Finance for Tiger Landscapes Conference: SFTLC) เมื่อวันที่ 22 – 23 เม.ย.2567 ณ เมืองพาโร ราชอาณาจักรภูฏาน ซึ่งเป็นการประชุมเพื่อระดมทุนและความร่วมมือด้านการอนุรักษ์เสือโคร่งกับกลุ่มประเทศถิ่นที่อยู่อาศัยของเสือโคร่ง

ประเทศไทยได้รับการยกย่องให้เป็น “Champion ด้านการอนุรักษ์เสือโคร่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จในการเพิ่มประชากรเสือโคร่งในธรรมชาติ และเพิ่มศักยภาพถิ่นที่อยู่อาศัยของเสือได้เป็นอย่างดี อีกทั้งเป็นโมเดลการดำเนินงานของถิ่นอาศัยเสือโคร่งประเทศอื่น ๆ ได้

ในปี 2566-2567 การประเมินข้อมูลภาพถ่ายจากกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติและเทคนิค การประเมินประชากรแบบ Spatially Explicit Capture Recapture (SECR) โดยกลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานฯ ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เข้ามาศึกษาวิจัยและสนับสนุนการปฏิบัติงานในพื้นที่อนุรักษ์ต่าง ๆ ได้ติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพจำนวนกว่า 1,200 จุด และมีรายงานการถ่ายภาพเสือโคร่งได้ในพื้นที่อนุรักษ์ 19 แห่ง 5 กลุ่มป่า ประกอบด้วย

กลุ่มป่าตะวันตก 152-196 ตัว, กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ 19 ตัว, กลุ่มป่าแก่งกระจาน-กุยบุรี 5 ตัว, กลุ่มป่าฮาลา-บาลา 2 ตัว และกลุ่มป่าชุมพร 1 ตัว

เมื่อนำข้อมูลการถ่ายภาพประกอบกับการประเมินความหนาแน่นประชากรของเสือโคร่งด้วยเทคนิคทางสถิติ (SECR) พบว่า ปี 2567 ประเทศไทยมีประชากรเสือโคร่งตัวเต็มวัยอยู่ประมาณ 179-223 ตัว ซึ่งการเพิ่มจำนวนประชากรเสือโคร่งจะเห็นได้ชัดในกลุ่มป่าตะวันตก ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรขนาดใหญ่ มีการเดินทางออกไปกระจายพันธุ์ในพื้นที่อนุรักษ์อื่นโดยรอบ และประเทศไทยได้บรรลุเป้าหมายในการเพิ่มจำนวนเสือโคร่งจาก 41 ตัว ในปี พ.ศ.2557 เป็น 100 ตัว ในปี พ.ศ.2565 ในพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง

แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของระบบการบริหารจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในรูปแบบภูมิทัศน์เชิงนิเวศ และการทำงานเพื่อเอาชนะความท้าทายในการเสริมความแข็งแกร่งให้กับระบบการจัดการตามหลักวิทยาศาสตร์ การติดตามการบังคับใช้กฎหมายการปรับปรุงพัฒนาระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ วางโครงสร้างการบริหารจัดการตามระบบนิเวศ

การเพิ่มศักยภาพพัฒนาทักษะด้านการจัดการพื้นที่คุ้มครองของหัวหน้าหน่วยงาน และการลาดตระเวนเชิงคุณภาพของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่ปฏิบัติงานครอบคลุมพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการร่วมบริหารจัดการพื้นที่

นายอรรถพล กล่าวว่า สำหรับการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์เสือโคร่งในปี 2567 อยู่ในช่วงของแผนยุทธศาสตร์ภายใต้แผนปฏิบัติการแห่งชาติเพื่ออนุรักษ์เสือโคร่ง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2565-2577) โดยมีเป้าหมายในการเพิ่มประชากรเสือโคร่งในธรรมชาติ ภายใต้ความสามารถในการรองรับได้ของพื้นที่กลุ่มป่าที่เป็นถิ่นอาศัยด้วยการยกระดับการจัดการพื้นที่และการติดตามตรวจวัดที่มีประสิทธิภาพ

ฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งและเหยื่อในพื้นที่เป้าหมาย ได้แก่ กลุ่มป่าตะวันตก, กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่, กลุ่มป่าแก่งกระจาน, กลุ่มป่าภูเขียว-น้ำหนาวและกลุ่มป่าคลองแสง-เขาสก ภายใต้การบูรณาการการทำงานอย่างมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน เพื่อนำประเทศไทยสู่การเป็นผู้นำในการอนุรักษ์เสือโคร่งในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายในปี พ.ศ.2577

อ่านข่าว : 107 วัน คืนเสือ "บะลาโกล" สู่บ้านใหม่ "ป่าทับลาน" 

"หมูหริ่ง" มื้อแรกเสือโคร่ง "บะลาโกล" ในป่าใหญ่ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง