พายุหมุนเศรษฐกิจ ? เกมชิงส่วนแบ่งเม็ดเงิน "ดิจิทัลวอลเล็ต"

เศรษฐกิจ
1 ส.ค. 67
20:07
800
Logo Thai PBS
พายุหมุนเศรษฐกิจ ? เกมชิงส่วนแบ่งเม็ดเงิน "ดิจิทัลวอลเล็ต"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
รอบแรกของการลงทะเบียนรับสิทธิ์โครงการดิจิทัลวอลเล็ต นับหนึ่งไปแล้วในวันนี้ (1 ส.ค.2567) ส่วนรอบของการลงสมัครร้านค้าจะตามมาในไม่ช้า ขณะที่ ปชช.อาจรอใช้สิทธิ์ แต่ฝั่งผู้ประกอบการเขาก็เตรียมเครือข่ายรองรับพายุหมุนเศรษฐกิจครั้งนี้กันไว้อย่างไร ?

หลายคนที่ลงทะเบียนรับสิทธิ์และกำลังรอว่าจะผ่านเกณฑ์หรือไม่ คงเริ่มจินตนาการแล้วว่าจะเริ่มใช้เงินหมื่นดิจิทัลวอลเล็ตไปที่ร้านค้าร้านใด และซื้อสินค้าอะไรบ้างในชีวิตประจำวัน แต่เมื่อลองสแกนดูพบว่าร้านค้าที่สามารถเข้าร่วมโครงการได้กว่า 2,000,000 ร้านค้านั้น พบว่ามีกลุ่มทุนใหญ่ที่คาดว่าจะเข้ามาร่วมในโครงการนี้อยู่บ้างพอสมควร

1 ในนั้นคือเครือซีพี ที่มีร้านสะดวกซื้อมาในนาม 7-11 จำนวน 14,545 สาขาทั่วประเทศ และยังมี Lotus's อีก 2,050 สาขา เมื่อรวมกันแล้วคิดเป็นร้อยละ 80 ของร้านสะดวกซื้อ และยังมีจากตระกูลสิริวัฒนภักดี Big C mini จำนวน 1,548 สาขาแต่ส่วนใหญ่จะกระจายตัวตาม กทม. และหัวเมืองใหญ่ และยังมีร้านสะดวกซื้อขวัญใจเศรษฐกิจฐานรากหญ้าอย่าง CJ more ที่เป็นของ คาราบาวกรุ๊ป อีกกว่า 1,000 สาขา  อีกตระกูลหนึ่งคือ จิราธิวัฒน์ ที่อยู่ในแวดวงค้าปลีกในนาม Top's daily ที่มีสาขาประมาณ 500 สาขา แต่ส่วนใหญ่อยู่ใน กทม. 

จะเห็นได้ว่าร้านของทุนใหญ่มีมากพอสมควรที่จะลงมาเล่นในตลาดนี้ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีร้านค้าขนาดเล็กเลยเมื่อค้นข้อมูลในส่วนของร้านธงฟ้าประชารัฐ พบว่ามีร้านสาขากระจายตัวทั่วประเทศ 148,878 ร้านค้า และยังมีร้านโชห่วยกว่าอีก 400,000 ร้านทั่วประเทศ

เมื่อลองโฟกัสเฉพาะจุด อย่างเช่นที่ จ.บึงกาฬ ที่เป็นจังหวัดเกิดใหม่ ร้านค้ามีจำนวนไม่มาก จากฐานข้อมูลของร้านธงฟ้าประชารัฐมีสาขาอยู่ 981 ร้านค้า เมื่อตรวจสอบไปยังเว็บไซต์ของ 7-11 พบว่ามี 22 สาขา ดูแล้วก็เหมือนจะพอฟัดพอเหวี่ยง สู้กันได้ ระหว่างร้านค้าขนาดเล็กกับทุนขนาดใหญ่ 

แต่ลองลงลึกไปดูไส้ในของร้านค้า จะพบว่าแต่ละร้านค้า ร้านสะดวกซื้อมีสินค้าที่แตกต่างกันไป เช่น ที่ 7-11 เมื่อกำเงินดิจิทัล 10,000 บาทซื้อสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน "ข้าวสาร" จะพบ "ข้าวตราฉัตร" ซึ่งก็อยู่ในเครือของซีพี หรือหากอยากซื้ออาหารสำเร็จรูป ก็มาจากบริษัทซีพีแรม เครือของซีพีอีกเช่นกัน หรือหากอยากซื้ออาหารสดกลับไปปรุงอาหารที่บ้าน ก็พบว่าสินค้านั้นมาจาก ซีพีเอฟ 

จะเห็นได้ว่า การหมุนของเงิน จากร้านค้าสะดวกซื้อ สุดท้ายก็กลับคืนสู่ทุนใหญ่อยู่ดี  

ไม่ต่างจากการกำเงินหมื่นเข้า Mini Big C ถ้าอยากจะซื้อขนมถุง ก็จะเจอสินค้าจากบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ ที่มีผู้ถือหุ้นร้ายเดียวกัน ถ้าเดินเข้าร้าน CJ more ก็จะเจอสินค้าในกลุ่มผู้ถือหุ้นคาราบาวกรุ๊ป เช่น เครื่องดื่มชูกำลัง น้ำเปล่า กาแฟ ที่มาจากค่ายเดียวกัน 

เมื่อกลับไปที่ร้านธงฟ้าราคาประหยัด จะพบว่าแม้จะมีสินค้าหลากหลาย ที่มองเผิน ๆ เหมือนจะช่วยสินค้ารายย่อย แต่จริง ๆ ก็มาจากกลุ่มทุนใหญ่และเป็นสินค้าที่คล้ายกับร้านข้างต้น ที่สำคัญ โชห่วยเหล่านี้ ล้วนไปซื้อสินค้ามาจากห้างค้าปลีกห้างใหญ่ซึ่งอยู่ในเครือซีพี 

เมื่อดูจำนวนร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ อาจจะคิดว่ารายย่อยสามารถได้อานิสงส์จากพายุเศรษฐกิจครั้งนี้ได้ แต่หากดูโครงสร้างของร้านค้าและสินค้าจริง ๆ เราจะพบว่า จริง ๆ แล้ว เกมนี้คือเกมแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดจากเงินดิจิทัลวอลเล็ตของกลุ่มเจ้าสัว หรือกลุ่มเศรษฐี เท่านั้น

ประชาชนที่ได้รับสิทธิ์มีอำนาจในการซื้อ ต่อมาเดินเข้าไปในร้านและใช้เงินนั้นหมดไป เท่านั้นเอง

อ่านข่าวเพิ่ม : 

จับกระแสการเมือง : วันที่ 1 ส.ค.67 ปชป.จัดหนักเงินหมื่น "ยาไส้ชั่วคราว" พท.มั่นใจ 14 ส.ค.ไม่ต้องใช้ "นายกฯ สำรอง"

6 ชั่วโมง ยอดลงทะเบียนดิจิทัลวอลเล็ต ทะลุ 10.5 ล้านคน

รวมคำถามสงสัย แอปฯ "ทางรัฐ" ปลอดภัยไหม - ทำอะไรได้บ้าง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง