ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

จับมือ "แก้ไฟป่า" ชุมชน-รัฐจัดระเบียบ "เชียงดาว"

ภูมิภาค
10 ส.ค. 67
15:42
276
Logo Thai PBS
จับมือ "แก้ไฟป่า" ชุมชน-รัฐจัดระเบียบ "เชียงดาว"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สบอ.16-ชาวบ้าน บันทึกความร่วมมือแก้จะร่วมแก้ปัญหาไฟป่า และจัดการระเบียบที่พัก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว พร้อมเพิ่มพื้นที่สีเขียว “วันชัย” ระบุย้ำระวังการพัฒนาพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ามีความเฉพาะความเปราะบางธรรมชาติ

สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 เชียงใหม่ ร่วมท้องถิ่น จัดประชุมที่หอประชุมอำเภอเชียงดาว จ.เชียงใหม่ เพื่อบันทึกความร่วมมือ การบริหารจัดการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาวสู่ความยั่งยืน เพื่อแก้ปัญหาไฟป่าและการจัดการระเบียบที่พักภายในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว ก่อนที่จะเสนอไปยังอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์และพันธุ์พืช เพื่อเปิดให้เข้าศึกษาธรรมชาติและเข้าพัก หลังปิดมานานตั้งแต่ 26 เมษายน จนถึงปัจจุบัน จากสถานการณ์ไฟป่าและการจัดระเบียบที่พัก โดยก่อนหน้านี้ได้มีการประชุมระดับพื้นที่ และคณะทำงานระดับกรมฯหลายครั้ง

กริชสยาม คงสตรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16

กริชสยาม คงสตรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16

กริชสยาม คงสตรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16

โดยก่อนจะบันทึกข้อตกลงร่วมกัน นายกริชสยาม คงสตรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 และนายพรนรินทร์ คุ้มทอง หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาวและในฐานะผู้จัดการพื้นที่สงวนชีวมณฑลดอยเชียงดาว ได้เปิดเวทีให้ชาวบ้านนาเลา บ.เลาวู และ บ.สันป่าเกี๊ยะ ร่วมแลกเปลี่ยนการแก้ปัญหา โดยเฉพาะประเด็น เช่น การจัดการไฟป่า,การจัดการพื้นที่รุกหลังปี 2557,การจัดระเบียบที่พัก,การเพิ่มพื้นที่สีเขียว

ชาวบ้านเห็นด้วยกับบันทึกความร่วมมือแก้ปัญหา

ชาวบ้านเห็นด้วยกับบันทึกความร่วมมือแก้ปัญหา

ชาวบ้านเห็นด้วยกับบันทึกความร่วมมือแก้ปัญหา

ชาวบ้านทุกฝ่ายเห็นพ้องกัน จะช่วยกันแก้ปัญหา และนำเสนอไปยังอธิบดีกรมอุทยานฯ เพื่อเปิดให้บุคคลภายนอกสามารถเข้ามาศึกษาธรรมชาติได้ เพราะหลังปิดพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาวนานกว่า 3 เดือนส่งผลกระทบกับรายได้จากการท่องเที่ยวชุมชน

ชาวบ้านยืนยันแผนระยะเร่งด่วนจะร่วมกันจัดการไฟป่า และหยุดการก่อสร้างอาคารที่พักไปจนถึง 28 ก.พ.68 และให้มีการตรวจสอบการรุกเพิ่มหลังปี 2557 ก่อนที่จะมีการนำเสนอแผนระยะกลางจากคณะทำงาน
วันชัย  ตันติวิทยาพิทักษ์ คณะกรรมการที่ปรึกษาฯเชียงดาว (PAC)

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ คณะกรรมการที่ปรึกษาฯเชียงดาว (PAC)

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ คณะกรรมการที่ปรึกษาฯเชียงดาว (PAC)

ด้านนายวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ คณะกรรมการที่ปรึกษาฯเชียงดาว (PAC) ระบุถึงการจัดการไฟป่าว่าชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ ถือเป็นความรับผิดชอบร่วมกันเมื่อเกิดปัญหาไฟป่า ควรมีข้อตกลงร่วมกัน และมองเรื่องการอนุรักษ์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ต้องมีความเคร่งครัดกว่าอุทยานแห่งชาติ เพราะเป็นที่อยู่อาศัยของพืช และสัตว์ป่าหายาก เช่น ผีเสื้อสมิงเชียงดาว กวางผา กล้วยไม้สิรินธร

ผีเสื้อสมิงเชียงดาวเป็นผีเสื้อที่งดงามที่สุดพันธุ์หนึ่งพบบนยอดดอยหลวงเชียงดาวปัจจุบันอาจสูญพันธุ์ไปแล้ว อยากให้ระมัดระวังและความเป็นพื้นที่เฉพาะพื้นที่ไว้ด้วย

ข้อสรุปเวทีเสวนาและลงนามในบันทึกความร่วมมือ

การบริหารจัดการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาวสู่ความยั่งยืน มี 4 ประเด็นได้แก่

1. ทุกฝ่ายเห็นชอบข้อตกลงร่วมกันกำหนดมาตรการและแนวทางปฏิบัติ 3 เรื่อง ได้แก่ การจัดการไฟป่า,การจัดการพื้นที่บุกรุกใหม่ หลังปีพ.ศ. 2557 และการจัดระเบียบที่พักผู้ศึกษาธรรมชาติ
2. การจัดการไฟป่า ทุกฝ่ายให้ความร่วมมือในการป้องกันไฟป่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งราษฎรที่มีแปลงที่ดินทำกินติดป่า ให้มีการทำแนวกันไฟทุกราย ผู้ไม่ปฏิบัติตามมาตรการต้องได้รับโทษตามกฎระเบียบชุมชน หากเกิดไฟป่าลุกลามเข้าสู่พื้นที่ป่าต้องดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
3. การจัดการพื้นที่บุกรุกหลังปีพ.ศ. 2557 ชุมชนกับเจ้าหน้าที่ร่วมกันตรวจสอบจัดให้มีมาตรการแนวทางในการคืนพื้นที่ และฟื้นฟูพื้นที่ให้กลับมาสมบูรณ์ดังเดิม ผู้ไม่ปฎิบัติตามต้องถูกดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
4. การจัดระเบียบที่พักผู้ศึกษาธรรมชาติ ในระยะเร่งด่วนทุกฝ่ายเห็นชอบไม่ให้มีการเพิ่มจำนวนรายของผู้จัดหาที่พักและจำนวนบ้านพัก จนกว่าจะมีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน

สาเหตุปิดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว

นายกฤชสยาม เปิดเผยสาเหตุต้องปิดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาวปิดตั้งแต่ 26 เม.ย. 2567 มาจากไฟป่าและจัดการพื้นที่ จากการที่นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ บินสำรวจเห็นสภาพปัญหาไฟป่าและวงจรไฟป่าเกิดขึ้นในพื้นที่ทุกปี รวมถึงการขยายตัวของที่พักและการจัดการขยะ เมื่อปี 2566 ช่วยกันนำ ฮ.ดับไฟ และปี 2567 เกิดไฟป่าซ้ำจุดเดิม ภาพข่าวที่ออกไป “ดอยนาง” ถูกไฟไหม้หนัก อธิบดีฯ จึงลงพื้นที่ด่วน บ.สันป่าเกี๊ยะ เห็นรีสอร์ตกำลังก่อสร้างด้วยอิฐถือปูน ไม่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ชาวบ้านที่ตกลงไว้ และเมื่อบินไปดูต้นน้ำแม่กอก มีสวนส้มกำลังเผาป่า บริเวณร่องแม่ก๊ะ บ.สันป่าเกี๊ยะ ยังมีการขยายพื้นที่หลังปี 2557 เมื่อข้ามมา บ.นาเลา เห็นรีสอร์ตใหม่ 2-3 แห่ง มีขยะหลังรีสอร์ตในพื้นที่ป่าอนุรักษ์มีความเสียหายเกิดขึ้น ขณะที่สถานการณ์ไฟป่าไม่ได้เลวร้ายเท่าปี 2566 แต่สถานการณ์ที่เห็นไฟป่าและการขยายพื้นที่ปี 2567 ทำให้ต้องปิดป่า เพื่อคุยกันเรื่องการจัดระเบียบ 3 เรื่องคือ ไฟป่า,การขยายพื้นที่หลังปี 2557,การขยายโฮมสเตย์ จะเอาอย่างไร?


อธิบดีกรมอุทยานฯ ให้โจทย์ตกลงคุยกับชาวบ้าน ทำอย่างไรให้เกิดความร่วมมือ ข้อตกลงร่วมกันอย่างไร? ให้มีกรอบที่ชัดเจน ตั้งคณะทำงานแนวทางท่องเที่ยวป่าเชิงอนุรักษ์ สร้างเศรษฐกิจชุมชน โดยปริมาณไม่มากเกินไป และสิ่งปลูกสร้างทิศทางเดียวกัน ที่สำคัญ ประกอบอาชีพอย่างไรเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม


ส่วนการแก้ปัญหาและกระบวนการมีส่วนร่วมที่ผ่านมา นายพรนรินทร์ คุ้มทอง หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว ได้อธิบายขั้นตอนการทำงานแก้ปัญหาที่ผ่าน ก่อนจะมีการประชุมเวทีหาทางออกร่วมกันที่หอประชุม อ.เชียงดาว ล่าสุด (9 ส.ค.67) มีรายละเอียด ดังนี้
- ปิดประกาศ 26 เม.ย. 67 ประกาศปิดไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้าพื้นที่ ยกเว้นประชาชนที่อาศัยในพื้นที่
- ประกาศควบคุมเข้า-ออก สุ่มตรวจ
- สุ่มตรวจตามพื้นที่ 3 หมู่บ้าน ห้ามรับนักท่องเที่ยว
- ประชุมร่วมส่วนราชการประกาศปิด
- 7 พ.ค.67 ผอ.สบอ.16 รับฟังปัญหาพื้นที่ พร้อมตกลงร่วมกัน 4 ข้อ โดยภาคประชาชนมีการคัดเลือกคณะกรรมการฯผู้ประกอบการท่องเที่ยว
- 8-9 พ.ค.67 รองอธิบดีฯลงพื้นที่ ตัวแทน 3 หมู่บ้านให้ข้อมูล
- 16 พ.ค.67 สบอ.16 ประชุมคืบหน้าแก้ปัญหา
- 18 พ.ค.67 ประชุมร่วมกับชาวบ้าน สำรวจพื้นที่ต้องสงสัยรุกพื้นที่ บ.สันป่าเกี๊ยะ
- 29 พ.ค.67 ประชุมถอดบทเรียนไฟป่า
- 10 มิ.ย.67 ประชุมฟังรับฟังความเห็น
- 11 มิ.ย.67 ตรวจสอบพื้นที่เผาไหม้และดูการจัดการขยะ บ.สันป่าเกี๊ยะ กระบวนการชุมชนจัดการขยะ ทำเตาขยะไร้ควัน
- 12 มิ.ย.67 ประชุมคณะทำงาน
- 15 มิ.ย.67 ลงพื้นที่ บ.เลาวู
- 24 มิ.ย.67 ยื่นเอกสารขอความเห็น บ.เลาวู บ.สันป่าเกี๊ยะ
- 28 มิ.ย.67 ประชุมคณะทำงานฯ ตามอธิบดีแต่งตั้ง
- 1 ก.ค.67 ประชุมร่วม สส.เขต 6
- 8 ก.ค.67 ประชุมหารือ สส.เขต 6 และกลุ่ม พรี-มูฟ
- 12-13 ก.ค.67 คณะทำงานระดับกรมฯ ลงพื้นที่ บ.นาเลาใหม่ บ.เลาวู รับฟังความเห็นชาวบ้าน
- 19 ก.ค.67 คณะทำงานฟื้นฟูฯ สำรวจพื้นที่ถือครอง
- 2 ส.ค.67 คณะทำงานฯสำรวจบ้านพัก บ.สันป่าเกี๊ยะ
- 5 ส.ค.67 นำโดรนบินสำรวจ บ.เลาวู สำรวจพื้นที่ รูปแบบอาศัยบ้านพัก
- 7 ส.ค.67 นำโดรนสำรวจ บ.นาเลาใหม่

สำหรับการบันทึกข้อตกลงร่วมกันมี นายขวัญชัย เนื่องจำนงค์ นายอำเภอเวียงแหง ,ตัวแทนนายอำเภอเชียงดาว,นายกริชสยาม คงสตรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 ,นายกฤตภาส ขันทะธงสกุลดี ผอ.ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า,นายพรนรินทร์ คุ้มทอง หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาวและผู้จัดการพื้นที่สงวนชีวมณฑลดอยเชียงดาว,ตัวแทนจากภาคประชาชน และส่วนต่างๆร่วมบันทึกข้อตกลงร่วมกัน โดยผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 จะนำเรียนไปยังอธิบดีกรมอุทยานฯเพื่ออนุญาตเปิดให้บุคคลภายนอกเข้าพื้นที่และศึกษาธรรมชาติได้ ลดผลกระทบจากการปิดส่งผลต่อรายได้จากการท่องเที่ยวของชุมชน

รายงาน : โกวิทย์ บุญธรรม ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส ศูนย์ข่าวภาคเหนือ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง