ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ตาย 1 เซ่นพิษเหล้าเถื่อน หามส่งโรงพยาบาลอีกเกือบ 20 คน

สังคม
24 ส.ค. 67
16:36
4,506
Logo Thai PBS
ตาย 1 เซ่นพิษเหล้าเถื่อน หามส่งโรงพยาบาลอีกเกือบ 20 คน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมการแพทย์เตือนพบผู้ดื่มสุราเถื่อน เสี่ยงตาบอด เลือดเป็นกรด หมดสติและเสียชีวิตกระทันหัน ล่าสุด มีผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาลพร้อมกันหลายรายในกรุงเทพมหานคร ล่าสุดเขตคลองสามวาส่ง จนท.ลงพื้นที่สื่อสารคนในชุมชนพิษจากสุราเถื่อน

วันนี้ (24 ส.ค.2567) นายสมหวัง ชัยประกายวรรณ์ ผู้อำนวยการเขตคลองสามวา พร้อมนายพีรวัส พูนวิทย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตคลองสามวา หัวหน้าฝ่าย เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ประชุมศูนย์บัญชาการเหตุฉุกเฉินกรณีประชาชนดื่มสุรา (สุราต้ม) ยาดอง มีอาการเป็นพิษ เข้าโรงพยาบาลหลายราย ณ ห้องประชุมโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กทม.

ด้วยวันที่ 22-23 ส.ค.2567 มีผู้ป่วย Methanol intoxication หรือผู้ป่วยที่มีภาวะพิษจากเมทานอล เข้ารับการรักษาตัว ข้อมูลอัปเดต จำนวนผู้ป่วยมีทั้งสิ้น จำนวน 16 ราย เข้ารับการรักษาตัว

  • รพ.นพรัตน์ราชธานี 9 คน
  • รพ.ราชวิถี 1 คน
  • รพ.นวมินทร์ 1 คน
  • รพ.เกษมราษฎร์รามคำแหง 1 คน
  • รพ.เสรีรักษ์ 1 คน (เสียชีวิตแล้ว)

ขณะที่เวลา 13.00 น.ของวันนี้ มีแจ้งผู้ป่วยอาการเดียวกันเพิ่มอีก 3 ราย (ยังไม่ระบุโรงพยาบาล)

ทั้งนี้พบผู้ป่วยมีประวัติเคยซื้อสุราต้ม จาก 3 พื้นที่ ได้แก่ ซ.หทัยราษฎร์ 33 ชุมชนหมู่บ้านร่มทิพย์ (เขตคลองสามวา) มีผู้ป่วย 7 คน, ซ.สามวา 1 (เขตมีนบุรี), ซอยสามวา 6 (เขตมีนบุรี) ซึ่งทาง สน.มีนบุรี และ สน.นิมิตรใหม่ จะเร่งสืบสวนและขยายผลเป็นการด่วน

ต่อมาเวลา 17.00 น. นายภิมุข สิมะโรจน์ เลขานุการผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร เปิดเผยความคืบหน้าเหตุประชาชนดื่มเหล้าเถื่อน ณ ถนนหทัยราษฎร์และบริเวณใกล้เคียง ทำให้มีผู้ป่วย 19 คน เสียชีวิตแล้ว 1 คน ใส่ท่อช่วยหายใจ 7 คนและทำการฟอกไตฉุกเฉิน 8 คน

ทั้งนี้ สำนักงานเขตคลองสามวา ได้ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนผ่านช่องทางสังคมออนไลน์ (Facebook / Line group ชุมชน) เพื่อแจ้งเตือนประชาชนได้รับทราบ ส่วนผู้ที่บริโภคแล้ว ให้เข้ารับการรักษาตัวตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลโดยด่วน นอกจากนี้ยังได้แบ่งงานให้ ฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม แจ้งประชาสัมพันธ์ชุมชนและลงพื้นที่ ฝ่ายเทศกิจ ฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล ร่วมกัน ตรวจสอบ กวดขัน ร้านค้า สถานประกอบการที่เกี่ยวข้อง และให้ติดตามผลในพื้นที่เพื่อประเมินความร้ายแรงต่อไป

ปัจจุบัน ได้มีการตรวจสอบและสั่งปิดร้าน ต้องสงสัยทุกร้านแล้ว โดยทางเจ้าหน้าที่ตำรวจและกรมสรรพสามิต จะเร่งลงพื้นที่ตรวจสอบร้านจำหน่ายสุราเถื่อนและดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

ศูนย์ประสานงาน wall room (เคสเมทานอล) รพ.นพรัตนราชธานี โทร. 02 548 1000

คำเตือน : ห้ามดื่มสุราต้ม - ยาดอง - หรือสุราอื่นใด ที่มีการผสมด้วยตนเอง ร้านซุ้มยาดอง ผิดกฎหมาย มีอันตรายถึงชีวิต แจ้งเตือนประชาชน ผู้ที่บริโภคแล้ว มีอาการเหนื่อยหอบง่าย ซึม อ่อนเพลีย ตาพร่ามัว เข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาลโดยด่วน

กรมการแพทย์เตือน "สุราเถื่อน" เสี่ยงตาบอดได้

วันนี้ (24 ส.ค.2567) พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กรมการแพทย์ได้รับแจ้งพบผู้ป่วยที่ดื่มสุราเถื่อนมีส่วนผสมที่อันตราย เข้ารับการรักษาตัวใน รพ.นพรัตนราชธานี รพ.ราชวิถีและโรงพยาบาลอื่น ๆ ในเขตกรุงเทพมหานคร พร้อมกันกว่า 10 ราย ด้วยอาการเวียนศีรษะ ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียนรุนแรง มีอาการตามองไม่เห็นหรือมองเห็นผิดปกติทั้ง 2 ข้าง อาจมีอาการชักเกร็งกระตุกทั้งตัว ซึม

ซึ่งขณะนี้กรมการแพทย์ ได้มีการตั้งศูนย์การประสานงานที่ รพ.นพรัตนราชธานี โดยได้มีการประสานงาน หน่วยงานในสังกัดกรมการแพทย์ และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กรุงเทพมหานคร กรมสรรพสามิตในพื้นที่กรุงเทพตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่พบผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก โดยผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวอยู่ระหว่างการดูแลรักษาของแพทย์พยาบาล รวมถึงได้มีการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนไปยังประชาชนในพื้นที่ให้หลีกเลี่ยงการดื่มสุราเถื่อน เนื่องจากอาจจะเกิดอันตรายถึงชีวิตได้

การดื่มสุราเถื่อนเสี่ยงทำให้ได้รับสารพิษ อันจะก่อให้เกิดความผิดปกติต่อสมองและระบบประสาทส่วนกลาง เส้นประสาทตา และร่างกายทุกระบบจากภาวะเลือดเป็นกรด เมื่อผู้ป่วยดื่มเหล้าที่มีส่วนผสมของเมทิลแอลกอฮอล์ เมื่อร่างกายมีการดูดซึม เมทิลแอลกอฮอล์จะถูกส่งไปเผาผลาญที่ตับ ซึ่งตัวฟอร์มัลดีไฮด์นี้เป็นพิษสูงต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะระบบประสาทและสมอง

อาการของผู้ป่วยที่เกิดจากพิษของเมทิลแอลกอฮอล์ มักจะมีประวัติดื่มเหล้าที่ผลิตเอง ยาดอง หรือเหล้าที่ราคาถูกเกินจริง หรือมีส่วนผสมที่เป็นอันตรายอื่น ๆ อาการมักจะเกิดขึ้นหลังจากการดื่มไปแล้ว 16-24 ชั่วโมง เพราะเป็นช่วงเวลาที่มีการสร้างฟอร์มัลดีไฮด์และกรดฟอร์มิก จากกระบวนการเผาผลาญที่เกิดขึ้นในร่างกาย

ผู้ป่วยจะมีอาการตั้งแต่ อาการแฮงค์เหมือนการดื่มเหล้าทั่วไป ร่วมกับมึนเวียนศีรษะ ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียนรุนแรง มีอาการตามองไม่เห็นหรือมองเห็นผิดปกติทั้ง 2 ข้าง อาจมีอาการชักเกร็งกระตุกทั้งตัว ซึม และเสียชีวิตจากภาวะเลือดเป็นกรดรุนแรงและระบบต่าง ๆ ของร่างกายทำงานล้มเหลว

ทั้งนี้ เนื่องจากอาการของผู้ป่วยอาจจะไม่จำเพาะเจาะจงมาก ดังนั้น ประวัติจากญาติหรือเพื่อนที่สามารถบอกเล่าพฤติกรรมการดื่ม หรือมีตัวอย่างของเครื่องดื่มมาด้วย จะช่วยให้นึกถึงภาวะนี้ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น การรักษาที่รวดเร็ว จะช่วยลดภาวะความผิดปกติทางระบบประสาทและลดอัตราเสียชีวิตได้

กรมการแพทย์ขอฝากความห่วงใยไปยังประชาชนทั้งกลุ่มผู้ดื่มและผู้จำหน่ายสุรา ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเพื่อร่วมกันป้องกันการได้รับสารพิษจากเหล้าปลอมและส่วนผสมต่าง ๆ ที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้

อ่านข่าวอื่น :

ผู้ต้องหาคดีชิงทรัพย์ วูบหมดสติเสียชีวิตขณะคุมฝากขังศาล

ข้อสังเกต "ร่องน้ำบนเขา-ก่อสร้างตีนเขา" เหตุดินสไลด์ภูเก็ต

"แพทองธาร" ลงพื้นที่น่านลุยน้ำแจกถุงยังชีพให้กำลังใจประชาชน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง