ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"วิทยุทรานซิสเตอร์" เครื่องมือเตือนภัยในตำนาน ยามวิกฤต

ไลฟ์สไตล์
26 ส.ค. 67
19:17
671
Logo Thai PBS
"วิทยุทรานซิสเตอร์" เครื่องมือเตือนภัยในตำนาน ยามวิกฤต
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ญี่ปุ่น เป็นประเทศหนึ่งที่เกิดปัญหาภัยพิบัติขึ้นบ่อยครั้ง และมักพบว่า รัฐบาลมักจะมีการเตือนให้ประชาชนเตรียมพร้อมในการรับมือ และตระเตรียมสิ่งของจำเป็นที่แต่ละบ้านจำเป็นต้องมี นั่นคือ "วิทยุทรานซิสเตอร์" ในกรณีเกิดปัญหาไฟดับ และแบตเตอรี่โทรศัพท์หมด ยังสามารถติดตามข่าวสารจากวิทยุทรานซิสเตอร์ได้ เมื่อเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติ เครือข่ายมือถือล่ม เน็ตล่ม ยังสามารถใช้คลื่นสัญญาณวิทยุเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ในการส่งข่าวสารให้ประชาชนได้รับทราบถึงสถานการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้น และเตรียมพร้อมในการป้องกันตัวเอง

ไม่เฉพาะที่ญี่ปุ่น ที่ยังมีการใช้วิทยุทรานซิสเตอร์ รับแจ้งข้อมูลในยามภาวะวิกฤต แต่มีข้อมูลว่า ที่สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ยังใช้ระบบเตือนภัยพิบัติทางวิทยุ FM อยู่ โดยจะมีการประกาศแทรกไปในรายการออกอากาศตามปกติ และ ออกอากาศทาง sub-channal ของวิทยุ Digital Radio เครื่องหลายรุ่น หากถ่านหมด ก็สามารถใช้มือหมุนปั่นให้เกิดกระแสไฟได้

แม้วิทยุทรานซิสเตอร์ จะถูกมองว่า เป็นเทคโนโลยีตกยุค ล้าสมัย คนรุ่นใหม่จำนวนมาก ไม่สนใจเปิดฟัง และไม่ใช้ เนื่องจาก หากต้องการทราบข้อมูล ข่าวสาร ทุกอย่างจะอยู่ในมือถือหมด ในขณะเดียวกันก็มีการหยิบยกเรื่อง Cell Broadcasting sinv ระบบส่งข้อมูลโดยตรงจากเสาสัญญาณไปสู่โทรศัพท์มือถือทุกเครื่องในพื้นที่ให้บริการพร้อมกันในรวดเดียวได้ก็จริง

แต่ต้องไม่ลืมว่า ในประเทศไทย ยังมีพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร และบางจังหวัด และหลายพื้นที่ ยังเป็นจุดอับสัญญาณ ไม่สามารถใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการติดต่อสื่อสารได้ โดยเฉพาะเมื่อมีเส้นทางการคมนาคมถูกตัดขาด ดินโคลน ถล่ม น้ำท่วมหนัก

"วิทยุทรานซิสเตอร์"เครื่องมือเตือนภัยยามวิกฤต

"วิทยุทรานซิสเตอร์" หรือ "ทรานซิสเตอร์" คิดค้นโดย "เบลแล็ป" เป็นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่เปรียบเสมือนวาล์วควบคุมกระแสไฟฟ้า ที่ควบคุมทั้งกระแสไฟเข้าและออก เปิดและปิด จนไปถึงขยายกระแสไฟฟ้า เรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของทุก ๆ เทคโนโลยีในปัจจุบันนี้ ตั้งแต่ วิทยุ โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ ไปจนถึงสวิตช์ไฟในบ้าน ต่อมาได้พัฒนา โดยนำวงจรทรานซิสเตอร์มาใช้กับวิทยุได้สำเร็จในปี 2497 ซึ่งทำให้วิทยุมีขนาดเล็กลง และพกพาสะดวกไปได้ทุกที่ พร้อมตั้งชื่อรุ่นว่า วิทยุทรานซิสเตอร์ แต่มักเรียกสั้น ๆ ว่า "ทรานซิสเตอร์"

ก่อนที่จะมีวิทยุทรานซิสเตอร์ คนไทยส่วนใหญ่ใช้วิทยุหลอด ซึ่งมีขนาดใหญ่ และใช้ถ่ายจำนวนมาก ไม่สามารถยกไปฟังนอกบ้านได้ เพราะมีน้ำหนักมาก และมีเสาอากาศสูงทำให้บ้านเรือนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล จะไม่ค่อยได้รับสัญญาณ ที่ชัดเจน ต่อมาในช่วงปี 1960 วิทยุได้รับความนิยมมาก เนื่องจากใช้กำลังไฟน้อย ขนาดเล็กกว่าวิทยุหลอดใช้ถ่านแค่ 6 ก้อน สามารถนำออกไปฟังที่ไหนก็ได้ ในอดีตจะฟังได้เฉพาะระบบ AM

แต่ปัจจุบันสามารถฟัง FM AM ได้ เครื่องบางรุ่นเป็นวิทยุเล่น MP3 และบลูทูธได้ รองรับช่องเสียบ USB หรือช่องเสียบ TF Card เล่นเพลงผ่านอุปกรณ์มือถือได้ มีหลายขนาดทั้งเล็กสำหรับพกพา ไปจนถึงขนาดใหญ่

อย่างไรก็ตาม หากยังจำกันได้ เมื่อปี 2565 ในยุคที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในขณะนั้น เคยระบุว่า หากเกิดปัญหาฉุกเฉินระบบการสื่อสารล่ม หน่วยงานราชการต่าง ๆ แจ้งข้อมูลให้ประชาชนทราบได้ยากลำบาก อาจจะต้องใช้วิทยุทรานซิสเตอร์ในการออกอากาศแจ้งเตือนประชาชน เหมือนกรณีน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 ที่ไฟฟ้าดับ และใช้การสื่อสารแจ้งเตือนประชาชนผ่านวิทยุแทน ทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า " ล้าหลัง" และ "ตกยุค" และไม่เท่าทันสถานการณ์ เนื่องจากเทคโนโลยีในการสื่อสารในปัจจุบัน มีความก้าวหน้าไปไกล เกินกว่าจะย้อนกลับมาใช้เทคโนโลยีระบบแมนนวลอย่าง "วิทยุทรานซิสเตอร์" แล้ว

ข้อมูลล่าสุด จากสำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ดำเนินการสำรวจการเข้าถึงสื่อวิทยุ และสื่อโทรทัศน์ พ.ศ.2566 โดยส่งเจ้าหน้าที่ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ไปสัมภาษณ์สมาชิกในครัวเรือนที่มีอายุตั้งแต่ 18 - 76 ปีในครัวเรือน ส่วนบุคคลทั่วประเทศ จำนวนตัวอย่างทั้งสิ้น 47,100 คน เก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างวันที่ 4 - 31 ส.ค.2566 พบว่า ประชาชนยังรับฟังรายการวิทยุ และฟังเพลง โดยร้อยละ 45.5 ระบุว่า รับฟังรายการวิทยุและ/หรือฟังเพลง เช่น การรับฟังผ่านคลื่นวิทยุ มิวสิคสตรีมมิง ขณะที่ร้อยละ 54.5 ระบุว่า ไม่รับฟัง แม้จะมีการรับฟังรูปแบบวิทยุออนไลน์ อยู่บ้าง แต่ไม่บ่อยครั้งนัก

ส่วนการรับฟังรายการคลื่นวิทยุเอฟเอ็ม (FM) ยังมีประชาชนที่รับฟังรายการวิทยุและ/หรือฟังเพลง ประมาณ ร้อยละ 33.3 ขณะที่ร้อยละ 66.7 ระบุว่าไม่รับฟัง ส่วนใหญ่ของผู้รับฟังคลื่นวิทยุ เป็นกลุ่มผู้สูงอายุมากกว่า ขณะที่ผู้รับฟังวิทยุคลื่น เอเอ็ม (AM) ยังเป็นผู้สูงอายุร้อยละ 4.5 ขณะที่ร้อยละ 95.5 ระบุว่าไม่รับฟังฯ

ทั้งนี้ทุกครั้งที่มีเหตุการณ์น้ำท่วม หรือภัยพิบัติ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะขอความร่วมมือสถานีวิทยุกระจายเสียงทั่วประเทศให้เตรียมความพร้อมในการออกอากาศแจ้งข่าวหรือเตือนภัย เพื่อให้ประชาชนได้รับข่าวสารและการแจ้งเตือนให้ทันต่อสถานการณ์

โดยให้ความร่วมมือเมื่อรัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐร้องขอ เนื่องจากปัจจุบันในหลายพื้นที่ของประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมากทำให้ต้องเฝ้าระวัง และติดตามสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และคลื่นลมแรง รวมทั้งอาจเกิดสถานการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติ อันก่อให้เกิดความเสียหายต่อสุขภาพ ชีวิต ทรัพย์สินและสาธารณูปโภค

วิทยุทรานซิสเตอร์ VS ในสายตาโลกโซเชียล

ตามบ้านเรือน ในพื้นที่ กทม.การฟังวิทยุทรานซิสเตอร์ อาจไม่มีใครพบเห็นมากนัก แต่ในต่างจังหวัด สามารถพบผู้สูงวัย และชาวบ้านในวัยทำงาน ยังคงเปิดวิทยุรับฟ้งข้อมูลข่าวสาร และฟังรายการเพลง รายการข่าว อย่างสม่ำเสมอ

โดยเฉพาะในวันหวยออก หากเดินไปในย่านชุมชน ตลาดนัด หรือพื้นที่ใดก็ตาม ก็จะมักจะได้ยินเสียงประกาศดังจากลำโพงวิทยุ เช่น "ประกาศเลขที่ออก..." หรือ "รางวัลเลขท้ายสามตัว..."

หรือขณะในยามค่ำคืนก็มักจะได้ยินเสียงเพลง หรือเปิดรับฟังข้อมูลข่าวสาร ซึ่งปัจจุบัน การเปิดฟังวิทยุ แม้วิทยุทรานซิสเตอร์จะไม่เป็นที่นิยมเหมือนในอดีต แต่ยังคงมีจำหน่ายตามร้านจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้า

ปัญญา จันทร์เจริญ วัย 65 ปี กล่าวว่า ทุกวันนี้แม้จะมีโทรศัพท์มือถือใช้ติดต่อสื่อสาร และดูข้อมูลข่าวสาร แต่มักจะมีปัญหาคือ แบตเตอรี่หมด หากออกไปทำงานในไร่นา หรือออกไปทำสวน จึงต้องประหยัดแบตมือถือ ด้วยการพกวิทยุออกไปด้วย อาศัยฟังข่าว เพลง หรือฟังรายการอื่น ๆ ชาวบ้านส่วนใหญ่ ทั่วไป จะดูทีวีมากกว่า ส่วนวิทยุจะใช้เปิดฟังเวลาจะเข้านอน เรื่องการรับฟังข้อมูลภัยพิบัติ เตือนเรื่องน้ำประปาไม่ไหล ก็ฟังประกาศกรมอุตุนิยมวิทยาจากวิทยุ

ภาพจากเพจ ลุงเด๋อ คนรักลูกทุ่ง

ภาพจากเพจ ลุงเด๋อ คนรักลูกทุ่ง

ภาพจากเพจ ลุงเด๋อ คนรักลูกทุ่ง

ด้าน ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ระบุว่า หลายคนไม่เข้าใจทำไมต้องมีวิทยุ เวลาเกิดภัยพิบัติ ในเมื่อมีโทรศัพท์แล้ว ขออธิบายว่า โทรศัพท์มือถือ สื่อสารผ่านสัญญาณ 4G 5G ของผู้ให้บริการทั้งหลาย ใช้ความถี่สูง ผ่านระบบเสา Cell Site เป็นเครือข่ายคล้ายใยแมงมุม คือความที่ความถี่มันสูงมันจึงเดินทางได้สั้น และเมื่อเสาใดน้ำท่วมบริเวณนั้น ๆ ก็หมดสิทธิ์ถึงแม้จะมีแบตสำรองไฟ ก็ยังจำกัดในเรื่องเวลา เมื่อผู้ที่อยู่ในที่ประสบภัย ในวงของ Cell Site นั้น ก็ไม่มีสัญญาณมาให้ใช้ หรือจะไปเอาสัญญาณของอีกจังหวัดก็ไม่ได้

ส่วนวิทยุ สื่อสารผ่านความถี่ FM และ AM เวลาเกิดภัยพิบัติต่าง ๆ หน่วยงานจะใช้คลื่น AM ในการให้ข้อมูลประชาชน การดูแลตัวเอง สื่อสารให้ไปอยู่จุดรวมพลที่ไหน ซึ่งคลื่นความถี่ AM มันเจ๋งกว่า เพราะมันเป็นความถี่ต่ำ เดินทางบนผิวโลกและสะท้อนบนชั้นอากาศ จึงทำให้มันไปได้ไกลมาก ๆ ข้ามประเทศเลย และที่สำคัญตัวรับวิทยุมันกินพลังงานน้อยมาก ๆ มีทั้งแบบแบตเตอรี่ และแบบปั่นพลังงาน หรือ โซลาร์เซล

อีกรายหนึ่ง ระบุว่า หาแบบนี้ติดไว้ที่บ้าน เป็นทั้งวิทยุ ไฟฉาย มีที่เสียบชาร์ตโทรศัพท์ได้ ตัววิทยุนี้ชาร์ตด้วยไฟฟ้า พลังแสงอาทิตย์ มือหมุ่นปั่นไฟฉุกเฉิน ไม่ต้องกลัวไฟหมด

ผู้ใช้เฟซบุ๊ก อีกรายหนึ่งระบุว่า จากประสบการณ์น้ำท่วมหาดใหญ่เมื่อหลายปีก่อน ติดอยู่ 3 วัน ได้วิทยุนี้แหละ ที่ช่วยทำให้รอดมาได้ เปิดฟังข่าวจะมีทางการแจ้งจะปิดน้ำประปา เลยรีบเอากาละมัง ถังมารองน้ำเก็บไว้ใช้ มันเป็นทางรอดทางหนึ่งที่ดี และไฟฉายที่ปั่นด้วยมือควรมีติดไว้ที่บ้าน ไม่ต้องใช้ถ่าน ทุกวันนี้ก็ยังหามาเก็บไว้

ขณะที่อีกรายหนึ่งบอกว่า 3 เครื่อง วางชั้นล่าง ในครัวหลังบ้าน ที่โต๊ะกินข้าว ที่ห้องนอน ฟังช่องข่าวทั้งวัน ฟังเรื่องผีตอนนอน ใส่ถ่านก้อนใหญ่ก้อนเดียว เปิดฟังได้ 5-7 วัน

ชาวบ้านรายหนึ่ง ที่เคยมีประสบการณ์จากปัญหาน้ำท่วม บอกว่า ช่วง 2-3 วันที่วิกฤต ไม่สามารถติดต่อใครได้เลย สิ่งที่ช่วยชาวบ้านได้มาก นอกจากโทรศัพท์บ้านที่หลายหลังยังใช้กันอยู่แล้ว ก็ได้ฟังประกาศจากวิทยุทรานซิสเตอร์ แจ้งเตือนระดับน้ำ หรือหน่วยงานใดจะเข้ามาให้ความช่วยเหลือ เพราะทุกระบบสาธารณูปโภคในหมู่บ้านใช้ไม่ได้เลย

แม้วิทยุทรานซิสเตอร์สำหรับคนในโลกยุคปัจจุบัน จะถูกมองว่า เป็นเทคโนโลยีตกรุ่น และถูกมองข้ามความสำคัญ แต่รู้หรือไม่ว่า เทคโนฯ ระบบแมนนวลนี้ ยังมีประโยชน์ไม่น้อย เมื่อระบบการสื่อสารทุกประเภทถูกพิษภัยพิบัติตัดขาดอย่างสิ้นเชิง

อ่านข่าวอื่น :

แบงก์รัฐ ใจป้ำ พักหนี้ 3 เดือน “ลดดอก-พักต้น” ช่วยลูกหนี้น้ำท่วม

หาคำตอบ! สาเหตุน้ำท่วมหนัก 5 จังหวัดภาคเหนือช่วงส.ค.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง