ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

จับกระแสต่อต้านผู้อพยพ หลังเหตุผู้ลี้ภัยแทงคนตายในเยอรมนี

ต่างประเทศ
26 ส.ค. 67
20:09
1,624
Logo Thai PBS
จับกระแสต่อต้านผู้อพยพ หลังเหตุผู้ลี้ภัยแทงคนตายในเยอรมนี
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
วิกฤตผู้อพยพเป็นปัญหาใหญ่ในยุโรปมาโดยตลอด ล่าสุดเหตุไล่แทงคนแบบไม่เลือกหน้าในเทศกาลที่เยอรมนี ทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 คน ยิ่งโหมกระพือความกังวลเรื่องความปลอดภัยขึ้นมาอีกครั้ง จนท.ระบุผู้ต้องสงสัยก่อเหตุในครั้งนี้เป็นชาวซีเรียที่ขอลี้ภัยในเยอรมนี

เหตุโจมตีที่เกิดขึ้นทำให้ตอนนี้เริ่มมีเสียงเรียกร้อง ทั้งในฝั่งนักการเมืองและประชาชน ที่ต้องการให้รัฐบาลยกระดับมาตรการควบคุมผู้อพยพ

"เยอรมนี" ถือเป็นประเทศโต้โผใหญ่ของยุโรปในการรับผู้อพยพที่ลี้ภัยการสู้รบและเหตุรุนแรงจากหลายประเทศในแถบตะวันออกกลาง แต่เหตุแทงคนในเมืองโซลิงเงิน ทางตะวันตกของประเทศ กำลังจุดกระแสต่อต้านผู้อพยพให้ปะทุขึ้นมาอีกครั้ง

เหตุปะทะเกิดขึ้นหลังจากกลุ่มเยาวชนของพรรค AfD ซึ่งเป็นพรรคการเมืองฝ่ายขวาจัดที่ต่อต้านผู้อพยพ ออกมารวมตัวกันที่จัตุรัสในเมืองโซลิงเงิน พร้อมทั้งถือป้ายข้อความที่ระบุว่า คนของเราต้องมาก่อน ขณะที่ชาวเยอรมันอีกจำนวนหนึ่งออกมาเคลื่อนไหวแสดงจุดยืนต่อต้านแนวคิดขวาจัด

นอกจากนี้ กลุ่มผู้ประท้วงยังไปชุมนุมกันในบริเวณที่อยู่ใกล้กับอาคารที่ถูกใช้เป็นศูนย์พักพิงผู้ลี้ภัยด้วย หลังจากมีรายงานว่า จุดนี้เป็นที่พักของผู้ต้องสงสัยก่อเหตุไล่แทงคนในงานเทศกาลเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (23 ส.ค.2567) ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 คน และบาดเจ็บ 8 คน

ด้านอัยการ ระบุว่า ผู้ต้องสงสัยเป็นชายชาวซีเรีย วัย 26 ปี ซึ่งยอมมอบตัวและรับสารภาพกับตำรวจแล้ว โดยตอนนี้ เจ้าหน้าที่กำลังอยู่ในระหว่างการสืบสวนว่า ผู้ต้องสงสัยคนนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มรัฐอิสลาม หรือ IS หรือไม่ หลังจากกลุ่ม IS ระบุว่า ผู้ลงมือก่อเหตุเป็นนักรบของกลุ่ม

ตำรวจขณะจับกุมผู้ต้องสงสัยชายชาวซีเรียวัย 26 ปี

ตำรวจขณะจับกุมผู้ต้องสงสัยชายชาวซีเรียวัย 26 ปี

ตำรวจขณะจับกุมผู้ต้องสงสัยชายชาวซีเรียวัย 26 ปี

สื่อเยอรมนีรายงานอ้างเจ้าหน้าที่ความมั่นคงว่า ผู้ต้องสงสัยเดินทางเข้ามาขอลี้ภัยในเยอรมนีเมื่อปี 2565 ซึ่งประเด็นนี้ทำให้หลายคนหันมาสนใจถึงปัญหาผู้อพยพในประเทศเพิ่มมากขึ้น

ข้อมูลจากสำนักงานเพื่อผู้อพยพและผู้ลี้ภัย ชี้ว่า ตัวเลขผู้ขอลี้ภัยในเยอรมนีเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากไม่ถึง 200,000 คนในปี 2564 เพิ่มเป็นมากกว่า 350,000 คนในปี 2566 โดยในจำนวนนี้เกือบทั้งหมดเป็นผู้ยื่นขอลี้ภัยครั้งแรก นอกจากนี้ ตัวเลขเมื่อปีที่แล้วยังสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งเป็นยุคที่ยุโรปเผชิญคลื่นผู้อพยพระลอกใหญ่ โดยในปีนั้น มีผู้ขอลี้ภัยในเยอรมนีเพียงปีเดียวมากกว่า 720,000 คน

ถ้าแยกตัวเลขผู้ขอลี้ภัยออกเป็นรายประเทศ จะพบว่าผู้ขอลี้ภัยมากกว่า 100,000 คน หรือเกือบ 1 ใน 3 ของตัวเลขเมื่อปีที่แล้วเดินทางมาจากซีเรีย ตามมาด้วยตุรกีมากกว่า 62,000 คน และอัฟกานิสถานอีก 53,000 คน

แต่การให้สถานะผู้ลี้ภัย ส่วนใหญ่เยอรมนีมักจะพิจารณาอนุมัติให้กับผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่เผชิญกับสงคราม การสู้รบและการละเมิดสิทธิมนุษยชนก่อน ดังนั้น ผู้ขอลี้ภัยจากซีเรียและอัฟกานิสถานจึงมักจะได้รับสถานะผู้ลี้ภัย สวนทางกับตุรกีที่ยื่นขอสถานะผ่านเพียงแค่ร้อยละ 13 เท่านั้น

วิกฤตผู้อพยพถือเป็นประเด็นใหญ่ในทุกการเลือกตั้งของยุโรป และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พรรคการเมืองฝ่ายขวาจัดได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงในเยอรมนีด้วย โดยในเดือนหน้าเยอรมนีเตรียมจัดการเลือกตั้งใน 3 รัฐ ทางตะวันออกของประเทศ

แต่ถ้าไปดูผลสำรวจคะแนนนิยมของแต่ละพรรค จะเห็นว่า AfD ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายขวาจัด มีคะแนนนำทิ้งห่างคู่แข่งในรัฐ "ทือลิงเงิน" ขณะที่ผลสำรวจในบรันเดนบูร์ก ชี้ว่า AfD น่าจะคว้าชัยเหนือพรรค SPD ของนายกรัฐมนตรีโอลาฟ โชลซ์ ส่วนในแซกโซนี แม้ AfD จะมีคะแนนตามหลัง แต่นักวิเคราะห์มองว่าการเลือกตั้งในรัฐนี้ค่อนข้างสูสีกันทีเดียว

นายกรัฐมนตรีโอลาฟ โชลซ์

นายกรัฐมนตรีโอลาฟ โชลซ์

นายกรัฐมนตรีโอลาฟ โชลซ์

ชาวเยอรมันมากกว่า 4,000 คน ร่วมเดินขบวนประท้วงในเมืองเอกของรัฐทือลิงเงิน เพื่อต่อต้านกระแสแนวคิดขวาจัด ท่ามกลางความกังวลว่าพรรค AfD อาจจะคว้าชัยชนะแบบถล่มทลายในรัฐนี้

ปัจจุบัน แนวคิดขวาจัดเริ่มหยั่งรากลึกในการเมืองยุโรป อย่างการเลือกตั้งสภายุโรปเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ผู้นำฝรั่งเศสประกาศยุบสภาจนกลายเป็นวิกฤตทางการเมืองขนาดย่อย ๆ ในตอนนั้น รัฐบาลเยอรมนีเองก็ถูกตั้งคำถามเช่นกัน หลังจากพรรค AfD ได้รับคะแนนเสียงมากเป็นอันดับ 2 แซงหน้าพรรค SPD ของผู้นำเยอรมนีเสียอีก

แม้ในตอนนี้ ดูเหมือนว่ากระแสต่อต้านผู้อพยพจะยังอยู่ในวงจำกัดของกลุ่มผู้สนับสนุนพรรค AfD และผู้ที่มีแนวคิดขวาจัด แต่อย่าลืมว่าเมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว เยอรมนีเคยเผชิญหน้ากับการประท้วงต่อต้านผู้อพยพครั้งใหญ่ไม่ต่างไปจากหลาย ๆ ประเทศในยุโรป ปัญหานี้เป็นอีก 1 โจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ ก่อนหน้าการเลือกตั้งทั่วไปในปีหน้า

อ่านข่าวเพิ่ม :

ตร.เยอรมนีเร่งล่า "มือมีด" แทงตาย 3 คนกลางงานเฉลิมฉลองเมือง

"แฮร์ริส" รับตำแหน่งตัวแทน "เดโมแครต" ชิงเก้าอี้ผู้นำสหรัฐฯ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง