หลังจาก “ทีวีดิจิทัล” ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ออกอากาศในระบบดิจิทัลภาคพื้นดินมาแล้ว 10 ปี
และอีก 4 ปีข้างหน้า ใบอนุญาตทีวีดิจิทัลภาคเอกชน จะสิ้นสุดในปลายเดือนเมษายน พ.ศ.2572 กสทช.พร้อมช่องสมาชิกทีวีดิจิทัลประกอบธุรกิจ 15 ช่อง และทีวีดิจิทัลสาธารณะ 5 ช่อง จัดงาน “1 ทศวรรษทีวีดิจิทัล Beyond the Next Step” เมื่อวันที่ 28 ส.ค.2567 ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค เพื่อร่วมกันแลกเปลี่ยนความรู้ ความเข้าใจ และมองทิศทางอนาคตต่อไป ก่อนและหลังใบอนุญาตทีวีดิจิทัลภาคเอกชนจะสิ้นสุดลง
ช่วงแรกของงานมีสนทนาพิเศษ ทีวีดิจิทัล “โทรทัศน์แห่งชาติ” จาก 3 บุคคลสำคัญของวงการทีวีดิจิทัล คือ ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช., สุภาพ คลี่กระจาย นายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) และถกลเกียรติ วีรวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บมจ.เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์
การสนทนาพิเศษเริ่มต้นจาก สุภาพ คลี่กระจาย นายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) เล่าภูมิหลังของสถานการณ์ว่า จากการพูดคุยกับหลายคนในวงการมองว่า ไม่น่าจะให้มีประมูลอีกแล้ว เพราะการเปลี่ยนผ่านจากแอนะล็อก (Analog) มาดิจิทัล ในทั่วโลกไม่ประมูล ใช้วิธีเลือกคนที่มีศักยภาพเข้ามาทำ แต่ กสทช.เมื่อครั้งยุคเก่าบอกว่า เรื่องนี้ทำไม่ได้เพราะนักร้องเยอะ ดีที่สุดคือการประมูล
การประมูลที่ผ่านมา ประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้เอารายการของแต่ละช่องนำเนื้อหาไปถึงคนดูทุกบ้านโดยผ่านโครงข่าย โดยกล่อง Set-top Box ยุคแรกที่ กสทช.สั่งมาแจก แต่ปรากฏว่า กล่องที่แจกดูไม่ได้ ดูได้แค่ราว 10-20 % ผิดเงื่อนไข ประมูลแล้วไม่ได้ของ และเป็นต้นเหตุหนึ่งที่ สมาชิกทีวีดิจิทัล เรียกร้องว่าต้องเยียวยา จึงไปพบ คสช. ในที่สุด มีมาตรการเยียวยาเกิดขึ้น
สำหรับระบบต่อใบอนุญาต ถ้าจะให้ไม่มีการประมูล อันดับแรกคือ ต้องแก้กฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ เพราะกฎหมายกำหนดให้มีประมูล ขณะที่การแก้กฎหมายไม่ง่าย ระยะเวลา 3-4 ปี ถือว่าเวลาไม่เยอะ ถ้าแก้ไม่ได้ และต้องประมูลอย่างเดิม สถานการณ์จะวนกลับไปที่เดิม
สมาชิกทีวีดิจิทัล และผู้ประกอบการไม่เห็นแก่ได้ เคยหารือกับทุกภาคส่วน และมองว่า ถ้าไม่มีประมูลต่อใบอนุญาต ต้องจ่ายอย่างไรถึงเป็นธรรมกับทุกภาคส่วน อย่างน้อยคิดว่า คำตอบควรมีคร่าว ๆ
ด้าน นายถกลเกียรติ วีรวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บมจ.เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ กล่าวถึงสถานการณ์ทีวีดิจิทัล ตั้งแต่ปี 2556 ช่วงนั้นเราล้มลุกคลุกคลาน เพราะทุกอย่างเปลี่ยนไปเร็ว ตอนนั้นเป็นความฝันหวานที่แจกกล่อง สุดท้ายต้องพึ่งทีวีดาวเทียม ต้องมีกฎ “must carry” ซึ่งพอเห็นภาพชัดเจน คิดว่าใช้เวลา 4-5 ปี เพื่อให้ตั้งหลัก ประกอบกับช่วงเวลานั้น YouTube กำลังมา แต่ไม่ได้ขนาดทุกวันนี้
ปัจจุบันคิดว่า สิ่งที่ต้องพูดคือ ต้องมองความเป็นจริงและคาดการณ์อนาคต การคาดการณ์เป็นสิ่งที่น่ากลัว เพราะไม่รู้ว่าอนาคตจะเกิดอะไร แต่ต้องเตรียมการและไม่ลืมปัจจุบัน
วันนี้คนดูทีวีน้อยลง คนเปิดช่องทีวีที่เป็นโทรทัศน์น้อยลง แต่ไม่ได้แปลว่า คนดูคอนเทนต์น้อยลง ไม่ว่าข่าว หรือความบันเทิง มีให้เห็นอยู่ตามสื่อสังคมออนไลน์, OTT และสตรีมมิงต่าง ๆ แต่อย่าลืมว่า คอนเทนต์ที่ตรวจสอบได้มีอยู่แค่ในช่องทีวี อย่างอื่นตรวจสอบไม่ได้ เรารู้แต่สิ่งที่อยากรู้ แต่ไม่รู้ว่า การตรวจสอบความจริงได้คืออะไรกันแน่ ทีวีตรวจสอบได้เพราะมีเซ็นเซอร์
ความสำคัญของสิ่งนี้ยังจำเป็นอยู่มาก วันนี้เวลาทำคอนเทนต์จึงต้องหาวิธีทำคอนเทนต์ที่สามารถออกตามช่องทางต่าง ๆ ให้ได้มากที่สุด หากทำละคร ทำอย่างไรจะอยู่ในทีวี และสามารถให้คนที่ไม่ได้เปิดทีวีรับรู้ถึง อยากดู และดูย้อนหลังได้ตามช่องทางสตรีมมิง หรือโซเชียลมีเดีย
ช่องทางการเผยแพร่ในปัจจุบันและอนาคตสำคัญหมด แม้ไม่ได้ยึดติด แต่คิดว่า อย่าปล่อยทิ้ง การเปลี่ยนต้องไม่ลืมสิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบัน และค่อย ๆ ให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ
ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. ให้มุมมองว่า ผู้บริโภคมีทางเลือกหลากหลาย ทีวีเครื่องหนึ่งในยุคนี้ดูผ่านคลื่น หรือสายสัญญาณก็ได้ ดูผ่านคลื่นต้องดูตามที่ทีวีนำเสนอ ทางเลือกอะไรที่คนดูเลือก ต้องเลือกที่มีทางเลือกเยอะขึ้น และดูเมื่อไรก็ได้
เชื่อว่า “ทีวีไทย” เป็นสิ่งจำเป็น เป็นอัตลักษณ์ของชาติ เพราะฉะนั้น ยังเป็นสิ่งที่ต้องรักษาไว้
เมื่อ นพ.สรณ ถูกถามว่า การประมูลใช้เงินมหาศาล แต่เมื่อยุคหนึ่งมีคนมาทำคอนเทนต์แข่งได้ โดยไม่ต้องใช้งบมหาศาล ช่องในออนไลน์ต่าง ๆ ไม่ต้องจ่ายใบอนุญาต ต้นทุนต่ำ ทำดี และแย่งคนดูจากช่องที่ประมูลราคาแพง ในฐานะ ปธ.กสทช.มองเรื่องนี้อย่างไร
นพ.สรณ มองว่า ในบริบทของเทคโนโลยี และกฎหมาย เขาทำผิดกฎหมายหรือไม่ ถามว่า เป็นธรรมไหม ถ้าจะทำให้แฟร์ คงต้องมีกฎหมายใหม่ มีคนมาตกลงกันใหม่ มีรูปแบบของการควบคุมใหม่ ถ้าถามว่า การไปควบคุม YouTube ได้ไหม ถ้าเขาเดินออกจากประเทศไทย เราแย่ หรือเขาแย่
ช่วงท้ายของการสนทนา นายสุภาพ ยกข้อเขียนของ ปธ.กสทช. ที่เคยเขียนว่า “กสทช.ให้ความสำคัญในการเตรียมความพร้อมเรื่องใบอนุญาตที่จะหมดอายุในปี 2572 เพื่อให้การอนุญาตและกำกับดูแลกิจการโทรทัศน์ของประเทศชัดเจน ก้าวข้ามอุปสรรคปัญหาต่าง ๆ อย่างยั่งยืน” กสทช.จะทำอะไรเพื่อให้เป็นไปตามที่เขียนไว้
นพ.สรณ กล่าวว่า ทุกฝ่ายต้องมาพูดคุยกันทุกปี เทคโนโลยีเปลี่ยนทุกปี คิดว่าการเริ่มต้นคือการทำงานร่วมกัน เมื่อถึงจุดที่ใบอนุญาตใกล้สิ้นสุด เราไม่รู้ว่าเทคโนโลยีจะเปลี่ยนอย่างไรบ้าง คำถามคือ จะเปลี่ยนกฎหมายประมูลไหม เชื่อว่าต้องมาทำงานร่วมกัน และต้องดูว่ารัฐบาลเห็นด้วยกับสิ่งเหล่านี้หรือไม่ อย่างไร อะไรเป็นโมเดลธุรกิจที่รัฐบาลมองในภาพรวม
อ่านข่าว : น้ำท่วมกระทบ "ผักสด" ตลาดภาคกลางยอดซื้อเพิ่ม-ราคาขยับ