ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เช็กอาการเสี่ยง! ปศุสัตว์แม่สาย ประกาศเขตโรคพิษสุนัขบ้า

อาชญากรรม
1 ก.ย. 67
08:09
494
Logo Thai PBS
เช็กอาการเสี่ยง! ปศุสัตว์แม่สาย ประกาศเขตโรคพิษสุนัขบ้า
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เช็กอาการเสี่ยง! ปศุสัตว์แม่สาย จ.เชียงรายประกาศพื้นที่ระบาด "โรคพิษสุนัขบ้า" ท้องที่ชุมชนเกาะทราย หมู่ที่ 7 ต.แม่สาย อ.แม่สาย จ.เชียงราย ตั้งแต่ 30 ส.ค.-28 ก.ย.นี้ คนถูกกัด 25 คนสุนัขตาย 2 ตัว

วันนี้ (1 ก.ย.2567) นายโสภณ แก้วศิริ ปศุสัตว์อำเภอแม่สาย จ.เชียงราย ออกประกาศเรื่องกำหนดเขตโรคระบาดชั่วคราวโรคพิษสุนัขบ้าในสุนัขประกาศ ดังกล่าว เนื่องจากท้องที่ชุมชนเกาะทราย หมู่ 7 ต.แม่สาย จ.เชียงราย ได้มีสุนัขป่วย และตายด้วยโรคพิษสุนัขบ้า (Fabies) ซึ่งเป็นโรคระบาดตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2554

โดยมีแนวโน้มที่จะแพร่ระบาดออกไปยังท้องที่ข้างเคียง หรือระบาดเข้ามาในท้องที่ได้จากการเคลื่อนย้ายสัตว์ หรือซากสัตว์ ที่เป็นโรคระบาด หรือพาหะของโรคระบาด อาศัยอำนาจตามความใน มาตรา 20 แห่ง พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 สัตวแพทย์ประจำท้องที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย จึงออกประกาศไว้ ดังนี้

ข้อที่ 1 ให้ท้องที่ชุมชนเกาะทราย หมู่ที่ 7 ต.แม่สาย อ.แม่สาย จ.เชียงราย เป็นเขตโรคระบาดชั่วคราวโรคพิษสุนัขบ้า ในสุนัข

  • ไปทางทิศเหนือ จดประเทศเมียนมา 
  • ไปทางทิศใต้ จดบ้านป้าเหมือดสุขสำราญ หมู่ที่ 4 ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย
  • ไปทางทิศตะวันออก จดบ้านเวียงหอม หมู่ที่ 4 ต.แม่สาย อ.แม่สาย
  • ไปทางทิศตะวันตก จดประเทศเมียนมา

ข้อ 2 ห้ามมิให้ผู้ใดคลื่อนย้ายสุนัขและแมว หรือซากของสัตว์ดังกล่าวเข้าออก ผ่านหรือภายใน เขตโรคระบาดชั่วคราว เว้นแต่ใต้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากสัตว แพทย์ ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบประจำเขตนั้นทุกครั้ง ที่มีการเคลื่อนย้ายตามที่บัญ ญัติไว้ใน มาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 ตั้งแต่วันที่ 30 ส.ค. ถึงวันที่ 28 ก.ย.2567

ทั้งนี้ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 22 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม มาตรา 65 แห่ง พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558

การประกาศเขตโรคพิษสุนัขบ้า หลังจากช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาผลตรวจสุนัข 2 ตัว เป็นพิษสุนัขบ้า และมีคนถูกกัดเบื้องต้น 25 คน

ปี 2567 พบสัตว์ติดเชื้อสุนัขบ้า 182 ตัว

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 11 ก.ค.ที่ผ่านมา นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการติดตามโรคพิษสุนัขบ้าอย่างต่อเนื่อง พบรายงานสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น สุนัข โค กระบือ และแมว ติดเชื้อพิษสุนัขบ้าอย่างต่อเนื่อง 

โดยในปี 2567 (ข้อมูล 9 ก.ค.) พบสัตว์ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า 182 ตัว จากการส่งตรวจตัวอย่างทั้งหมด 3,100 ตัว กระจายตามจังหวัดต่าง ๆ ของประเทศไทยโดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

สัตว์ที่ตรวจพบเชื้อมากที่สุดคือสุนัข รองลงมาคือสัตว์เคี้ยวเอื้อง เช่น โค กระบือ คาดว่าสาเหตุของการติดเชื้อเกิดจากถูกสุนัขจรจัดกัด จึงขอเตือนประชาชนว่าโรคพิษสุนัขบ้ามีความรุนแรง เมื่อติดเชื้อและมีอาการโอกาสเสียชีวิตเกือบทุกคน

รู้จักโรคพิษสุนัขบ้า-อาการ

สาเหตุของการติดเชื้อพิษสุนัขบ้าในคนส่วนใหญ่ เกิดจากการถูกสุนัขหรือแมวกัดข่วน แล้วไม่ไปพบแพทย์ เพื่อตรวจรักษาและฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า รวมทั้งการชำแหละเนื้อสัตว์ หรือบริโภคเนื้อดิบ ก็สามารถติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าได้หากรับประทานหรือสัมผัสถูกบาดแผลหรือเยื่อบุช่องปาก

ดังนั้นหากถูกสุนัข แมว หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่สงสัยว่าเป็นโรคกัด ข่วน เลีย น้ำลายหรือเลือดกระเด็นเข้าทางตา ปาก หรือผิวหนังที่มีบาดแผล แม้เพียงเล็กน้อย ต้องล้างแผลทันทีด้วยน้ำและฟอกสบู่หลายๆ ครั้ง เช็ดแผลให้แห้ง ใส่ยาฆ่าเชื้อโพวีโดนไอโอดีน หรือทิงเจอร์ไอโอดีน จากนั้นรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

ต้องฉีดต่อเนื่องจนครบโดส และควรไปพบแพทย์เพื่อติดตามอาการตามนัดทุกครั้ง หากได้รับเชื้อแต่ไม่ไปฉีดวัคซีน เมื่อมีอาการแสดงปรากฏจะไม่มีทางรักษาให้หายได้

นพ.อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้าจะมีอาการเบื่ออาหาร เจ็บคอ ปวดเมื่อย มีไข้ อ่อนเพลีย ชา เจ็บ เสียว หรือปวดบริเวณรอยแผลที่ถูกกัด คันอย่างรุนแรงบริเวณบาดแผล

ต่อมาจะมีอาการกระสับกระส่าย ไวต่อเสียงดัง เพ้อ กลัวแสง กลัวลม กลัวน้ำ กลืนลำบาก แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก ชัก เกร็ง เป็นอัมพาต หมดสติ และเสียชีวิตในที่สุด

สังเกตพฤติกรรมหมา-แมวเสี่ยง

ข้อปฏิบัติสำคัญสำหรับเจ้าของสัตว์เลี้ยง ได้แก่ การนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเมื่ออายุ 2-3 เดือนขึ้นไป อย่างน้อย 2 ครั้ง และฉีดวัคซีนกระตุ้นซ้ำเป็นประจำทุกปี

หากพบเห็นสัตว์ที่สงสัยว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้า เช่น พฤติกรรมเปลี่ยนไป ดุร้าย เดินเซ น้ำลายย้อย ลิ้นห้อย ตาขวาง รวมถึงสัตว์ที่ตายโดยไม่ทราบสาเหตุ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ หรือผู้นำชุมชนทันที เพื่อเฝ้าระวังสัตว์เป็นโรค และติดตามผู้สัมผัสสัตว์ให้ไปรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า หลังสัมผัสโรค

นอกจากนี้ ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในแก้ปัญหาได้ ด้วยการนำสัตว์เลี้ยงไปขึ้นทะเบียนสัตว์ และไม่ทอดทิ้งสัตว์ให้เป็นสัตว์ที่ไม่มีเจ้าของ

เนื่องจากโรคนี้มีระยะฟักตัวนานถึง 3 เดือน บางรายอาจเป็นปี จึงจะแสดงอาการป่วย ซึ่งเมื่อมีอาการปรากฏจะไม่มีทางรักษาและเสียชีวิตทุกราย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการดูแลรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสมโดยเร็ว

อ่านข่าว : ประวัติศาสตร์ วิ่งผลัด 4 X100 ม.ชายคว้าทองแดงกรีฑาเยาวชนโลก

เปิดหีบเลือกตั้ง "นายก อบจ.ราชบุรี คาดรู้ผล 2 ทุ่ม

วงจรปิดบันทึกเหตุชาย 18 ปีถูก 3 สุนัขอเมริกันบุลลีขย้ำตาย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง