ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

นักสันติวิธีชี้เปิดสานเสวนาปรองดอง

การเมือง
19 ก.ย. 54
08:18
15
Logo Thai PBS
นักสันติวิธีชี้เปิดสานเสวนาปรองดอง

คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาตินำผู้เชี่ยวชาญพบปะขอข้อมูลจากอดีตนายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี และประธานรัฐสภา เพื่อให้การสร้างบรรยากาศการปรองดองแห่งชาติเกิดขึ้นโดยเร็ว หลังยื่นข้อสรุป 7 ข้อให้รัฐบาลไปแล้ว และมีเนื้อหาที่สอดคล้องกับแถลงการณ์ของคณะนิติราษฎร์ โดยเฉพาะการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน ปี 2549

เมื่อเทียบเคียงข้อสรุปของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ หรือ คอป. 7 ข้อ และแถลงการณ์ของคณะนิติราษฎร์ 4 ข้อแล้ว นายโคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล เสนอแนะให้มีการเปิดเวทีระดมความเห็นและแลกเปลี่ยนมุมมองกันอย่างกว้างขวาง หรือเรียกได้ว่า เวทีสานเสวนาแห่งชาติ เพื่อความปรองดอง ก่อนนำไปสู่การปฏิบัติ เพราะในบางประเด็นเห็นว่าไม่ควรหยิบยกมาดำเนินการในทันที อาทิ การแก้รัฐธรรมนูญ ปี 2550 ทั้งฉบับ, การยกเลิกผลพวงต่างๆ หลังเหตุรัฐประหารเมื่อ 5 ปีก่อนและการแก้กฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งเกี่ยวข้องกับสถาบันของชาติ แต่ยอมรับว่า เรื่องของการเยียวยา ชดเชยและฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุชุมนุมทางการเมืองนั้น สามารถดำเนินการได้ทันที

ขณะที่ช่วงบ่ายวันนี้ คอป. นำโดยนายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะคณะกรรมการ คอป. จะนำนายพริสซิลล่า เฮเนอร์ นักเขียนอิสระ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านคณะกรรมการค้นหาความจริง และความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน พบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะ ก่อนนำมาวิเคราะห์ปัญหา หลังจากนั้นจะเข้าพบนายกรัฐมนตรี และประธานรัฐสภาเช่นกัน

ข้อสรุปของ คอป.ประกอบไปด้วยการให้คำแนะต่อรัฐบาลเพื่อลดความขัดแย้ง คือการเดินหน้าดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมและย้ำให้รัฐบาลควบคุมการใช้อำนาจ เพื่อไม่ให้กระทบต่อการสร้างความปรองดอง และเห็นว่าทุกฝ่ายควรยุติการกล่าวอ้างสถาบันพร้อมกับการทบทวนข้อกล่าวหาในคดีหมิ่นสถาบัน เพราะบางคดีเกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมือง ทั้งนี้สนับสนุนให้ปล่อยตัวชั่วคราวและตั้งคณะกรรมการพิเศษ เพื่อดูแลเยียวยาชดเชยและฟื้นฟู รวมถึงการเปิดเวทีแลกเปลี่ยนและทำความเข้าใจในปัญหาร่วมกัน
 
สำหรับแถลงการณ์ของคณะนิติราษฎร์ เพื่อความปรองดองแห่งชาติ ก็มีลักษณะที่สอดคล้องกัน คือ ให้ลบล้างผลพวงจากเหตุรัฐประหาร หรือวันที่ 19 กันยายน ปี 2549 โดยเฉพาะการตั้งคณะกรรมการพิเศษขึ้นมาเยียวยาชดเชยและฟื้นฟู รวมถึงคำวินิจฉัยคดีต่าง ๆ ซึ่งมีที่มาจากคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ หรือ คตส. พร้อมกับเสนอให้แก้ไข มาตรา 112 ในกฎหมายอาญาและการแก้รัฐธรรมนูญ ปี 2550 ซึ่งขัดต่ออุดมการณ์ประชาธิปไตย รวมถึงการปฏิรูปกฎหมายเพื่อสร้างกระบวนการยุติธรรม


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง