โฆษณาชวนเชื่อให้ผ่อนบัตรคอนเสิร์ต ในอัตรา 0% นาน 10 เดือน หรือการจูงใจให้ผ่อนสินค้าแบรนด์เนมผ่านแอปพลิเคชัน ไลน์ เฟซบุ๊ก อินสตราแกรม ล้วนสะท้อนการใช้จ่ายของประชาชนบางส่วนในยุคปัจจุบันที่นิยมใช้จ่ายเกินรายได้ ส่งผลให้ต้องใช้เงินในอนาคต กลายเป็นปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงและอาจก่อให้เกิดหนี้เสียในที่สุด
ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ข้อมูลสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งทำงานวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมของคนในสังคมไทยยุคใหม่ พบว่า คนไทย 1 ใน 3 มีพฤติกรรมติดหรู โดยเฉพาะการบริโภคตลาดกลุ่มสินค้าหรูหราเติบโตมากขึ้น เนื่องจากประชาชนต้องการให้รางวัลชีวิต การเฉลิมฉลอง หรือการอวดกันในโซเชียลมีเดีย
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเผยในรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 2 ปี 2567 พบว่า การใช้จ่ายของประชาชนโดยเฉพาะตัวบุคคลที่ขาดความยับยั้งชั่งใจในการซื้อสินค้า โดยไม่คำนึงถึงรายรับของตนเอง รวมถึงปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่สามารถซื้อสินค้าในช่องทางโซเชียลมีเดีย แบบผ่อนไปใช้ไปและการผ่อนครบรับของ ซึ่งเอื้อให้เกิดการใช้จ่ายเกินตัว นำไปสู่การก่อหนี้ได้ง่ายขึ้น
รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 2 ปี 2567 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ยังพบว่า ภาระหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจอยู่ในระดับสูง โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ในโตรมาส 1 ปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 2.5 คิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP อยู่ที่ร้อยละ 90.8
ขณะที่หนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL ของธนาคารพาณิชย์ เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 163,000 ล้านบาท โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อบัตรเครดิตที่มีหนี้เสียและมีหนี้ค้างชำระ 1-3 เดือนเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในไตรมาสที่ 1 ปี 2567 ที่ร้อยละ 4.13
อ่านข่าว
"Spot Check" ช่องโหว่ส่วยทางหลวง