การลงพื้นที่เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ ของ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะ เมื่อวันก่อนถือว่าเป็นเรื่องปกติ ในฐานะรัฐมนตรีที่ได้รับโปรดเกล้าฯแล้ว เพราะเรื่องน้ำท่วมถือเป็นเรื่องใหญ่ต้องช่วยเหลือเยียวยาผู้เดือดร้อน และเพื่อหาทางป้องกันเนื่องจากเขื่อนเจ้าพระยาต้องรับน้ำเหนือ และบริหารจัดการระบายน้ำลงสู่ใต้เขื่อน ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มภาคกลาง และจะมีผลถึงกรุงเทพฯ
คณะที่ร่วมเดินทางมีทั้งรัฐมนตรีช่วยฯ 2 คน นายอัครา พรหมเผ่า และนายอิทธิ ศิริลัทยากร พร้อมลูกชาย นายอรรถกร ศิริลัทธยากร และที่ไม่พลาดร่วมคณะไปด้วย คือ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตรัฐมนตรีเกษตรฯ และเป็นหัวหน้ากลุ่ม สส.20 คน จากพรรคพลังประชารัฐอีกขั้วหนึ่ง ที่ยังสนับสนุนรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร แม้เป็นการฝืนมติของกรรมการบริหารพรรค ทางการเมืองเรียกจะ “กบฎในพรรค” หรือจะถูกเรียกว่าเป็น “สส.งูเห่า” ในยุคปัจจุบัน
การไปร่วมคณะของ ร.อ.ธรรมนัส ไม่น่าจะผิดปกติแต่อย่างใด แต่ที่เป็นประเด็นร้อน เพราะเกิดศึกวิวาทะผ่านสื่อกับ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี ที่โพสต์ข้อความเตือน ร.อ.ธรรมนัส ไม่เคารพกฎหมายและรัฐธรรมนูญ มาตรา 185 ที่กำหนด ห้าม สส.และ สว.เข้าไปแทรกแซงข้าราชการ เพราะการลงพื้นที่ไป มีข้าราชการมารอต้อนรับ ทำกันในพื้นที่สาธารณะ เป็นที่รู้เห็นโดยทั่วไป
ประเด็นสำคัญ นพ.วรงค์ได้โพสต์ภาพประกอบระหว่างนั่งประชุมหารือกันในห้องของสำนักชลประทานที่ 12 เป็นภาพ ร.อ.ธรรมนัส นั่งตรงกลาง ซึ่งหมายถึงตำแหน่งประธานการประชุม ขนาบข้างด้วย นางนฤมล กับนายอิทธิ โดยมีนายอัครา นั่งถัดจาก นางนฤมลสอดรับกับที่ นพ.วรงค์ระบุว่า เป็นภาพสะท้อนว่า มีคนใหญ่กว่ารัฐมนตรีในกระทรวงนี้
จึงเป็นที่มาของการตอบโต้แบบจัดหนักจาก ร.อ.ธรรมนัส ยืนยันรู้ข้อกฎหมายดี แต่ความจริง รัฐมนตรีทั้ง 3 คน น่าจะเป็นคนติดตามตนลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานการณ์น้ำท่วมมากกว่า
โดยย้ำว่า รัฐมนตรีใหม่ยังไม่สามารถสั่งการอะไรได้ เพราะทำหน้าที่ยังไม่ได้ จนกว่านายกฯ จะแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเสร็จ ทั้งยังซัดกลับว่า เป็นพวกสวะสังคม และท้าทาย ใครหนักมาพร้อมสวนกลับ ตามสไตล์ของ ร.อ.ธรรมนัส
แต่ข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้และยังไม่มีใครพูด คือ นางนฤมล รัฐมนตรีเกษตรฯ ที่รอทำหน้าที่อย่างเป็นทางการ ยังไม่ได้ลงนามหรือสามารถลงนามแต่งตั้งใครมีตำแหน่งที่ปรึกษาหรือประธานที่ปรึกษา หรือตำแหน่งทางการเมืองใดที่เป็นทางการใด ๆ ต้องรอให้เข้าทำหน้าที่อย่างเป็นทางการเสียก่อน
แม้ ร.อ.ธรรมนัส จะเคยเป็นรัฐมนตรีเกษตรฯ มีอำนาจบริหารสั่งการเต็มที่ในฐานะรัฐมนตรี และล่าสุดเป็นรักษาการ รมว.เกษตรฯ แต่เป็นตำแหน่งในอดีต เพราะครม.ใหม่ได้รับโปรดเกล้าฯ แล้ว โดยมารยาทและความเหมาะสม ควรต้องให้รัฐมนตรีคนใหม่สั่งการ หาไม่แล้วจะเป็นรัฐมนตรีซ้อนรัฐมนตรี
ในสถานการณ์ที่ ร.อ.ธรรมนัส บอกว่า สงครามน้ำกำลังเข้าตีเมืองจะแตกอยู่แล้ว แต่ในทางปฏิบัติ หากไปในฐานะหนึ่งในคณะของรัฐมนตรี คงไม่กลายเป็นประเด็นร้อน หมายถึงไม่ต้องทำตัวเด่นเหมือนเป็นรัฐมนตรีเสียเอง
หลีกเลี่ยงไม่นั่งตรงกลาง แม้เจ้าหน้าที่และข้าราชการจัดเตรียมสถานที่ อาจวางตำแหน่งที่นั่งเอาไว้ให้ แต่สามารถปฏิเสธและชี้แจงให้เข้าใจได้ หรือแม้แต่เรื่องเดินนำหน้าคณะของ ร.อ.ธรรมนัส แทนที่จะเป็น นางนฤมลก็สามารถเลี่ยงได้ ให้รัฐมนตรีว่าการคนใหม่เดินนำหน้าหน้าแทน จะเป็นภาพที่ดูดีมากกว่า
เพราะการลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสพภัยน้ำท่วม เป็นเรื่องปกติของ ร.อ.ธรรมนัส แม้แต่เมื่อครั้งถูก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปรับออกจาก ครม.หลังอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเดือน ก.ย.2564
ร.อ.ธรรมนัส ในฐานะประธานมูลนิธิธรรมนัส พรหมเผ่า เพื่อการกุศล ลงลุยพื้นที่น้ำท่วมช่วยผู้ประสบภัย แจกถุงยังชีพ ถามไถ่สาระทุกข์สุขดิบด้วยตัวเองในหลายพื้นที่ รวมทั้งที่พระนครศรีอยุธยา ช่วงต้นเดือนตุลาคม ปี 2564 ฉะนั้น ในช่วงที่ไม่มีตำแหน่งทางการเมืองแล้ว ก็น่าจะทำได้เหมือนในอดีต
ในเมื่อการทำตัวใหญ่กว่ารัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม และน่าจะรู้ว่าจะถูกจับตา หรือตกเป็นเป็นเป้าของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย หรือไม่สนับสนุนรัฐบาล น.ส.แพทองธารอยู่ก่อนแล้ว เพราะเพียง “นายใหญ่” คนเดียว ก็ถูกวิพากษ์เปรียบเปรยเป็นการครอบงำแทรกแซงนายกฯและรัฐบาลชุดใหม่ จนขาดความเป็นอิสระอย่างที่ควรจะมี มากพออยู่แล้ว
จึงไม่ควรจะมี “คนใหญ่” จากกลุ่มไหน แสดงสถานะที่มีความหมายเหนือกว่า หรือสำคัญกว่า เป็นการเพิ่มเติมความรู้สึกและทำลายความเชื่อมั่นที่ประชาชนทั่วไป จะมีต่อผู้นำและรัฐบาลใหม่
มิหนำซ้ำ เรื่องจะยืดเยื้อถูกขยายผลไปถึงศาล ดังที่ นพ.วรงค์ ออกโรงมาท้าทายล่าสุด
ศักยภาพและฝีมือของ นพ.วรงค์มีมากน้อยแค่ไหน ลองไปถาม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับโครงการจำนำข้าวและระบายข้าวแบบจีทูจี ดูก็ได้
วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา บรรณาธิการอาวุโส
อ่านข่าว : ป.ป.ช.รับลูกจนท.รัฐผิด ม.157 คดีเฮียเก้าหมูเถื่อน
ที่นอน 5 ฟุตขวางทาง! เขื่อนเจ้าพระยาเร่งพร่องน้ำรับมือ "ยางิ"