เมื่อวันที่ 12 ก.ย.2567 ชาวบ้านในเมืองตองอู ภูมิภาคพะโคของเมียนมา ใช้ชีวิตท่ามกลางกระแสน้ำท่วม ที่หลากมาจากแม่น้ำสะโตง หลังได้รับผลกระทบจากอิทธิพลของพายุยางิซึ่งพัดขึ้นฝั่งเวียดนามวันเสาร์ที่แล้ว (7 ก.ย.) ก่อนจะเคลื่อนตัวลึกเข้ามาในคาบสมุทรและกลายเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำที่ทำให้เกิดฝนตกหนักทั่วภูมิภาค
ประชาชนจำนวนมากต้องต่อแถวรอรับความช่วยเหลือ โดยเฉพาะอาหารและสิ่งของจำเป็น ขณะที่โรงเรียนแปรสภาพเป็นที่พักพิงให้ประชาชนที่ต้องอพยพออกจากบ้านเรือนที่ถูกน้ำท่วม โดยมีคนเข้าไปอาศัยในโรงเรียนประมาณ 600 คน เมืองตองอูอยู่ห่างจากย่างกุ้งประมาณ 220 กม. ซึ่งผู้สูงอายุในพื้นที่ให้สัมภาษณ์สื่อว่า ครั้งนี้น้ำท่วมรุนแรงที่สุด มากกว่าที่เคยเจอมาครั้งไหน ๆ
กระทรวงสวัสดิการสังคมเมียนมาระบุว่าเปิดค่ายรองรับผู้ประสบภัยราว 50 แห่ง รองรับได้ 70,000 คน ขณะที่รถไฟเชื่อมระหว่างย่างกุ้งกับมัณฑะเลย์ต้องระงับบริการเพราะรางบางส่วนถูกน้ำท่วม
หน่วยดับเพลิงแห่งชาติเมียนมา รายงานผู้เสียชีวิตจากพายุยางิ พบแล้วอย่างน้อย 17 คน ที่หมู่บ้านซึ่งถูกน้ำท่วมในมัณฑะเลย์ ซึ่งประชาชนมากกว่า 50,000 คนต้องละทิ้งบ้านเรือนไปยังที่ปลอดภัย
สถานีโทรทัศน์ซีซีทีวีของจีนเผยภาพน้ำท่วมกินพื้นที่เป็นวงกว้างในนครหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของประเทศ หลังอิทธิของพายุยางิทำให้ฝนตกหนักจนระดับน้ำในแม่น้ำเพิ่งสูงเอ่อล้นตลิ่งไหลทะลักท่วมต้นไม้บ้านและอาคารบ้านเรือนหลายแห่ง
นอกจากนี้ยังส่งผลให้เกิด เหตุดินถล่มทำให้การจราจรต้องหยุดชะงัก ด้านเจ้าหน้าที่ต้องระดมกำลังเข้าเก็บกวาดความเสียหายเพื่อเปิดทางโดยเร็วที่สุด ขณะที่เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (11 ก.ย.) ทางการนครหนานหนิงยกระดับการรับมือภัยพิบัติน้ำท่วมเป็นระดับรองสูงสุดแล้ว
"ยางิ" ถล่มเวียดนามเสียชีวิตทะลุ 220 คน
ส่วนชาวเวียดนามใน จ.ท้ายเงวียน ทยอยเดินทางกลับเข้าบ้านพัก เพื่อสำรวจความเสียหาย พร้อมทั้งเก็บกวาดและทำความสะอาดบ้านเรือน หลังจากระดับน้ำในพื้นที่ค่อย ๆ ลดลง ซึ่งชาวบ้านบางคน ระบุว่า เฟอร์นิเจอร์ในบ้านได้รับความเสียหายทั้งหมด ขณะที่เสื้อผ้าและข้าวของส่วนใหญ่ถูกพัดไปกับกระแสน้ำ
ทางการเวียดนามเปิดเผยยอดผู้เสียชีวิตจากภัยพิบัติในครั้งนี้ ซึ่งล่าสุดเพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 226 คนแล้ว ยังคงมีผู้สูญหายมากกว่า 100 คน และบาดเจ็บอีกไม่ต่ำกว่า 800 คน
พายุลูกนี้ถือเป็นพายุที่รุนแรงที่สุดที่พัดลถล่มพื้นที่ทางตอนเหนือของเวียดนามในรอบ 30 ปี ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมและดินถล่มเป็นวงกว้าง และกระทบกับพื้นที่ทางการเกษตรมากกว่า 1,200,000 ไร่ ขณะที่สัตว์ปศุสัตว์ล้มตายไปแล้วมากกว่า 1,500,000 ตัว
ผู้เชี่ยวชาญเตือนเฝ้าระวังอนาคตไต้ฝุ่นรุนแรง
จากความเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้นทั่วภูมิภาค Nadia Bloemendall นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศ ระบุว่า ผู้เชี่ยวชาญจาก World Weather Attribution ซึ่งเป็นความร่วมมือด้านสภาพภูมิอากาศนานาชาติ มองว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีผลอย่างมีนัยสำคัญต่อปริมาณฝนของ "ไต้ฝุ่นแกมี" เวลานี้ยังไม่ได้ศึกษาไต้ฝุ่นยางิ ปริมาณฝนที่ตกหนักตรงกับรูปแบบที่พบก่อนหน้านี้ คือ ไต้ฝุ่น ไซโคลน และพายุหมุนเขตร้อนต่าง ๆ มีความชื้นมากขึ้น จึงทำให้ฝนตกมากขึ้นเมื่อเคลื่อนตัวขึ้นฝั่ง
เป็นไปตามหลักอุตุนิยมวิทยา คือ อากาศที่อุ่นขึ้นจะกักเก็บความชื้นได้มากขึ้น ดังนั้นเมื่อบรรยากาศอุ่นขึ้น ตัวไต้ฝุ่นเองก็จะมีความชื้นมากขึ้นด้วย จึงทำให้ฝนตกมากขึ้นเมื่อขึ้นฝั่ง อย่างไต้ฝุ่นยางิ ที่ทำให้ฝนตกเกิน 400 มิลลิเมตร ในอนาคตมีแนวโน้มว่าเราจะได้เห็นปริมาณฝนในระดับนี้บ่อยครั้งขึ้น
อ่านข่าวอื่น :
สภาพอากาศวันนี้ พิกัด 19 จว.อีสาน รับมือฝนตกหนักถึงหนักมาก
น้ำท่วมเชียงราย หลายพื้นที่ยังหนัก ดินสไลด์ทับบ้าน เด็กตาย 1 คน